logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
สาว ๆ คะ…ไปคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกันเถอะ

มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก สำหรับประเทศไทยพบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งทุกชนิดในเพศหญิง จากสถิติเมื่อปี 2553 พบว่ามีหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกปีละ 6,200 คน และเสียชีวิตราวปีละ 2,600 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะมีอัตราส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยเลยทีเดียว คาดการณ์ว่าในราวปี พ.ศ. 2560 ตัวเลขผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยต่อวันจะเพิ่มเป็น 17 คน จากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่เพิ่มขึ้นเป็น 11,526 คน

 

อย่างไรก็ตาม ที่ว่ามาทั้งหมดเป็นแค่ตัวเลขคาดการณ์เท่านั้น หากมีการคัดกรองจำนวนสตรีผู้อยู่ในวัยเข้าข่ายเสี่ยงอาจจะได้ตัวเลขผู้ป่วยสูงกว่านี้มากก็เป็นไปได้ เพราะปัจจุบันมีหญิงไทยให้ความสำคัญกับการไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกันไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งมีสาเหตุมาจากอะไรนั้น ในปี พ.ศ. 2552 HITAP จึงได้พยายามหาคำตอบด้วยการลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ พิษณุโลก นครพนม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา นครปฐม เพชรบุรี สระแก้ว ชุมพร สงขลา และนครศรีธรรมราช เพื่อประเมินถึงผลสำเร็จและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีวีไอเอควบคู่กับวิธีแปปสเมียร์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องต่อจากโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเริ่มดำเนินการทั่วประเทศมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 ด้วยการให้บริการตรวจฟรีทุกระยะ 5 ปี แก่หญิงไทยผู้มีอายุ 30 – 60 ปี ทั้งนี้ในกรณีเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว แนะนำว่า ควรไปตรวจเช็คอย่างน้อยปีละ1 ครั้ง หากได้ผลปกติ 2-3 ครั้ง ก็สามารถจะเว้นระยะห่างออกไปได้ แต่ถ้ามีประวัติโรคทางเพศสัมพันธ์ อาทิ เริม หงอนไก่ ก็ควรไปตรวจทุก 6 เดือน[1]

 

ผลจากการวิจัยในช่วง 2 ปีแรก พบว่า อัตราการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายยังค่อนข้างต่ำ มีผู้ไปใช้บริการกันน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างหญิงไทยที่มีอายุ 30-60 ปี จำนวนนับกว่าครึ่งหรือราว 68 เปอร์เซ็นต์ เคยผ่านการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาแล้วในรอบ 5 ปีก่อนหน้า ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วและมีระบบตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ สามารถครอบคลุมการตรวจในกลุ่มเป้าหมายได้ถึง 80-90% ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่าสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ โดยสาเหตุที่ทำให้หญิงไทยไม่ไปคัดกรอ เช่น

ไม่มีอาการ จึงไม่ไปตรวจ: เป็นความเข้าใจผิดที่เสี่ยงต่ออันตรายอย่างมาก เพราะเมื่อเกิดความผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งในระยะที่ 2 หรือ 3 ไปแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายได้

ไม่มีเวลา..ไม่ว่าง..ไม่สะดวก: มีคนกล่าวว่า การที่เราให้เวลากับอะไร หมายความว่าเราเห็นความสำคัญต่อสิ่งนั้นๆ ดังนั้นถ้าคุณเห็นความสำคัญของสุขภาพและชีวิต ก็น่าจะสละเวลาซักนิด เพียง 5 ปีต่อครั้ง ไปตรวจคัดกรอง

อายหมอ อายเจ้าหน้าที่: ปัจจุบันนี้ หลายโรงพยาบาลเวลาไปตรวจสามารถเลือกได้ว่าจะตรวจกับหมอผู้หญิง และถ้าลองชั่งดีๆ  ยอมอายหมอแค่ไม่ถึง 5 นาที แต่ป้องกันโรคได้น่าจะดีกว่ามารู้ที่หลังก็รักษาไม่ทันแล้ว

ตรวจแล้ว ไม่พบความผิดปกติ เลยไม่ไปตรวจอีก: โดยทั่วไปแล้ว หญิงที่อายุถึง 30 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองทุก 5 ปี การตรวจไม่พบความผิดปกติในครั้งแรก ไม่ได้หมายถึงเราจะปลอดภัยไปตลอดชีวิต

ผลจากการวิจัยที่น่าสนใจอีกประการคือ หญิงที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม กลับเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากกว่าหญิงกลุ่มอื่นๆ ส่วนหญิงที่เข้ารับการตรวจน้อยที่สุดคือ หญิงในเมือง หญิงมุสลิม และหญิงอมควัน ซึ่งผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกวาผู้ที่ไม่ได้สูบ

นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่า ปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นให้หญิงไทยตัดสินใจเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกคือ

  • อยู่ในช่วงอายุ 40-50 ปี
  • เคยตั้งครรภ์มาก่อน
  • ได้รับการกระตุ้นจากสามีหรือสมาชิกในครอบครัว
  • เคยรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

จากข้อมูลผลวิจัยชิ้นนี้ที่มีการเก็บข้อมูลที่สามารถเป็นตัวแทนในระดับประเทศไทย น่าจะเป็นกุญแจดอกหนึ่งที่จะไขความสงสัยว่าหญิงไทยมีเหตุผลอะไรที่ช่วยให้ตัดสินใจไปตรวจคัดกรองฯ และในทางตรงกันข้ามมีเหตุผลอะไรที่เป็นตัวขัดขวางการเข้ารับการตรวจคัดกรอง ดังนั้นผลวิจัยนี้น่าจะเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ เบื้องต้นที่ผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ของการวางระบบคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสามารถนำไปใช้เพื่อวิเคราะห์หามาตรการที่ตรงกับสภาพปัญหา และความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ให้ท้ายที่สุด “หญิงไทย…จะได้ห่างไกลมะเร็งปากมดลูก”



[1] http://base.bcnpy.ac.th/family/web_link/003.htm

http://www.lifediag.net/life/index.php/tip/17-healty-tip7

 

20 มีนาคม 2556

Next post > รอบรู้ภาวะสมองเสื่อม ภัยร้ายที่กำลังมาเยือนสังคมไทย

< Previous post เครื่องเพ็ต-ซีที สแกน : มีไม่พอ หรือใช้ไม่คุ้ม?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ