logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
สาระน่ารู้เกี่ยวกับเลนส์แก้วตาเทียม

ดวงตาก็เหมือนอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายคนเราที่ต้องเสื่อมไปตามสังขาร ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงวัยชราเราจึงหลีกเลี่ยงอาการตาฝ้าฟางกันไม่พ้น อาการแรกเริ่มอาจจะแค่เห็นภาพซ้อน ตาสู้แดดจ้าไม่ค่อยได้ หรือเห็นแสงจากดวงไฟแตกพร่าในยามค่ำคืน แต่เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าตามัวถึงขั้นมองเห็นเป็นฝ้าหรือม่านหมอก นั่นคือสัญญาณอันตรายของต้อกระจก ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่หาทางรักษาปล่อยให้เลนส์แก้วตาเสื่อมจนต้อกระจกสุก เปลี่ยนรูม่านตาดำไปเป็นสีเหลืองหรือขาวขุ่น จนนำไปสู่อาการอักเสบแทรกซ้อนปวดตาขั้นรุนแรง นั่นคือสัญญาณเสี่ยงต่อการตาบอด ซึ่งต้อกระจกเป็นสาเหตุการตาบอดอันดับหนึ่งของประเทศ

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าดีใจว่าต้อกระจกสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียม สามารถกลับมามองเห็นได้ใกล้เคียงกับปกติ ในอดีตใช้การผ่าตัดเอาต้อกระจกออกทั้งก้อนแต่ต้องเปิดแผลกว้างประมาณ 8-13 มม. จากนั้นใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ และเย็บปิดแผลด้วยไหมขนาดเล็ก การผ่าตัดแบบนี้เนื่องจากมีแผลขนาดใหญ่ จึงต้องใช้เวลาพักฟื้นนานประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่มีข้อดีคือทำง่ายใช้อุปกรณ์น้อย และไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง

ภายหลังมีการคิดค้นวิธีการผ่าตัดต้อกระจกโดยการใช้คลื่นความถี่สูงในการสลายต้อ หรือที่เรียกว่า Phacoemulsification เป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน วิธีดังกล่าวแพทย์จะเจาะเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 3-4 มม. ที่ขอบกระจกตาดำ เพื่อสอดเครื่องมือเข้าไปสลายต้อกระจกในถุงหุ้มเลนส์ และดูดออกจนหมด จากนั้นใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยไม่ต้องเย็บผลเพราะสามารถสมานเองได้ตามปกติ อีกทั้งผู้ป่วยไม่ต้องนอนค้างโรงพยาบาล และใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-2 สัปดาห์

ปัจจุบันเลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้อยู่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันคือเลนส์แก้วตาเทียมชนิดแข็งทำจากวัสดุพลาสติกสังเคราะห์ และเลนส์ชนิดนิ่มแบบพับได้ทำจากจากอะคริลิก

เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแข็ง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5.0-6.5 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่มักใช้กับการผ่าตัดต้อกระจกแบบดั้งเดิม (แบบเปิดแผลกว้าง) จึงต้องมีการเย็บปิดแผล อย่างไรก็ดีเลนส์ชนิดแข็งสามารถใช้กับการรักษาด้วยวิธีการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงได้เช่นกัน ซึ่งจะต้องเปิดแผลผ่าตัดใหญ่กว่าเลนส์ชนิดนิ่มแบบพับเล็กน้อย ทั้งนี้เลนส์แข็งมีราคาประมาณ 700-4000 บาท ต่อข้าง

เลนส์แก้วตาเทียมชนิดนิ่ม แบบพับได้ ตัวเลนส์สามารถพับครึ่ง และใส่เข้าไปในแผลผ่าตัดขนาดไม่เกิน 3 มม.ได้ นิยมใช้สำหรับการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง ข้อดีคือแผลผ่าตัดเล็กมาก ไม่ต้องเย้บแผล ผู้ป่วยมีระยะพักฟื้นสั้น การมองเห็นในระยะแรกหลังการผ่าตัดดีกว่าเลนส์แข็ง ทั้งนี้มีราคาประมาณ 4000-6000 บาท นอกจากนี้เลนส์แก้วตามเทียมชนิดนิ่มยังได้ถูกพัฒนาต่อเนื่องหลายชนิด เช่น เลนส์ที่มีโฟกัสภาพระยะเดียว เลนส์ที่มีจุดโฟกัสภาพหลายระยะทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดทุกระยะโดยไม่ ต้องสวมแว่นตา เลนส์ที่สามารถปรับโฟกัสได้เอง และแบบแก้สายตาเอียงในตัว

เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างเลนส์นิ่มกับเลนส์แข็ง และดูว่าแบบใดมีความคุ้มค่ามากกว่ากันหากรัฐสนับสนุนการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียม รวมทั้งราคาที่เหมาะสมที่ควรใช้เป็นเกณฑ์ในการเบิกจ่าย ในปีพ.ศ. 2554  HITAP จึงได้พยายามหาคำตอบในเรื่องนี้ โดยทำการวิจัยถึงความคุ้มค่าของการผ่าตัดต้อกระจกโดยใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดนิ่มเปรียบเทียบกับชนิดแข็ง ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดสลายต้อกระจกโดยการใช้คลื่นความถี่สูง (แบบเปิดแผลเล็ก)

จากการศึกษาของ HITAP พบว่า การผ่าตัดใส่เลนส์แข็งมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดต้อกระจกมากกว่าเลนส์นิ่ม โดยเฉพาะภาวะเลือดออกช่องหน้าม่านตา และ ภาวะเลนส์เลื่อนหลุดจากตำแหน่งปกติ อย่างไรก็ดีใน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันความแตกต่างเรื่องระดับการมองเห็น ระหว่างเลนส์นิ่มและเลนส์แข็ง อีกทั้งพบว่าราคาที่แตกต่างกันภายในเลนส์แต่ละชนิดไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่แตกต่าง

จากการเปรียบเทียบราคาพบว่า หากผ่าตัดใส่เลนส์นิ่มจะมีราคาแพงกว่าการผ่าตัดใส่เลนส์แข็งอยู่ประมาณ 2,681 บาท และเมื่อพิจารณาถึงผลระยะยาวหลังการผ่าตัด โดยการประเมินค่าปีสุขภาพวะ (QALY)  ซึ่งหมายถึงค่าความคุ้มค่าต่อหนึ่งปีที่ผู้ป่วยจะมีสุขภาพแข็งแรงจากการที่ได้รับการรักษานั้น ๆ พบว่าการผู้ป่วยที่ผ่าตัดใส่เลนส์นิ่มมีค่าปีสุขภาวะสูงกว่าผู้ที่ผ่าตัดใส่เลนส์แข็งเพียง 0.005 ปี

การตัดสินเรื่องความคุ้มค่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้สำหรับการจัดการให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานโดยเท่าเทียม แต่หากผู้ป่วยต้องการรักษาที่นอกเหนือจากบริการพื้นฐานก็สามารถทำได้โดยจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนต่างเพิ่มเติม ดังนั้นในฐานะผู้ป่วยเองการมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อให้การเลือกใช้บริการสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้การคำนวณตามหลักการด้านเศรษศาสตร์สาธารณสุข อาจจะอุดมไปด้วยศัพท์แสงและตัวเลขที่ยากแก่การเข้าใจสำหรับผู้อ่าน แต่ข้อสรุปที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้พบว่าหากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะสนับสนุนให้การผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียม การใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแข็งมีความคุ้มค่ามากกว่าการผ่าตัดสอดเลนส์แก้วตาเทียมชนิดนิ่มพับได้ในบริบทประเทศไทย

ปัจจุบัน การตัดสินใจว่าผู้ป่วยจะได้รับเลนส์แบบไหน มักจะขึ้นกับสิทธิในการรักษาของผู้ป่วยโดยราคาที่ให้มีการเบิกจ่ายในปัจจุบัน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเบิกจ่ายค่าเลนส์แก้วตาเทียมได้ไม่เกิน 4,000 ต่อเลนส์ ส่วนในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้สามารถเบิกได้ที่ไม่เกิน 6,000 บาทต่อเลนส์ ส่งผลให้ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้รับการผ่าตัดใส่เลนส์นิ่ม มากกวาผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถึง 22 เท่า

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจค่าเลนส์แก้วตาเทียมโดยให้บริษัทผู้ผลิตยื่นเสนอราคาเลนส์แก้วตาเทียมทั้งแบบนิ่มและแข็ง หากจะมีการซื้อปีละ 100,000 ชิ้นต่อปี ซึ่งรวมค่าจัดส่งไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไทยแล้ว พบว่ามีราคาต่ำกว่าเกณฑ์ที่ให้เบิกจ่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมบัญชีกลางให้เบิกในปัจจุบันเป็นอย่างมากโดยมีราคาเฉลี่ยของเลนส์ชนิดแข็งอยู่ที่ 1,030 บาทหรือถูกกว่าราคาที่ให้เบิกอยู่ 4 เท่า และเลนส์ชนิดนิ่มอยู่ที่ 4,375 บาท ซึ่งถูกกว่าราคาที่ให้เบิกอยู่ครึ่งหนึ่ง คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้มีการทบทวนราคาเลนส์ที่เบิกจ่ายในอนาคต

20 มีนาคม 2556

Next post > เปลี่ยนชีวิตในโลกเงียบ ด้วยประสาทหูเทียม

< Previous post รอบรู้ภาวะสมองเสื่อม ภัยร้ายที่กำลังมาเยือนสังคมไทย

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ