logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

สุรา : ต้นตอความเลวร้ายระดับชาติ

ข้อมูลจากองค์อนามัยโลกระบุว่า การดื่มสุราเป็นต้นเหตุให้ชาวโลกราว  4% หรือประมาณ  2.5 ล้านคนต้องสังเวยชีวิตไปในแต่ละปี ด้วยอุบัติเหตุ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคตับ ขณะที่คนหนุ่มสาวช่วงอายุระหว่าง 15-29 ปี ต้องจบชีวิตด้วยฤทธิ์น้ำเมานับเป็นจำนวน 320,000 รายต่อปีเลยทีเดียว ผู้ตกเป็นเหยื่อน้ำเมาส่วนใหญ่แล้วเป็นเพศชาย ซึ่งมีสัดส่วนมากราว 6 เท่าของจำนวนเพศหญิงที่ดื่มเหล้า โดยเฉพาะพวกผู้ชายจากแดนหมีขาวและเพื่อนบ้านใกล้เคียงนั้นได้ชื่อว่า ดื่มเหล้ากันหนักเป็นพิเศษ วัดได้จากจำนวนผู้ชายมากถึง 1 ใน 5 ของประเทศที่ต้องจบชีวิตลงด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์

ส่วนพี่ไทยเราก็เมาเก่งไม่น้อยหน้าชาติไหนเลย มองไปมุมไหนก็เห็นตู้แช่เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ตั้งขายกันให้เกร่อ ไม่จำเป็นต้องปิดบังอำพรางเหมือนซองบุหรี่ ทั้งที่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพไม่แพ้กัน เราลองมาดูกันซิว่า การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มผสม

แอลกอฮอล์นั้น สร้างความเสียหายให้สังคมไทยเราแค่ไหน

ฤทธิ์น้ำเมา ทำสังคมไทยเสื่อม คนไทยสุขภาพแย่

โทษของการดื่มสุรา ไม่ใช่แค่ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง ทำให้ผู้ดื่มต้องอายุสั้นลงจากปัจจัยเสี่ยงต่อโรคตับ ลำไส้ และหลอดเลือด อย่างที่พอรู้ๆ กันเท่านั้น  แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอีกมากมายหลายประการ ซึ่งเรื่องนี้ถ้าลองนำมาคำนวนเป็นตัวเลขเพื่อประเมินถึงค่าความเสียหายกันแล้ว พบว่ามีมูลค่ามหาศาลจนน่าตกใจ

ปีพ.ศ. 2549 มีความพยายามจะหาคำตอบว่าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขว่า การที่ประเทศไทยมีคนดื่มเหล้า ก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจเท่าไหร่?

จากผลการศึกษาที่จัดทำโดย HITAP พบว่า ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ไปจากการที่แรงงานดื่มแอลกอฮอล์ จนทำให้ต้องขาดงานและเสียประสิทธิ์ภาพในการทำงานคิดเป็นมูลค่าถึง 45,465 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นผลจากการดื่มสุราอย่างหนักจนทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรก็ทำให้ประเทศไทยต้องเสียรายได้ไปเป็นมูลค่าสูงถึง 104,128  ล้านบาท คิดรวมๆ พบว่าประเทศไทยเกิดความสูญเสียจากการบริโภคน้ำเมากว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

ปัจจัยที่นำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่วนใหญ่มาจากการดื่มสุราจนเมามายไม่ได้สติ ซึ่งนอกจากทำลายชีวิตตนเองแล้ว ยังทำให้ผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่พลอยรับเคราะห์ไปด้วย

ดื่มสุราจนขาดสติ ทำลายชีวิตตนเองและผู้อื่นได้ขนาดไหน?

ในแต่ละปีสังคมไทยต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลจากการดื่มสุราจนขาดสติไปเป็นจำนวนมาก จากผลการศึกษาพบว่าภายในปีพ.ศ.2549 พิษสุราได้คร่าชีวิตชายไทยเป็นจำนวนมากโดยมีเหตุมาจาก 3  ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ โรคเอดส์ ซึ่งเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์จนคึกคะนอง แล้วมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันจนติดโรคและเสียชีวิตเป็นจำนวน 10,204 คน ทำให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ไปถึง 36,277 ล้านบาท รองลงมาก็ได้แก่ อุบัติเหตุจราจรทางบก ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 8,460 ราย คิดเป็นความสูญเสียประมาณ 26,989 ล้านบาท ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ โรคตับแข็ง ซึ่งคร่าชีวิตคนไทยปีนั้นไป 5,147 คน คิดเป็นค่าความสูญเสียราว 13,044 ล้านบาท

ในแง่ของความสูญเสียอันเกิดกับเพศหญิงเพราะฤทธิ์เหล้านั้น ก็รุนแรงไม่น้อยเลย เพราะมีจำนวนผู้ติดเอดส์เพราะเมาสุราเป็นจำนวนถึง 1,877 ราย คิดเป็นความสูญเสียประมาณ 3,580 ล้านบาท ขณะที่สถิติทางอุบัติเหตุจราจรทางบกอยู่ที่ 1,848 ราย สูญเสียประมาณ 2,769 ล้านบาท และเป็นโรคมะเร็งตับอีก 868 ราย สร้างความสูญเสียราว 706 ล้านบาท

ส่วนผู้ที่บาดเจ็บจากพิษสุราก็ได้สร้างต้นทุนค่ารักษาพยาบาลตามมาอีก 5,491 ล้านบาท ค่าทรัพย์สินเสียหายจากอุบัติเหตุ 779 ล้านบาท ค่าปรับและค่าฟ้องร้องคดีความอีก 242 ล้านบาท

สรุปได้ว่า จากการเก็บข้อมูลในพ.ศ. 2549 เพียงแค่ปีเดียว ประเทศไทยมีต้นทุนที่ต้องเสียจากพิษภัยของการดื่มของมึนเมารวมเบ็ดเสร็จเป็นจำนวนมหาศาลถึง 156,105 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้จากภาษีสรรพสามิตที่รัฐบาลเรียกเก็บจากการผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายได้ในปีเดียวกันเป็นจำนวน 72,871 ล้านบาท  ก็จะเห็นว่าพิษร้ายของการดื่มสุราทำให้ประเทศขาดทุนกว่าเท่าตัว

นี่ยังไม่นับรวมความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ หรือความเสียหายด้านจิตใจที่เกี่ยวเนื่องกับการดื่มน้ำเปลี่ยนนิสัยเข้าไปจนเกินพิกัด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ การทะเลาะวิวาท รวมไปถึงคดีอาชญากรรมหรือภัยสังคมรูปแบบต่างๆ

ลงทุนเก็บข้อมูลแจกแจงตัวเลขออกมาให้เห็นกันขนาดนี้แล้ว คงไม่ต้องย้ำกันอีกว่า พิษสุรานั้นสร้างความเสียหายให้สังคมไทยอย่างสาหัสสากรรจ์เพียงใด ถ้าทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมมือกันแก้ปัญหา การรณรงค์ให้คนไทยดื่มสุรากันน้อยลงได้ ก็คงมีแต่ได้กับได้ อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ แต่รับรองว่าช่วยลดสถิติอุบัติเหตุและปัญหาสังคมลงได้อย่างมากมาย นั่นหมายถึงการลดความสูญเสียระดับชาติได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว

20 มีนาคม 2556

Next post > เครื่องเพ็ต-ซีที สแกน : มีไม่พอ หรือใช้ไม่คุ้ม?

< Previous post ผู้ป่วยจิตเวช: รักษาได้ ถ้าได้รักษา

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ