logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

จากการทบทวนสถานการณ์ปัจจุบัน พบเด็กไทยอายุ 0 – 5 ปี ขาดคุณภาพ 6 เรื่องสำคัญ ส่งผลเสียทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นเหตุให้เด็กไทยมีคุณภาพน้อยลง การเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง การมองเห็น การได้ยิน การควบคุมอารมณ์ รวมทั้งทักษะด้านภาษาและสังคม

ในเด็กช่วงอายุ 0 – ปี เป็นต้นทุนสำคัญของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต หลายประเทศ โดยเฉพาะที่พัฒนาแล้ว มีการวางโครงสร้างการดูแลสุขภาวะของแม่และเด็ก อย่างเป็นระบบไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา หรือไต้หวัน

ประเทศไทยน่าจะมีศึกษาตัวอย่างดีๆ นี้ มาพัฒนานโยบายสร้างเสริมสุขภาวะและป้องกันโรคของคนกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ

ข้อมูลจากงานวิจัย “อนาคตไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก 0-5 ปี” พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลายเรื่อง

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็น 6 ปัญหาหลักที่ต้องแก้ไข

เริ่มตั้งแต่ 1. การตั้งครรภ์ไม่พร้อม แม่ที่ไม่พร้อม ปัญหาจากเด็กที่เกิดมาจากแม่วัยรุ่น มีแนวโน้มน้ำหนักน้อยหรือเกิดก่อนกำเนิด อวัยวะบางส่วนพัฒนาไม่เต็มที่ อีกทั้ง พ่อ แม่ ยังประสบปัญหาชีวิตรอบด้านอาจไม่มีเวลาและขาดทักษะในการเลี้ยงดู เด็กที่เกิดมาจึงเสี่ยงที่จะพัฒนาการไม่สมบูรณ์และปัญหาสุขภาพในระยะยาว

2. ความผิดปกติแต่กำเนิด การคัดกรองความผิดปกติของเด็กในครรภ์และแรกคลอด แม้จะมีการกำหนดเป็นบริการมาตรฐาน แต่การดำเนินงานยังไม่ครอบคลุม ส่งผลให้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยเกิดมาพร้อมกับการเป็นโรคโลหิตจาง (ธาลัสซีเมีย), โรคเอ๋อ (ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน) และดาวน์ซินโรม ทั้งๆ ที่ภาวะความผิดปกติเหล่านี้ สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจกรองแต่เนิ่นๆ

3. พัฒนาการผิดปกติ การเจริญเติบโตและพัฒนาการไม่เป็นไปตามวัย น้ำหนัก ส่วนสูงต่ำกว่ามาตรฐาน หรือมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะภาษา มีปัญหาด้านการเรียนรู้และสมาธิสั้น

4. ผิดปกติทางสายตาและการได้ยิน เด็กจำนวนมากมีความผิดปกติด้านการได้ยินและมองเห็น โดยที่ไม่รู้ตัวเองว่ามีความผิดปกติ

5. พร่องโภชนาการและโภชนาการเกิน เด็กไทย มีโภชนาการไม่เหมาะสม มีทั้งขาดและเกิน โดยเฉพาะโรคอ้วนที่พบมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง มีสาเหตุจากการเลี้ยงดูของครอบครัวและปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อพฤติกรรมการกินและการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็ก และมาตรการป้องกันในระบบบริการสุขภาพต่างๆที่มีอยู่ยังไม่ดีพอ

6. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขาดคุณภาพ ปัญหาคุณภาพของศูนย์เด็กเล็ก 3 – 5 ปี จำนวนกว่า 50% ของไทย กรมอนามัยสำรวจพบว่า เด็กในศูนย์ฯ จำนวนมากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เนื่องจากแออัด ขาดบุคลากรที่มีความรู้ ขาดงบประมาณและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

จากการทบทวนสถานการณ์ นโยบายและมาตรการด้านสุขภาวะของเด็ก 0 –5 ปี ของไทย เปรียบเทียบกับนโยบาย ประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน สิงคโปร์ และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง

พบว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการผลักดันให้มีการปรับปรุงการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับเด็กวัย 0 – 5 ปี โดยเร่งด่วน และทำอย่างเป็นระบบ

โดยมีความร่วมมือกันตั้งแต่ผู้ปกครอง ศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล องค์กรปกครองท้องถิ่น จนถึงผู้กำหนดนโยบายระดับชาติ เช่น กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

ข้อมูลทั่วโลกระบุชัดเจนว่าการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กวัยแรกเกิด – 5 ปี เป็นหัวใจของความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ หลายประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และไต้หวัน ได้ระดมทรัพยากรของชาติสำหรับการจัดบริการสุขภาพและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กวัยนี้อย่างจริงจัง

เพราะฉะนั้น คุณภาพของเด็กที่จะเติบโตขึ้น และกลายมาเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแบกรับภาระทางสังคมของประเทศในวันข้างหน้า จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

19 ตุลาคม 2555

Next post > “การสร้างเสริมสุขภาพ” และ “การส่งเสริมสุขภาพ” แตกต่างกันอย่างไร?

< Previous post ผ้าอ้อมผู้ใหญ่: เติมเต็ม…ชีวิตผู้พิการ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ