ผ้าอ้อมผู้ใหญ่: เติมเต็ม…ชีวิตผู้พิการ
กว่า 7 ปีที่ สัญญา ครองสถาน ประธานกลุ่มผู้พิการ จ.นครปฐม ต้องปรับตัวเพื่อผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก หลังจากประสบอุบัติเหตุ ร่างกายของเขาตั้งแต่ลำคอเรื่อยลงไปไร้ความรู้สึก
แม้ในช่วงแรก จะเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลง เมื่อเวลาผ่านไปความเจ็บปวดทางใจค่อยๆ ลดลง แต่ยังคงกลับมารบกวนเป็นระยะๆทุกครั้งที่นึกถึงสภาพร่างกายที่พิการและอนาคตที่มืดมน เขาเพียงแค่ยอมรับมัน และต้องการให้ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ไม่ลำบากลำบนจนเกินไป “ผมอยากออกไปไหนได้เหมือนคนทั่วไป แต่ก็มีปัญหาควบคุมการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้เลย ถ้าปล่อยให้เลอะเทอะก็อายจนไม่กล้าออกจากบ้าน”
เขาไม่ได้อับอาย ที่มีร่างกายแตกต่างจากคนอื่นๆ แต่ทนไม่ได้ และรู้สึกไม่ดีเอามากๆ หากปล่อยอุจจาระ ปัสสาวะเรี่ยราด ส่งกลิ่นเหม็น แม้เขาจะใช้สายสวนปัสสาวะ แต่ก็ไม่สะดวกสบายอย่างที่คิด เพราะสายสวนมักดึงรั้งอวัยวะ “ผมใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่วันละ 2 ผืน ถึงแม้จะร้อนแต่ก็สบายใจกว่า ไม่มีกลิ่นเหม็น ถ้าท้องเสียก็ใช้มากหน่อยวันละประมาณ 3 ผืน”
ราคาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในท้องตลาดแพงมาก สัญญาต้องจ่ายค่าผ้าอ้อมเดือนละหลายพันบาท แม้จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายกับครอบครัว เพราะเขาไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ แต่เขาจำเป็นต้องใช้เพราะทำให้มั่นใจมากขึ้นทั้งในเรื่องกลิ่นและแผลกดทับ จึงพร้อมที่จ่ายเงินเพื่อแลกกับสิ่งเหล่านั้น
ยังมีผู้พิการที่กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้เหมือนสัญญา อีกประมาณ 363,000 ราย ตามการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และมีผู้พิการจำนวนไม่น้อย ที่เข้าไม่ถึงผ้าอ้อมผู้ใหญ่ด้วยปัญหาค่าใช้จ่าย ผู้พิการหลายรายต้องมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง จากความเครียด ความอับอายและความไม่มั่นใจจากการกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้จนเกิดผลกระทบที่ตามมาอีกหลายด้าน
ทุกข์ผู้พิการสู่งานวิจัย
ทุกข์ของผู้พิการกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้ และเข้าไม่ถึงผ้าอ้อมผู้ใหญ่ถูกผลักดันจากภาคประชาชนมายังคณะทำงานคัดเลือกหัวข้อปัญหาสุขภาพและเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อเข้าสู่การประเมิน ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
การคัดเลือกหัวข้อเพื่อทำวิจัย “การประเมินความคุ้มค่าแผ่นรองซับปัสสาวะและอุจจาระ ผ้าอ้อมในผู้พิการและผู้สูงอายุ” ซึ่งจะนำไปสู่พัฒนาสิทธิประโยชน์ไม่ใช่เรื่องง่าย ทพญ.อุษณา ตัณมุขกุล ซึ่งได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแล งานวิจัยดังกล่าว เล่าว่า แม้หัวข้อวิจัยจะเป็นข้อเสนอของผู้ป่วย ผู้พิการ แต่การคัดเลือกหัวข้อวิจัยเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ต้องผ่านคณะทำงานคัดเลือกหัวข้อวิจัยที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ กลุ่มผู้ป่วย รวมไปถึงภาคเอกชนจนกว่าจะได้ข้อสรุป
คณะอนุกรรมการคัดเลือกหัวข้อวิจัยจาก 17 หัวข้อวิจัย เหลือเพียง 5 หัวข้อ โดยการวิจัยผ้าอ้อมเป็น 1 ในหัวข้อวิจัยที่ได้รับคัดเลือก ให้ทำการศึกษาในรอบที่ 1 ปี พ.ศ. 2553 “หัวข้อวิจัยผ้าอ้อมผู้ใหญ่ได้คะแนนได้ก้ำกึ่ง แต่คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าเป็นคนกลุ่มด้อยโอกาส เพราะเป็นผู้พิการและผู้สูงอายุจึงเห็นว่าควรทำการศึกษาวิจัย”
เรื่องไม่ “หมู” ของผ้าอ้อม
การผ่านด่านคัดเลือกหัวข้อวิจัยว่ายากแล้ว แต่การคัดเลือกผ้าอ้อมเพื่อทำวิจัยก็ไม่ได้หมูอย่างที่คิด
จากการสำรวจตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ตามท้องตลาด ทีมวิจัยของ ทพญ.อุษณา พบว่า ผลิตภัณฑ์รองรับปัสสาวะอุจจาระที่ขายอยู่มีหลายประเภทและหลากยี่ห้อ มีเพียง 7 ยี่ห้อเท่านั้นที่ได้รับความนิยม เกือบทั้งหมดเป็นผ้าอ้อมนำเข้าจากต่างประเทศ และมีเพียงยี่ห้อเดียวที่ผลิตในประเทศ น่าแปลกใจที่ทั้งหมดไม่มีมาตรฐาน มอก.เพื่อรับรองคุณภาพ เรื่องไม่หมูของผ้าอ้อม จึงเริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่กระบวนเลือกชนิดผ้าอ้อมในการวิจัยเพื่อให้เหมาะกับผู้ใช้มากที่สุด รวมไปถึงต้องใช้ได้กับคนจำนวนมาก
จากการปรึกษาผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้พิการเอง และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สุดท้ายทีมวิจัยเลือกใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่แบบมีแทบกาว แต่ด้วยปัญหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่แบบแถบกาวไม่มีมาตรฐาน มอก.ทำให้ทีมวิจัยต้องหาวิธีประเมินประสิทธิภาพด้วยวิธีอื่นเพื่อเลือกผ้าอ้อมที่ดีที่สุดมาใช้ในการศึกษาวิจัย
จากการสำรวจข้อมูลทั้งในและต่างประเทศเพื่อประเมินคุณภาพผ้าอ้อม พบว่ามีหลายวิธี บางวิธีต้องใช้อุปกรณ์และเทคนิคพิเศษ ในที่สุดต้องเลือกวิธีการที่ไม่ยุ่งยากแต่เชื่อถือได้ คือการนำเอาผ้าอ้อมที่มีทั้งหมด 7 ยี่ห้อมาเปรียบเทียบโดยการชั่งน้ำหนักก่อนหลัง เพื่อวัดความจุของเหลวเปรียบเทียบกับราคา
ในที่สุดก็สามารถเลือกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่จุของเหลวได้มากที่สุด ราคาถูกที่สุดมาใช้ในการทำวิจัย ซึ่งเป็นผ้าอ้อมที่ผลิตในประเทศ ราคาไม่แพง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้พิการ ในการติดตามของศูนย์สิรินธรเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และกองเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.พระมงกุฏเกล้าจำนวน 90 ราย
เติมเต็ม สิ่งที่หายไป
กว่า 10 สัปดาห์ในการติดตามเพื่อประเมินผลประสบการณ์การและคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากการใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ทีมวิจัยได้สนับสนุนผ้าอ้อมตามความต้องการและจำเป็นของผู้พิการ บางรายได้รับ 2 ผืนต่อวัน บางรายได้ 6 ผืนต่อวัน
ทีมวิจัยได้แบ่งช่วงเวลาการลงพื้นที่ ติดตามผลการใช้ผ้าอ้อมกับผู้ป่วยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงคือ สัปดาห์แรก และพบกันอีกครั้งในสองสัปดาห์ต่อมา 6สัปดาห์ กระทั่งสัปดาห์ที่ 10 คือการพบกันครั้งสุดท้าย
ความแตกต่างของคุณภาพชีวิตเกิดขึ้นชัดเจนนับจากสัปดาห์แรกที่ผู้ป่วยได้รับผ้าอ้อมเพียงพอต่อการใช้งาน จากเดิมที่ผู้ป่วยบางรายมีผ้าอ้อมใช้จำกัดวันละ 2 ผืนเพราะกำลังทรัพย์มีจำกัด ก็มีผ้าอ้อมใช้มากขึ้น และผู้ป่วยบางรายที่ไม่มีผ้าอ้อมต้องใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองอุจจาระ ปัสสาวะ หรือใช้ถุงพลาสติกแทนถุงใส่ปัสสาวะก็เข้าถึงผ้าอ้อมมากขึ้น
หลัง 10 สัปดาห์ ทีมวิจัยได้ประเมินผลการศึกษาวิจัยโดยใช้แบบสอบถามเพื่อวัดระดับคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งพบความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น โดยผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น สามารถเข้าร่วมกิจกรรมและสามารถร่วมกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้น ที่สำคัญคือผู้ป่วยต่างตอบคำถามไปในทิศทางเดียวกันว่า การได้รับสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ทำให้คลายความกังวลต่อปัญหาค่าใช้จ่าย และรู้สึกไม่เป็นภาระผู้อื่น รวมไปถึงมั่นใจมากขึ้นในการเข้าร่วมสังคม
ผลวิจัยระบุชัดว่า คุณภาพชีวิตผู้พิการดีขึ้น และเมื่อประเมินความคุ้มค่าต่อหนึ่งปีที่มีสุขภาพแข็งแรงจะใช้เงินประมาณ 5 หมื่นบาทต่อคน อย่างไรก็ดี เมื่อรวมงบประมาณที่ต้องจ่ายให้ผู้พิการที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมกว่า 3.6 แสนคน ทำให้กลายเป็นงบก้อนมหาศาล “รัฐต้องใช้งบประมาณสองหมื่นล้านต่อปี ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่มากและไม่ใช่จ่ายเพียงครั้งเดียวแล้วจบแต่ต้องตั้งงบประมาณเพื่อคอยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง”
รัฐต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย
แม้ผลงานวิจัยจะชี้ว่า ผู้พิการรู้สึกมีความสุข คลายกังวล จากการลดค่าใช้จ่าย และมั่นใจจากปัญหากลิ่น และอุจจาระ ปัสสาวะเลอะเทอะ จนเข้าร่วมสังคมได้ แต่เมื่อประมวลภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากทำให้คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีข้อถกเถียงกันในหลายประเด็น ทั้งเรื่องขยะจากผ้าอ้อมที่จะมีจำนวนมากขึ้นนำไปสู่ภาระในการกำจัดในอนาคต
ท้ายที่สุด คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าเรื่องเพิ่มคุณภาพชีวิตคนพิการไม่ใช่แค่การให้ผ้าอ้อมแต่เพียงอย่างเดียว แต่การเพิ่มรายได้ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นหน่วยงานด้านสังคมน่าจะมีส่วนเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ด้วย ประกอบกับประเด็นที่คณะอนุกรรมการ เห็นร่วมกัน คือภาระงบประมาณจำนวนมากที่รัฐต้องแบกรับ ทำให้การสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ตกไป
อย่างไรก็ตามแพทย์และพยาบาลหลายท่านเห็นว่าควรช่วยให้ผู้พิการที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างลดการพึ่งพาผ้าอ้อม โดยการฝึกควบคุมอุจจาระ ปัสสาวะด้วยตัวเอง น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะที่ผ่านมามีผู้พิการจำนวนไม่มากเข้าร่วมฝึกหัด
แม้การสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่จะทำให้ผู้พิการอย่าง “สัญญา” ยิ้มได้ แต่ภาระงบประมาณที่รัฐต้องแบกรับจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนพร้อมจะเข้าใจ
Reference: โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ. ผ้าอ้อมผู้ใหญ่: เติมเต็ม…ชีวิตผู้พิการ. สุขร่วมสร้าง โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์กับการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนในสังคม 2550: 30-39