“สัมภาษณ์ในงานวิจัย” จากเรื่องเล่าและบทสนทนาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ภาพหญิงสาวไม่พูดอะไร ถอนหายใจ หลบตาและไม่ตอบคำถาม ดูจะสื่อสารถึงบางอย่างได้มากกว่าคำพูด
ความรู้สึกและความเงียบที่มีความหมายเช่นนี้ไม่อาจพบได้จากการทบทวนวรรณกรรม ทั้งที่ในบางหัวข้อวิจัย โดยเฉพาะหัวข้อที่เกี่ยวกับความคิดความรู้สึกของคน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นทำให้นักวิจัยที่ใช้วิธีที่เรียกว่า “การวิจัยเชิงคุณภาพ” ต้องพบปะกับผู้คนและลงมือสัมภาษณ์ด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้อวัจนภาษาเหล่านี้หลุดรอดการเก็บข้อมูลไปได้ และแน่นอนว่าเพื่อให้ได้ข้อมูลตรงตามประเด็นที่ต้องการทราบที่สุด
คำว่าเก็บข้อมูลเพื่อทำงานวิจัย ฟังดูเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยศัพท์วิชาการ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว การเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ ก็แทบไม่ต่างกับการสัมภาษณ์เพื่อทำข่าวหรือภาพยนตร์สารคดี เช่น สารคดีเกี่ยวกับวงไอดอลสาวเมื่อเร็ว ๆ นี้ สักกี่มากน้อย ต่างกันที่วิธีการนำเสนอต่อผู้อ่านหรือผู้ชมเท่านั้น
หลังสังคมได้จับเข่าคุยกับไอดอลในสารคดี BNK48 : GIRL DON’T CRY ท่ามกลางโลกสื่อที่เต็มไปด้วยบทสัมภาษณ์กูรูผู้เชี่ยวชาญ ข่าวที่สัมภาษณ์หลายฝ่ายจนเกิดเป็นสกุ๊ปข่าว อาจดูห่างไกลจากโลกของการวิจัย แต่แท้จริงแล้วกลับมีบางส่วนคล้ายกัน HITAP ขอเสนอหนึ่งในกระบวนการวิจัยว่าด้วยการจับเข่าคุยกับทุกฝ่าย รวมเสียงจากผู้อยู่ในปัญหาจนกลายเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหานั้น
สัมภาษณ์คืออะไร? ทำไมต้องสัมภาษณ์?
เพราะข้อมูลหลายอย่างไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีอื่นนอกจากการสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล พฤติกรรมของบุคคล เจตคติ ความต้องการ ความเชื่อ ค่านิยม บุคลิกภาพในลักษณะต่าง ๆ สภาพแวดล้อมจริง ปัญหาที่เผชิญอยู่จริง การสัมภาษณ์พูดคุยจึงเป็นตัวเลือกในการเข้าถึงข้อมูลที่หลายครั้งเป็นการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาระดับประเทศที่ต้องได้ข้อมูลจากหลายฝ่าย
ในโลกแห่งงานวิจัย การสัมภาษณ์ก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการเข้าถึง “ความรู้ ความจริงหรือข้อมูล” หนึ่งในนั้นคือการสัมภาษณ์เชิงคุณภาพซึ่งมุ่งเน้นเก็บข้อมูลเชิงพรรณาตัวอย่างเช่น ประสบการณ์ ความคิด ความรู้หรือความรู้สึกจากผู้ถูกสัมภาษณ์
ในโลกของการสัมภาษณ์เชิงคุณภาพ หลักคิดพื้นฐานคือการมองว่าความรู้ ความจริงหรือข้อมูลคือสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ถูก “สร้างขึ้นมาใหม่” จากทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ที่ร่วมมือกันสร้างขึ้นจากการสัมภาษณ์พูดคุยที่มีเป้าหมายเดียวกัน
(ชมคลิป วิจัย HITAP กับการเก็บข้อมูล)
อุดมคติในการสัมภาษณ์
อาจฟังดูเรียบง่ายหากจะบอกว่า การสัมภาษณ์เชิงคุณภาพในอุดมคติก็คือการสนทนาแลกเปลี่ยนในชีวิตประจำวันที่เราต่างคุ้นชินด้วยองค์ประกอบของความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการที่เอื้อให้เกิดการถ่ายเทข่าวสาร โดยฝ่ายหนึ่งมีเรื่องราวในรูปแบบของประสบการณ์หรือความคิดเห็น อีกฝ่ายหนึ่งมีประเด็นคำถามที่อยากรู้ และทั้งสองฝ่ายต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยร่วมมือกัน ให้เกิดผลลัพธ์เป็นข้อมูลที่ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันสร้างขึ้น ฟังดูง่ายแต่แท้จริงกลับต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ในการสัมภาษณ์ซึ่งใช้ความรู้เชิงหลักการของการสัมภาษณ์สำหรับงานวิจัยและประสบการณ์จากพื้นที่จริง ต่อไปนี้คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดการสัมภาษณ์ในอุดมคติ
1 ผู้ให้สัมภาษณ์ คือบุคคลสำคัญในการร่วมกันสร้างข้อมูล นักวิจัยจึงต้องเลือกผู้ให้สัมภาษณ์ที่เหมาะสมที่สุดซึ่งมีคุณสมบัติดังนี้
– เป็นผู้ที่รู้เรื่องนั้น ๆ อย่างแท้จริง มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้น ๆ
– ต้องยังอยู่ในวงการเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัย ไม่ใช่ออกจากวงการมานานแล้ว
– หากเลือกได้ควรไม่ใช่เป็นคนในวงการเดียวกับผู้สัมภาษณ์ เพราะอาจทำให้หลายประเด็นที่ควรถาม – ตอบถูกมองข้ามโดยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าอีกฝ่ายจะรู้แล้ว
– ผู้ให้สัมภาษณ์ยังต้องสามารถให้เวลาสำหรับสัมภาษณ์ได้อย่างเพียงพอ เพราะบ่อยครั้งที่ต้องสัมภาษณ์คนเดียวกันมากกว่า 1 ครั้ง
– ควรเป็นนักเล่าเรื่องมากกว่านักวิเคราะห์ เพราะข้อมูลที่ต้องการจริง ๆ คือข้อมูลเชิงพรรณา ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกตีความมาแล้ว โดยคุณสมบัติทั้งหมดในทางปฏิบัติอาจหาได้ยากจึงสามารถยืดหยุ่นได้
– อีกสิ่งสำคัญคือการเลือกกลุ่มคนสัมภาษณ์ควรมีหลากหลายพอสมควรขึ้นอยู่เป้าหมายในการวิจัย
2.ผู้สัมภาษณ์ เปรียบเสมือนนักเดินทางผู้ท่องเข้าไปในโลกของผู้ให้สัมภาษณ์ แนวปฏิบัติที่จะทำให้การสัมภาษณ์เชิงคุณภาพประสบความสำเร็จมีดังนี
– ผู้สัมภาษณ์ควรทำการบ้านอย่างดี มีความรู้ในเรื่องที่สัมภาษณ์อย่างเพียงพอช่วยให้มองเห็นประเด็น
– ในการถามควรมุ่งทำความเข้าใจโลกของผู้ตอบ เน้นความหมายของผู้ตอบโดยต้องใส่ใจทั้งคำพูด การแสดงออกและพยายามอ่านความหมายเหล่านั้น
– ควรถามให้เล่ามิใช่วิเคราะห์ โดยให้ผู้ตอบเล่าเรื่องราวของเขาอาจเป็นประสบการณ์ ความรู้สึก การกระทำ ส่วนการวิเคราะห์เป็นหน้าที่ของนักวิจัย
– ควรเจาะเฉพาะลงไปในข้อมูลของผู้ตอบเอง
– ดำเนินอย่างมีจุดเน้นมีหัวข้อเรื่องที่ชัดเจน ไม่ออกนอกเรื่อง แต่ก็ต้องถามอย่างเปิดกว้างไม่ตีกรอบ ไม่ปักธงคำตอบไว้ เสมือนไม่รู้เรื่องราวมาก่อนถือเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้ได้เรื่องราวที่ละเอียดมากขึ้น
– หากพบคำตอบที่ไม่ชัดเจนต้องทำให้กระจ่างโดยเร็ว ผู้สัมภาษณ์ต้องไวต่อคำตอบ ขณะสัมภาษณ์ก็ต้องใส่ใจในปฏิสัมพันธ์ต่อผู้ตอบ ซึ่งช่วยให้ได้ข้อมูลที่ดีขึ้น
– ควรสร้างความประทับใจ ทำให้ผู้ตอบรู้สึกสนุก อยากคุย อยากเล่าเรื่องแล้วข้อมูลที่ดีจะไหลบ่าออกมาอย่างท่วมท้น
3.คำถามสัมภาษณ์ มีวิธีคิดและเทคนิคที่แตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่การสร้างแนวคำถาม ดังนี้
– ถาม“อะไร” สิ่งนี้จะต้องชัดเจนมาตั้งแต่การออกแบบการวิจัยโดยนักวิจัยต้องถามตัวเองอีกครั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเนื้อหาหลักในการสัมภาษณ์คืออะไร สาระสำคัญอยู่ที่ไหน
– ถาม “ทำไม” โดยต้องการรู้ว่าการถามเรื่องนั้นตอบคำถามการวิจัยได้อย่างไรบ้าง
– ถาม “อย่างไร” คือเลือกเทคนิคการสัมภาษณ์อาจเป็นสัมภาษณ์เชิงลึก หรือสนทนากลุ่มโดยคำนึงถึงลักษณะของข้อมูลที่ต้องการ
– โดยตัวแนวคำถามจะประกอบไปด้วยหัวข้อย่อยซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน 3 – 4 หัวข้อ เรียงร้อยกันแล้วสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้สมบูรณ์
– และในแต่ละหัวข้อย่อยจะมีคำถาม 5 – 6 คำถาม ตัวคำถามนั้นมีจำแนกประเภทตามเป้าหมาย เช่น ถามเปิดประเด็น ถามเพื่อขอรายละเอียด ถามเจาะทางอ้อมมักใช้สำหรับประเด็นที่ถามตอบโดยตรงได้ยาก เช่น “คุณคิดอย่างไรกับเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน?” ซึ่งอาจได้คำตอบตามอุดมคติ สามารถเลี่ยงถามทางอ้อมเป็น “ในกลุ่มเพื่อนสนิทของคุณคิดอย่างไร” แทน แนวคำถามควรมีการทดสอบแก้ไขปรับปรุงก่อนนำมาใช้จริง
Ethiel de Sola Pool เปรียบการมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์ระหว่างผู้สัมภาษณ์กับผู้ถูกสัมภาษณ์เหมือน ละครที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันแสดง และละครนั้นก็มีเค้าโครงเรื่องที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา องค์ประกอบทั้ง 3 ของการสัมภาษณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานวิจัยเข้าถึงความจริง ความรู้และข้อมูลได้
สัมภาษณ์แล้วไปไหน?
หลังจากลงพื้นที่สัมภาษณ์อาจมีการปรับคำถามเพิ่มเติมเพื่อให้ดีขึ้นในการเก็บข้อมูลครั้งต่อไป ยิ่งลงพื้นที่มากขึ้น นักวิจัยก็สามารถตรวจสอบปัญหาได้ง่ายขึ้น หลายครั้งที่การลงพื้นที่ในช่วงท้ายของการเก็บข้อมูลคือการตรวจสอบข้อมูล และเมื่อการลงพื้นที่สิ้นสุดลง บทสนทนาทั้งหมดจะถูกนำมาถอดเทป อากัปกิริยาต่าง ๆ จะถูกหมายเหตุไว้ในวงเล็บให้นักวิจัยสามารถมองเห็นบริบทที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การสัมภาษณ์(การสนทนากลุ่ม ,สัมภาษณ์แบบสอบถามและสัมภาษณ์เชิงลึก) เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการหาข้อมูล ในงานวิจัยแต่ละชิ้นอาจมีการใช้เครื่องมืออื่นร่วมด้วยเช่น การสังเกตสภาพแวดล้อม การเก็บข้อมูลสถิติรวมถึงการทบทวนวรรณกรรมควบคู่ไปด้วยขึ้นอยู่กับแต่ละวัตถุประสงค์ของงานวิจัย
การเข้าถึงความจริงด้วยการวิจัยในการศึกษาแต่ละครั้งย่อมมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน อาจสะท้อนเสียงของคนไทยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การขับเคลื่อนด้วยการนำเสนอผลการศึกษาทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นก็เป็นหนทางหนึ่งทางวิชาการที่จะเข้าถึงความจริง เข้าถึงคำตอบของปัญหาได้อย่างใกล้ชิดที่สุด
บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจาก บทที่ 8 การสัมภาษณ์เชิงคุณภาพ จากหนังสือ ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ เขียนโดย ชาย โพธิสิตา