3 ขั้นตอนรับมือ “เคล็ดลับสุขภาพลวง” ออนไลน์กับ “รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์”
เราต่างอยากให้คนที่เรารักมีสุขภาพดี เทคโนโลยียิ่งช่วยให้ง่ายขึ้นเมื่อข้อมูลเคล็ดลับสุขภาพมากมายถูกส่งต่อกันในโลกออนไลน์ได้รวดเร็วเพียงพริบตา มันง่ายดายที่เราจะส่งต่อข้อมูลที่คิดว่าดี เหล่านั้นให้คนที่เรารัก
แต่คำถามสำคัญคือ ข้อมูลเหล่านั้นดีจริงหรือ
“ไม้หนีบผ้า เพียงนำมาหนีบหูตามตำแหน่งต่าง ๆ ก็สามารถรักษาโรคอาการปวดหลัง ปวดข้อ ปวดตามร่างกายจนถึงอาการไซนัสได้อย่างไม่น่าเชื่อ”
“แช่เท้าในน้ำยาบ้วนปากเพียงวันละครึ่งชั่วโมงทุกวันสามารถแก้เหน็บชาได้อย่างไม่น่าเชื่อ”
หากใช้สามัญสำนึกอย่างนักวิทย์ ข้อความเหล่านี้ก็ไม่น่าเชื่อจริง ๆ ทว่าหากข้อมูลเหล่านั้นถูกส่งต่อมาจากเพื่อนที่เรานับถือ ญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพ กระทั่งจากผู้มีอาวุโสสูงกว่าเรา หรือจากแอดมินของไลน์สำหรับคนรักสุขภาพ เรื่องเหลือเชื่อหลายครั้งกลับกลายเป็นเรื่องน่าเชื่อถือขึ้นมา และยิ่งถูกส่งต่อกันไปในวงกว้างในท้ายที่สุด แม้บางเรื่องอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ส่งผลเสีย แต่หลายเรื่องก็ส่งผลร้ายแรงจนเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยได้
ต่อไปนี้คือ 3 ขั้นตอนรับมือกับเคล็ดลับสุขภาพลวงบนโลกออนไลน์จาก “รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์ผู้ศรัทธาในการโต้แย้งด้วยหลักฐาน ถกเถียงด้วยเหตุผลเพราะวิทยาศาสตร์คือความรู้ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
เช็ก – จากสามัญสำนึก
เมื่อได้รับรู้ข้อมูลแปลกใหม่บางอย่างที่น่าตกใจ สิ่งแรกที่ควรทำคือการตรวจสอบข้อมูลโดยในมุมมองของอาจารย์เจษฎา ขั้นตอนแรกที่สุดแสนจะเรียบง่ายก็คือ ตรวจสอบโดยใช้สามัญสำนึกของตนเอง
“ส่วนใหญ่กระบวนการในการตรวจสอบเรื่องพวกนี้ง่ายที่สุดเลยคือเราใช้สามัญสำนึก พออ่านปุ๊บเราพบความผิดปกติอะไรหรือไม่”
ตัวอย่างเช่น ห้ามกินน้ำเย็น กินแล้วอันตรายจะส่งผลให้ไขมันในร่างกายแข็งตัว ข้อความส่งมาพร้อมคลิปเอาน้ำเย็นเทใส่ไขมันแล้วเกิดแข็งตัว หากอ่านเพียงผ่าน ๆ ก็ดูเหมือนจะมีหลักฐานยืนยันน่าเชื่อถือดี เราอาจแชร์ส่งต่ออย่างรวดเร็วด้วยความรู้สึกห่วงใยคนที่เรารัก แต่หากคิดให้ดีแล้วมันเป็นอย่างนั้นแน่หรือ ?
“หากข้อมูลอ้างว่าเป็นข้อมูลจาก อาจารย์ท่านหนึ่ง แพทย์ท่านหนึ่ง นักวิชาการท่านหนึ่ง คนก็ยิ่งเชื่อทั้งที่อาจจะอุปโลกน์ขึ้นมาก็ได้” อาจารย์เจษฏากล่าวเสริม “แต่สามัญสำนึกจะตั้งคำถามแย้งขึ้นว่า ถ้าน้ำเย็นไม่ดีแล้วคนอีกครึ่งโลกที่อยู่ประเทศเขตหนาวเขากินน้ำเย็นทุกวันมันไม่ตายกันหมดแล้วเหรอ? นี่คือสามัญสำนึกง่าย ๆ ที่กระตุ้นให้เราคิดไปสู่ขั้นตอนต่อไปได้”
ชัวร์ – ด้วยแหล่งข้อมูลที่รอบด้าน
หากการเช็กข้อมูลด้วยสามัญสำนึกยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ การยืนยันด้วยข้อมูลที่รอบด้านจะช่วยทำให้ “ชัวร์” ยิ่งขึ้น ในโลกออนไลน์เป็นเรื่องง่ายดายที่จะหาข้อมูลแต่ก็ง่ายดายเช่นกันที่คุณจะเข้าไปติดกับดักของข้อมูลเท็จ
“เราอยู่ในยุคที่ค้นหาข้อมูลกันได้ง่ายมาก” อาจารย์เจษฎากล่าว “เสิร์ชกูเกิ้ลไปก็ขึ้นแล้ว อย่างกรณีสมุนไพร “อังกาบหนู” ถ้าคุณหาแต่คำว่าอังกาบหนู คุณก็จะได้แต่ข้อมูลด้านที่บอกว่าอังกาบหนูรักษามะเร็ง คนใช้แล้วดี แต่เพียงคุณใส่คีย์เวิร์ดเพิ่มเข้าไป อังกาบหนู เตือนภัย อังกาบหนู อันตราย คุณก็จะได้ชุดคำตอบอีกชุดเลย”
เพียงแค่ใส่คีย์เวิร์ดที่เหมาะสม เราก็สามารถหาข้อมูลพวกนี้ได้ โลกอินเทอร์เน็ตข้อมูลมีอยู่มากมาย เพียงแต่คุณเฟ้นหาคำตอบที่น่าเชื่อถือได้หรือเปล่าจากข้อมูลมากมายเหล่านั้น
ถึงวันนี้หลังกระแสโซเชียลมีเดียก่อให้เกิดปรากฎการณ์ข่าวลวง ข้อมูลเท็จถูกสร้างขึ้นได้อย่างง่ายดาย และแชร์ส่งต่อกัน หน่วยงานตรวจสอบข้อมูลจึงเกิดขึ้น และเป็นอีกตัวช่วยเช็กข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ของช่อง 9 อสมท. https://www.facebook.com/SureAndShare/ เว็บไซต์ของอย. รวมถึงเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เหล่านี้เป็นอีกช่องทางในการตรวจสอบข้อมูล
แชร์ – เมื่อข้อมูลถูกต้องเท่านั้น
เมื่อแน่ใจว่าข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่ถูกต้องแล้ว นอกจากแชร์ส่งต่อ หากพบข้อมูลที่เป็นเท็จ การเข้าไปแย้ง เข้าไปให้ข้อมูลจริงก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาข่าวลวงแพร่ในโลกออนไลน์ได้
หลังทำงานสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์มาหลายปี ตอบข้อสงสัย โต้เคล็ดลวงสุขภาพเท็จ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พบว่าสังคมไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในการรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ
“เมื่อ 5 ปีที่แล้วตอนเปิดเพจใหม่ ๆ ผมแทบจะต้องโพสต์ตอบคำถาม โต้ข้อมูลเท็จทุกวัน เรื่องเล็กเรื่องน้อยอะไรก็ต้องเข้าไปตอบเยอะมาก แต่ปัจจุบันผมว่าหลายๆ เรื่องก็หายไปจากวงการ มะนาวโซดารักษามะเร็งก็หายไปแล้ว ความถี่ของการเข้ามาถามมันลดน้อยลงจากทุกวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์ละครั้งเป็นเดือนละครั้ง มันลดลงเรื่อย ๆ แสดงว่าสถานการณ์มันดีขึ้น มีคนที่เข้ามาทำลักษณะของเพจข้อมูลที่ช่วยเช็กมากขึ้น มีคนที่เข้ามาช่วยตอบช่วยแก้ สมมติมีคนโพสต์อะไรสักอย่างนึง เราไม่ต้องไปแคปมาตอบเองแล้ว เพราะมีคนเข้าไปแย้งเรียบร้อยแล้ว”
ความรู้ความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับสุขภาพอาจนำมาซึ่งความเจ็บป่วย สาเหตุสำคัญที่ทำให้ข้อมูลผิด ๆ ยังคงแพร่กระจายออกไป และยังถูกเชื่อกันมากขึ้นในความเห็นของอาจารย์เจษฎาก็คือ กำแพงความเชื่อของคนไทย
“กำแพงหลัก ๆ มันกลับกลายเป็นความเชื่อของมนุษย์น่ะครับ ลองนึกภาพการแชร์ข้อมูลผ่านทางไลน์ซึ่งมักเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ใช้ ถ้าเราสงสัยว่าเรื่องเหล่านี้ไม่จริง เรากล้าเถียงคุณพ่อมั้ย เรากล้าเถียงคุณปู่มั้ย หรือกล้าเถียงคุณน้ามั้ย สังคมไทยค่อนข้างเป็นสังคมที่ถืออาวุโสมาก ๆ สิ่งนี้เหมือนกำแพงใหญ่ ถ้าเราทำลายตรงนี้ได้เราจะมองโลกด้วยตรรกะของวิทยาศาสตร์มากขึ้น มันจะไม่มีกรอบในการบอกว่า นี่คือผู้ใหญ่กว่า นี่คืออาวุโสกว่า เพราะคอนเซ็ปต์ของวิทยาศาสตร์คือคุณสามารถจะโต้แย้งได้”
หลักคิดแบบวิทยาศาสตร์ในการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์กับการรักษาถือเป็นสิ่งจำเป็นในมุมมองของอาจารย์เจษฎา เพราะข้อมูลสมัยใหม่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
“มันมีความจำเป็นครับ เพราะจริง ๆ โรงเรียนแพทย์เองก็มีการเทรนด์นักศึกษาแพทย์ออกมาด้วยกระบวนการที่ถ่ายทอดตาม ๆ กันมา แต่หลาย ๆ เรื่องเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ ข้อมูลสมัยใหม่มันเกิดขึ้นได้ กระทั่งนักเรียนแพทย์เรียนจากคุณครู อาจารย์หมอบอกว่าเป็นอย่างนี้ เขาก็เชื่อมาและรักษาต่อ ๆ กันมา ใช้ยาตัวนี้สิ ต่อ ๆ กันมา บางครั้งมันมีการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างที่ว่าจริง ๆ แล้วค่าตัวนี้ ยาตัวนี้ วิธีการรักษานี้จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหรือเปล่าให้เหมาะกับคนไข้แต่ละคน”
วิธีคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยให้สังคมไทยพัฒนาขึ้น งานการสื่อสารวิทยศาสตร์ของอาจารย์เจษฎาจึงเป็นส่วนหนึ่งเพื่อทำให้คนในสังคมมีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์มากขึ้นและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างการไปพบแพทย์ได้อีกด้วย
“เราอยู่ในโลกที่เราหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น การเช็กข้อมูลสักหน่วยว่าโรคนี้มันจะเป็นอะไร อาการประมาณนี้มันเกิดจากอะไรหรือเปล่า เวลาเจอกับคุณหมอก็จะได้คุยกันง่ายขึ้น เพราะแทนที่คุณหมอจะให้ข้อมูลด้านเดียว เราก็สามารถที่จะซักถามได้ บางอย่างเราอาจจะไม่เข้าใจ คุณหมอก็ให้คำตอบ และเราก็สามารถแลกเปลี่ยนกับคุณหมอได้”
สำหรับการนำข้อมูลมาใช้ในการรักษา และลดการใช้ความเชื่อนั้น สำหรับผู้อ่านที่สนใจสามารถติดตามหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” ได้ทางร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปได้แล้ววันนี้ หรืออ่านเนื้อหาได้ฟรีทางเว็บไซต์ www.testingtreatments.org ได้เร็ว ๆ นี้ รู้จักหนังสือ Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย สามารถอ่านได้ที่นี่ https://www.hitap.net/172314