“MIDAS Medical Innovation Hackathon 2025” เวทีขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์ สู่สิทธิประโยชน์ของคนไทย

จากการประกาศกฎบัตรออตตาวาที่ประเทศแคนนาดา ปี 1986 ได้บัญญัติว่า “การส่งเสริมสุขภาพ” หรือ “HEALTH PROMOTION” หมายถึง “ขบวนการส่งเสริมให้ประชาชน เพิ่มสมรรถนะในการควบคุม และปรับปรุงสุขภาพของตนเอง ในการบรรลุซึ่งสุขภาวะอันสมบูรณ์ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม” บุคคล และกลุ่มบุคคลจะต้องสามารถบ่งบอก และตระหนักถึงความมุ่งมาดปรารถนาของตนเอง สามารถตอบสนองต่อปัญหาของตนเอง และสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม หรือปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้งยังสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น ลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็ง การขาดการออกกำลังกาย การขาดจิตสำนึกในเรื่องของความปลอดภัย ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หลีกเลี่ยงจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่เป็นสาเหตุที่ทำลายสุขภาพ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญ หรือเน้นการให้เพิ่มปัจจัยส่งเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายมากขึ้น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี*
องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามของ “การสร้างเสริมสุขภาพ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 แต่ก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา เมื่อเกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่มีต่อภาวะสุขภาพและความเจ็บป่วยปัจจุบันนิยามของการสร้างเสริมสุขภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและใช้อ้างอิงมากที่สุดคือ “กระบวนการที่ส่งเสริมให้ประชากรเพิ่มความสามารถในการจัดการและดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้น**
ในจุลสาร HITAP ฉบับที่ 15 เดือน มกราคม-มีนาคม 2555: คุณค่าที่ประชาชนให้ และทางเลือกสู่เป้าหมายที่คุ้มทุน ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง “การส่งเสริมสุขภาพ” และ “การสร้างเสริมสุขภาพ” ไว้ว่า
“การส่งเสริมสุขภาพมีมานานแล้ว เน้นเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล เพราะสมัยก่อนคนเป็นโรคเพราะเชื้อโรค สภาพแวดล้อมไม่สะอาด แต่ตอนนี้โรคติดต่อสามารถควบคุมได้ เหลือแต่โรคที่เกิดจากพฤติกรรม
การสร้างเสริมสุขภาพ ทำผ่านการเปลี่ยนนโยบาย การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ผ่านการสื่อสารแบบ mass communication
สรุปง่ายๆ ว่าการสร้างเสริมสุขภาพ คือ การทำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสิ่งแวดล้อมและนโยบายสาธารณะ เพื่อให้เอื้อกับการมีสุขภาพดีระยะยาว”***
การสร้างเสริมสุขภาพมักจะใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะ เช่น โทรทัศน์หรือวิทยุ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับสังคมเรื่องพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และให้คนยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้สุขภาพของตนเองดีขึ้นมาได้ การสร้างเสริมสุขภาพเป็นการมุ่งเน้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของคนในสังคม ให้มี สุขภาพ กาย จิต สังคม ที่ดีขึ้น
ขอบคุณที่มาของรูปภาพประกอบ: thaihealth.or.th, oknation.net, เครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ สคร.๑๐
*สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
**Health promotion is the process of enabling people to increase control over, and to improve, their health
***จุลสาร HITAP ฉบับที่ 15 เดือน มกราคม-มีนาคม 2555