logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ย้อนบทเรียน “ผ่าเต้านม เลาะซี่โครง ตัดต่อมน้ำเหลือง” เพื่อรักษามะเร็งเต้านม

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมทำได้หลายวิธี แต่รู้หรือไม่ ในอดีต การรักษามะเร็งเต้านมนั้นเน้น “ใช้วิธีแรงเข้าว่า” อย่างการตัดเต้านมแบบถอนราก (radical mastectomy) ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยใช้กันแล้ว หรือวิธีที่เรียกได้ว่า “อัดยา” ที่เป็นอันตรายสูงเข้าไปในร่างกาย เพราะเชื่อว่า ยิ่งการรักษารุนแรง ยิ่งเป็นพิษมาก ยิ่งกำจัดมะเร็งได้มาก แต่วิธีคิดแบบ “ยิ่งมากยิ่งดี” นี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายเกินจำเป็น

เรื่องราวต่อไปนี้เป็นอีกกรณีหนึ่งจากหนังสือ Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” ที่แสดงให้เห็นผลร้ายจากการรักษา ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกินจำเป็นภายหลังเมื่อมีการตรวจสอบการรักษา

 

การรักษายิ่งรุนแรงอาจไม่มีประโยชน์ และอาจมีโทษมากกว่า

การผ่าตัดเต้านมแบบถอนรากคิดค้นขึ้นโดยวิลเลียม ฮาลสเต็ด และกลายเป็นวิธีการรักษาที่นิยมใช้กันมากที่สุดในช่วงปี 1975 โดยนอกจากแพทย์จะตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลืองออกดังที่คุ้นเคยกันในปัจจุบันแล้ว ยังมีการตัดกล้ามเนื้อหน้าอกออกด้วย หากความเลยเถิดของการผ่าตัดจบลงตรงนั้นก็คงยังพอทำเนา แต่มีหลักฐานว่าการผ่าตัดของแพทย์บางรายในสมัยนั้นกลับถึงขั้นเลาะซี่โครงผู้ป่วยออกเพื่อให้ตัดต่อมน้ำเหลืองเพิ่มได้อีก รวมถึงตัดต่อมต่าง ๆ ทั่วร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนซึ่งเชื่อกันว่าทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต!

แนวคิดแบบ “ยิ่งรุนแรงยิ่งดี” ที่ทำให้เกิดการตัดเต้านมแบบถอนรากนั้นเกิดจากความเชื่อที่ว่ามะเร็งลุกลามอย่างมีแบบแผน เริ่มจากเนื้องอกที่บริเวณเต้านมไปยังต่อมน้ำเหลืองและรักแร้ เป็นเหตุให้เชื่อว่ายิ่งตัดต้นตอของเซลล์มะเร็งเร็วและรุนแรงเท่าไรก็ยิ่งกำจัดมะเร็งได้สิ้นซากขึ้นเท่านั้น

 

แต่ในภายหลัง ความเชื่อนี้ก็ถูกตีตกไป เพราะการศึกษามากมายยืนยันว่าเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปตามกระแสเลือดตั้งแต่ก่อนพบเนื้องอกที่บริเวณเต้านม นั่นแปลว่าการตัดเต้านม ต่อมน้ำเหลือง และกล้ามเนื้อหน้าอก หลังจากที่พบเนื้องอกแล้ว อาจสายเกินไป และมีการเสนอวิธีการผ่าตัดแบบไม่ต้องตัดเต้านม แต่ผ่าตัดออกเฉพาะเนื้อร้าย ปัจจุบันแนวทางการรักษาเปิดโอกาสให้แพทย์และผู้ป่วยมะเร็งเต้านมร่วมกันตัดสินใจได้ว่าจะใช้วิธีใดในการรักษา และหากจะการตัดเต้านม ก็มักใช้วิธีที่ไม่รุนแรงนัก ได้แก่ modified radical mastectomy แทน

การรักษามะเร็งเต้านมอีกวิธีหนึ่งที่เป็นผลมาจากแนวคิด “ยิ่งรุนแรงยิ่งดี” คือการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์  (stem cell) โดยแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดในปริมาณสูงมากชนิดทำลายไขกระดูกได้เข้าในร่างกายผู้ป่วยโดยหวังจะกำจัดมะเร็งให้หมด จากนั้นแพทย์จะนำไขกระดูกหรือเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เก็บจากร่างกายของผู้ป่วยไว้ล่วงหน้า ฉีดกลับคืนสู่ร่างกาย และหวังว่าไขกระดูกที่ฉีดกลับเข้าไปจะเจริญกลับมาแทนไขกระดูกที่ถูกทำลายไปทันก่อนผู้ป่วยจะเสียชีวิตเพราะติดเชื้อ!

ผู้ป่วยมากมายเรียกร้องที่จะเข้ารับการรักษานี้ แม้ว่าใน 100 คนที่รับการรักษา จะพบผู้เสียชีวิตถึง 5 คนรวมถึงสูญสิ้นทรัพยากรทางสุขภาพไปมหาศาล หลายปีต่อมาจึงได้มีการรวบรวมหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าวิธีการรักษานี้ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดที่ใช้กันทั่วไปในเวลานั้น

กรณีบทเรียนการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแบบถอนรากและปลูกถ่ายไขกระดูกนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการตั้งคำถามกับการรักษาเพราะวิธีคิดบางอย่างที่ดูสมเหตุสมผลอย่าง “ยิ่งมากยิ่งดี” “ยิ่งแรงยิ่งได้ผล” อาจกลายเป็นความเชื่อที่ผิดเมื่อนำมาใช้กับการรักษา

ผู้อ่านสามารถติดตามหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” ที่จะเผยแพร่เป็นภาษาไทย (ไม่มีการจัดรูปเล่ม) ให้อ่านฟรีทางเว็บไซต์ www.testingtreatments.org เร็ว ๆ นี้ หรือสั่งซื้อฉบับเล่มราคา 265 บาท (รวมค่าจัดส่ง) คลิก https://goo.gl/8DJSN1  , รู้จักหนังสือ Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย สามารถอ่านได้ที่นี่ https://www.hitap.net/172314

21 สิงหาคม 2561

Next post > เพิ่มคนสูบบุหรี่ เพิ่มต้นทุนสังคมอย่างไร? คุ้มค่าหรือไม่?

< Previous post 4 คำถาม !? สงสัยอย่างไรให้ “พอดี” และ “หายป่วย”

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ