logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ภัยใกล้ตัวผู้สูงวัย “โรคหลอดเลือดสมอง – พลัดตกหกล้ม” ป้องกันได้ง่ายนิดเดียว

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีบุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยหลายคนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง บ้างตีบ บ้างแตก แต่โรคนี้ ร่วมกับอาการพลัดตกหกล้ม คุกคามชีวิตผู้สูงอายุในไทยมานาน  ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวทั้งที่เราทุกคนสามารถป้องกันได้

จากงานวิจัย การศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เหมาะสม สำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย” ของ HITAP มีการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า “อาการพลัดตกหกล้มและโรคหลอดเลือดสมอง” เป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ผู้สูงวัยต้องใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งที่ป้องกันได้หากควบคุมปัจจัยเสี่ยง และหากผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วภายใต้ระบบการบริการที่เหมาะสม จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ (รายงานวิจัยฉบับเต็มสามารถอ่านได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/171376)

“โรคหลอดเลือดสมอง” และ “อาการพลัดตกหกล้ม” อาจอยู่ใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด ในงานวิจัยพบว่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินในกลุ่มผู้สูงอายุทั้งในและต่างประเทศมีการจัดบริการ 4 ด้านได้แก่ การป้องกันก่อนเกิดเหตุ, การดูแล ณ จุดเกิดเหตุ, การดูแลรักษาในโรงพยาบาล และการดูแลรักษาระหว่างการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น HITAP จึงขอเสนอแนวทางป้องกันก่อนเกิดเหตุเหล่านี้กับคุณหรือคนที่คุณรัก

 

ป้องกันก่อนเกิดและประเมินเมื่อสงสัยว่าเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง

ในประเทศไทยมีคู่มือที่ใช้ในการป้องกันโรคหลอดเลือดในสมองอยู่หลายแบบด้วยกัน ต่อไปนี้เป็นแนวทางที่เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของคู่มือการประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุข (2559) (สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่ https://goo.gl/pFpYFv)

  • รู้จักปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้เพื่อเฝ้าระวัง ผู้ชายอายุเกิน 45 ปี ผู้หญิงอายุเกิน 55 ปี มีความเสี่ยงจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะถ้ามีปัจจัยด้านพันธุกรรมคือพ่อแม่พี่น้องสายตรงมีประวัติป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • ลดปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้เพื่อป้องกัน กินมากเกินพอดีไม่ถูกสัดส่วน กินอาหารรสเค็ม หวานและมันสูง กินผักผลไม้น้อย ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกมากเกินไปจนร่างกายเคลื่อนไหวน้อยเกิน สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ใส่ใจ 3 อ บอกลา 2 ส ใส่ใจอ.อาหาร ลดอาหารไขมันสูง ลดอาหารเค็มหรือมีเกลือโซเดียมสูง ใส่ใจอ.ออกกำลังกาย เดินเร็วอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ใส่ใจอ.อารมณ์ หาวิธีผ่อนคลายลดความเครียด นอนพักผ่อนหรือพบปะเพื่อนฝูง บอกลาส. สูบบุหรี่ โทรปรึกษา 1600 หรือปรึกษาสถานบริการสาธาณสุขใกล้บ้าน บอกลาส.สุรา ลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ประเมินอาการเมื่อสงสัยว่าเกิดโรคเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาทันท่วงที ดูได้จากอาการเตือน F-A-S-T ได้แก่ Face เวลายิ้มมุมปากข้างหนึ่งตก Arms ยกแขนไม่ขึ้น 1 ข้าง Speech พูดแม้ประโยคง่าย ๆ คนก็ฟังไม่รู้เรื่อง Time หากมีอาการเหล่านี้รีบไปโรงพยาบาลโดยด่วนภายใน 4 ชม.

 

ป้องกันอาการพลัดตกหกล้ม

อาการพลัดตกหกล้มหรือการหกล้มของผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องใหญ่ ผลที่ตามมาอาจถึงขั้นเสียชีวิต ร้อยละ 20 – 30 ของการล้มเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บรุนแรงเช่น กระดูกหัก บาดเจ็บศรีษะและสมอง ทว่าอาการดังกล่าวก็มีแนวทางป้องกันอยู่มากมายเช่นกัน ต่อไปนี้คือแนวทางป้องกันจากคู่มือการดูแลผู้สูงวัย: เดินดีไม่มีล้ม (2559) (อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่ http://resource.thaihealth.or.th/library/hit/16189)

  • รู้ปัจจัยเสี่ยงภายในเพื่อเฝ้าระวัง ปัจจัยเสี่ยง คือ มีประวัติการล้มในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การเดินและทรงตัวผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน ข้อเสื่อมหรือข้ออักเสบ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงจากอายุที่มากขึ้นและโรคต่าง ๆ มีความบกพร่องในการมองเห็น อาจเป็นโรคต้อกระจก ต้อหิน การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไปในแต่ละวัน มีภาวะบกพร่องในการกลั้นปัสสาวะทำให้มักจะต้องรีบเข้าห้องน้ำ ได้รับยาหลายชนิดพร้อมกันซึ่งยาบางประเภทส่งผลต่อการทรงตัว มีภาวะโรคที่ส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ
  • รู้จักปัจจัยภายนอกสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันได้ สิ่งแวดล้อมไม่ปลอดภัย พื้นทางเดินเปียกลื่น มีพื้นต่างระดับขรุขระ มีสายไฟบนพื้น มีพรมเช็ดเท้า สิ่งของวางเกะกะ แสงสว่างไม่เพียงพอ ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ ห้องน้ำไม่มีราวเกาะ บันไดแคบและชันไม่มีราวจับหรือมีเพียงด้านเดียว เครื่องแต่งกายไม่พอดีตัว เสื้อผ้าหลวมรุ่มร่าม รองเท้าหลวมพื้นลื่นชำรุด เลนส์แว่นตาไม่พอดีกับสายตา สิ่งแวดล้อมภายนอกพลุกพล่านเสี่ยงต่อการถูกชนหรือกระแทก
  • ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายเพื่อพัฒนาความสามารถในการทรงตัว ป้อนกันการล้ม โดยสามารถทำท่าง่าย ๆ ร่วมกับเก้าอี้เป็นหลัก เช่น ท่าเขย่งส้นเท้าโดยใช้มือจับพนักเก้าอี้ไว้ ท่าเหยียดเข่าโดยนั่งบนเก้าอี้แล้วยื่นเหยียดเท้าไปด้านหน้า สามารถรับชมคลิปท่าออกกำลังกาย “ยากันล้มฉบับง่าย” ได้ที่นี่
  • ประเมินความเสี่ยงการล้ม มีหลายวิธีที่ต้องทำควบคู่กันเพื่อให้รู้ถึงระดับความเสี่ยงซึ่งจะช่วยให้สามารถตัดสินใจในการป้องกันได้โดยมีด้วยกัน 3 แบบทดสอบดังนี้
    • ทดสอบยืนบนขาข้างเดียว หากยืนได้น้อยกว่า 5 วินาทีถือว่ามีความเสี่ยง
    • ทดสอบท่ายื่นมือ ให้ผู้สูงวัยยืนตรงยื่นมือข้างที่ถนัดค้างไว้จากนั้นให้เอื่อมไปข้างหน้าเอื่อมได้น้อยกว่า 6 นิ้วหรือ 15 ซม.ถือว่ามีความเสี่ยงในการล้ม
    • ทดสอบด้วยการนั่ง ลุก ยืน เดิน โดยให้ผู้สูงวัยนั่งที่เก้าอี้ ลุกโดยไม่ใช้มือพยุง เดินเป็นระยะ 3 เมตรอ้อมวัดถุที่วางไว้ แล้วกลับมานั่งให้เร็วที่สุด โดยผู้ประเมินควรจับเวลาเดินตามเพื่อป้องกันด้วย หากใช้เวลามากกว่า 20 วินาที ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการล้ม
  • รู้ว่าเสี่ยงต้องใช้เครื่องช่วยเดิน เครื่องช่วยเดินมีอยู่หลากหลายชนิด โครงช่วยเดิน 4 ขาแบบไม่มีล้อ เหมาะสำหรับผู้สุงอายุที่ประเมินพบว่าเสียงล้มสูงจากทั้ง 3 แบบทดสอบ 2. ไม้เท้า สำหรับผู้สูงอายุที่ประเมินพบว่าเสี่ยงล้มสูงใน 1 – 2 แบบทดสอบ 3. รถเข็น สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินได้อย่างปลอดภัย

การแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันรวมอยู่ในบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ที่มีให้บริการกับทุกช่วงวัย ผลจากงานวิจัยได้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยแนะนำให้หลายหน่วยงานในระดับส่วนกลางร่วมกันพัฒนาบุคลากรจากเดิมที่มีอยู่แล้วโดยให้มีการฝึกอบรมเพื่อให้มีความรู้และทักษะเกี่ยวกับเวชศาสตร์ฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ ควรมีการสนับสนุนงบประมาณ มีการวางแผนจัดสรรทรัพยากรบุคคล พัฒนาฐานข้อมูลการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลให้มีความถูกต้องเชื่อมโยงกัน บางหน่วยงานต้องปรับบทบาท มีกฎหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานโดยเฉพาะ นอกจากนี้ในระดับพื้นที่ควรมีการให้ความรู้เพื่อป้องกันโรคเหล่านี้รวมถึงการแจ้งเหตุฉุกเฉินกับผู้สูงวัยและผู้ดูแล และควรมีระบบการให้ความรู้ที่เหมาะกับแต่ละชุมชนโดยต้องมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ให้แก่อาสาฉุกเฉินในชุมชนอย่างน้อยปีละ 1 – 2 ครั้ง สามารถติดตามอ่านรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/171376

4 กันยายน 2561

Next post > “เวชศาสตร์เชิงประจักษ์” เมื่อหลักฐานพิฆาตความเชื่อบนพื้นที่ของการรักษา

< Previous post เพิ่มคนสูบบุหรี่ เพิ่มต้นทุนสังคมอย่างไร? คุ้มค่าหรือไม่?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ