logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
วิจัยพบ เย็บปอดด้วยแม็กไม่ต่างจากเย็บด้วยมือ ช่วยย่นเวลาผ่าตัดและพักฟื้น …คนไข้บัตรทองเบิกได้!

กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ร่วมกับโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ ไฮแทป (Health Intervention and Technology Assessment Program – HITAP) ศึกษาความแตกต่างของการเย็บปอดด้วยมือ กับเย็บด้วยอุปกรณ์คล้ายแม็ก (parenchymal stapling) ในการผ่าตัดปอดพบว่าให้ผลการรักษาและมีค่าใช้จ่ายไม่ต่างกัน เพราะการเย็บปอดด้วยแม็กช่วยลดภาวะแทรกซ้อน เวลาการผ่าตัดและจำนวนวันนอนโรงพยาบาล จึงควรให้ระบบประกันสุขภาพทุกแห่งสนับสนุน

การผ่าตัดปอดมักเกิดกับผู้ป่วยมะเร็งปอด และผู้ป่วยที่มีก้อนที่ปอดซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เชื้อราหรือเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง หรือเกิดจากการติดเชื้อแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมโป่งพอง เป็นต้น ปัจจุบันหลังการผ่าตัดปอดแพทย์มีทางเลือกในการเย็บปอดของผู้ป่วย 2 วิธี คือ เย็บปอดด้วยมือโดยใช้ไหมชนิดพิเศษ ซึ่งใช้ระยะเวลานานและมีความเสี่ยงต่อภาวะลมรั่วภายหลังการผ่าตัด ส่วนอีกวิธีได้แก่ การใช้อุปกรณ์คล้ายแม็กหรือ stapler ซึ่งตัวอุปกรณ์มีราคาแพงและไม่ครอบคลุมการเบิกจ่ายในระบบประกันสุขภาพบางกรณี ทำให้ผู้ป่วยและญาติต้องรับภาระการใช้จ่ายค่าอุปกรณ์ดังกล่าว โดยเสียค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 10,000-15,000 บาท

อาจารย์นายแพทย์ อภิชาติ ตันตระวรศิลป์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยกรรมทรวงอกทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยหลักกล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการเย็บปอดด้วยมือกับเย็บด้วย stapler เพื่อดูว่า การใช้ stapler คุ้มค่าหรือไม่ แพงกว่าหรือถูกกว่ากัน ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดมีเหมือนกันหรือไม่ โดยผลการศึกษาพบว่า ราคาโดยรวมไม่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือ คนไข้ที่ใช้มือเย็บมีภาวะลมรั่วมากกว่ากลุ่มที่ใช้ stapler อย่างมีนัยสำคัญ

อ.นพ.อภิชาติ เสริมว่า แม้ผลการศึกษาไม่ได้แสดงชัดเจนในเชิงสถิติถึงความแตกต่าง ระหว่างระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลและระยะเวลาการผ่าตัดของการเย็บปอดด้วยมือ และการใช้ stapler แต่มีแนวโน้มว่า คนไข้กลุ่มที่ใช้ stapler จะนอนโรงพยาบาลน้อยกว่าและใช้ระยะเวลาการผ่าตัดสั้นกว่า เมื่อใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดและพักฟื้นน้อยกว่า โรงพยาบาลก็สามารถรับคนไข้เข้าผ่าตัดในหนึ่งวันได้มากขึ้น ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลน้อยกว่า โรงพยาบาลก็รับคนไข้เข้านอนได้มากขึ้น”

 

“เมื่อทำการวิจัยไปช่วงหนึ่งก็ทราบว่า สปสช. ได้ นำ stapler มาอยู่ในสิทธิประโยชน์ ก็ดีใจ และพยายามจะทำการวิจัยต่อไป เพราะค่าใช้จ่ายการใช้ stapler ยังไม่ครอบคลุมคนไข้ที่อยู่ในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และประกันสังคมบางแห่ง หรือบางแห่งยังเบิกได้น้อย ฉะนั้นผลการวิจัยตรงนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนนโยบายของ สปสช. และควรพิจารณานำการใช้ stapler เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพอื่นๆทั้งหมดในประเทศไทย เพื่อลดค่าใช้จ่ายของคนไข้” อ.นพ.อภิชาติ กล่าว

นายแพทย์ชูศักดิ์ เกษมศานติ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทรวงอก สถาบันโรคทรวงอก ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า “ศัลยแพทย์ทรวงอกทั่วไปทราบว่ามีเครื่องมือชนิดนี้ โดยเฉพาะศัลยแพทย์รุ่นใหม่ๆ แต่พบว่าแพทย์ยังไม่นิยมใช้เนื่องจาก ประเด็นแรก ศัลยแพทย์รุ่นเก่ามีความคุ้นเคยกับการเย็บด้วยมือ มีความเชื่อมั่นว่าการเย็บด้วยมือดีกว่า เป็นเรื่องของศิลปะ ถ้าใครเย็บด้วยมือไม่ได้ถือว่าไม่มีศิลปะ ทำให้ไม่มีความพยายามที่จะใช้ของใหม่ๆ ประเด็นที่สองคือ ถึงแม้ศัลยแพทย์ทรวงอกรุ่นใหม่ๆ ทราบว่าเทคโนโลยีนี้ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น แต่ข้อเสียก็คือ มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และสิทธิในการเบิกจ่ายต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้แพทย์เกรงว่าค่าใช้จ่ายจะเป็นภาระของคนไข้ แต่งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมของการใช้สองวิธีนี้ไม่แตกต่างกัน”

อ.นพ.อภิชาติ ตันตระวรศิลป์ เสริมว่า “หากการเย็บปอดด้วย stapler เป็นการรักษามาตรฐาน นั่นหมายถึงว่าไม่ว่าจะเป็นหมอจบใหม่หรือหมอที่มีประสบการณ์ ก็จะเย็บได้เหมือนกัน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ลดภาวะลมรั่วได้ เพราะว่าเป็นเครื่องมือที่ลดปัญหาจากความแตกต่างของทักษะการเย็บไปได้ ส่วนลูกแม็กของ stapler ทำมาจากไทเทเนียม หลังเย็บแล้วก็จะติดตัวคนไข้ไปตลอดไม่สามารถสลายเองได้ แต่ก็ไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาอันตรายต่อร่างกายผู้ป่วยแต่อย่างใด”

20 ตุลาคม 2555

Next post > ปัญหาที่พบบ่อยในศูนย์เด็กเล็ก

< Previous post ปัญหาสายตาเด็ก ที่ผู้ใหญ่ไม่ใส่ใจ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ