logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ปัญหาสายตาเด็ก ที่ผู้ใหญ่ไม่ใส่ใจ

เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตา ควรได้รับโอกาสในการตรวจรักษาเพื่อให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสในการพัฒนาอย่างเท่าเทียม แต่หากระบบสุขภาพ ระบบการศึกษา หรือแม้แต่ครอบครัวเอง ไม่สามารถระบุได้ว่าเด็กเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือ ไม่เพียงแต่เขาเหล่านั้นจะถูกละเลย แต่อาจหมายถึงการทำลายอนาคตของเด็กคนหนึ่งโดยไม่รู้ตัว

 

เรื่องราวของเด็กชายปิ๊ก (นามสมมติ) น่าจะเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงปัญหาดังกล่าว ปิ๊กอายุ 7 ขวบ เขาถูกครูตีเป็นประจำ เพราะไม่สามารถทำตามคำสั่งครูได้ ครูสรุปว่าเป็นเพราะปิ๊กไม่ตั้งใจเรียน เมื่อปิ๊กทำผิดพลาดเป็นประจำครูจึงสรุปว่าปิ๊กเป็นเด็กโง่ ปิ๊กอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาดูแลพัฒนาการหรือสอนการบ้าน เพียงเห็นว่าลูกสามารถกินได้ นอนหลับ ดูแลตัวเองได้ก็เพียงพอ แม้จะเห็นว่าปิ๊กมักมีอุบัติเหตุชนโน่นชนนี่อยู่บ่อยๆ แต่พ่อแม่ก็ไม่ได้ฉุกคิด เพราะคิดว่าเป็นเด็กซน ทั้งครูและพ่อแม่ต่างคิดว่าปิ๊กโง่ พวกเขาไม่เคยรู้ว่าปิ๊กมองไม่ชัดมาตั้งแต่เกิด ปิ๊กไม่เคยได้รับการตรวจวัดสายตาและไม่เคยรู้ว่าการที่ตัวเองมองไม่ชัด เป็นความผิดปกติ เพราะภาพรอบตัวที่ไม่ชัดเจน เป็นภาพที่ปิ๊กเห็นมาตั้งแต่จำความได้

 

ในความเป็นจริงมีเด็กแบบปิ๊กอีกหลายคน ที่ถูกตัดสินว่าโง่ ทั้งๆ ที่สมองปกติดีทุกอย่าง แม้ระบบตรวจคัดกรองทารกแรกคลอดเบื้องต้นในปัจจุบัน มีการตรวจตาเข ตาเหล่ รวมทั้งอนามัยบางแห่งให้บริการตรวจวัดสายตาเด็ก อย่างไรก็ดี ยังพบปัญหาขาดเครื่องมือมาตรฐานสำหรับตรวจวัดสายตาเด็กเล็ก ขาดแคลนจักษุแพทย์เด็ก รวมทั้งไม่มีระบบสนับสนุนแว่นตากับเด็กในชุดสิทธิประโยชน์ ด้วยปัญหาเหล่านี้ ประเทศไทยควรมีระบบตรวจคัดกรองความผิดปกติทางสายตาของเด็กอย่างไร จึงจะช่วยให้เด็กอย่างปิ๊กไม่ถูกละเลย

 

พัฒนาการของหนู คุณครูช่วยได้

โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมกับ คณะทำงานโครงการส่งเสริมสุขภาพตา กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการให้ครูเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางสายตาของเด็กในเบื้องต้น ในโครงการนำร่อง 4 จังหวัด คือ นครพนม สมุทรปราการ ลำพูน และสุราษฎร์ธานี  และพบว่าครูประจำชั้นในระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาที่ได้รับการอบรมการตรวจคัดกรองเบื้องต้น สามารถช่วยค้นหาเด็กที่มีความผิดปกติทางการมองเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งต่อให้จักษุแพทย์เด็กเพื่อวินิจฉัยและรักษา รวมทั้งสนับสนุนแว่นตาให้กับเด็กที่ต้องการ

 

โครงการคัดกรองความผิดปกติทางสายตาของเด็กในเบื้องต้นนี้ นับเป็นรูปแบบที่เหมาะสมในบริบทของประเทศไทย และเป็นข้อเสนอให้ผู้กำหนดนโยบายนำไปพิจารณา เพราะการมองเห็นเป็นหนึ่งในพัฒนาการที่สำคัญของเด็ก นอกจากนั้นการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการพัฒนาก็เป็นสิ่งที่เด็กทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม หากมีการวางระบบดังกล่าวอย่างทั่วถึง ประชากรไทยราว 1 แสนคน อาจไม่ต้องกลายเป็นคนตาบอดหรือมีพัฒนาการล่าช้า เพราะได้รับการรักษาทันท่วงที หลังจากที่ปิ๊กได้รับการตรวจและส่งต่อให้จักษุแพทย์ ครูประจำชั้นก็พูดด้วยน้ำเสียงระคนเศร้าว่า “หลงตีมาตั้งนาน ไอ้เราก็นึกว่ามันโง่ ที่ไหนได้ มันมองไม่เห็น”

20 ตุลาคม 2555

Next post > วิจัยพบ เย็บปอดด้วยแม็กไม่ต่างจากเย็บด้วยมือ ช่วยย่นเวลาผ่าตัดและพักฟื้น ...คนไข้บัตรทองเบิกได้!

< Previous post โรคทางพันธุกรรม สุดแล้วแต่เวรกรรมจริงหรือ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ