logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ย้อนอดีต “น้ำส้มสายชู – กรดกำมะถัน” รักษา “ลักปิดลักเปิด”!? เหตุใดจึงต้องสงสัยการรักษา

เมื่อคิดถึงว่าในปัจจุบัน ใคร ๆ แม้แต่เด็กที่เพิ่งเข้าวัยเรียนก็รู้ว่าการกินผักผลไม้ที่มีวิตามินซีมาก ๆ จะช่วยป้องกันโรคลักปิดลักเปิด จึงยากที่จะจินตนาการถึงยุคที่ผู้คนไม่รู้ว่าจะป้องกันตัวจากโรคนี้อย่างไร จนโรคที่เราคุ้นชื่อดีนี้คร่าชีวิตไปมากมาย และใครจะนึกว่าผู้คนมากมายในอดีตเคยดื่มน้ำส้มสายชูเพื่อรักษาโรคนี้ ยังมีการรักษาอื่น ๆ ที่แปลกประหลาดและไม่ได้ผล ทว่าเพราะ “การตรวจสอบการรักษา” จึงทำให้รู้ว่าวิธีการรักษาใดได้ผล  จนช่วยชีวิตผู้คนได้มากมายมหาศาล

 

ย้อนไปในหลายร้อยปีก่อนหน้านี้ “โรคลักปิดลักเปิด” เป็นโรคร้ายที่การรักษายังคงเป็นปริศนา จนเมื่อยุโรปเข้าสู่ยุครุ่งเรืองแห่งการล่องเรือเดินทะเล กะลาสีเรือมากมายกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของโรคดังกล่าว มีความพยายามรักษาโรคนี้ให้หายด้วยวิธีต่าง ๆ กัน บ้างก็ได้ผลแต่หลายวิธีดูค่อนข้างจะน่ากังขาหากมองด้วยสายตาของคนยุคปัจจุบัน

 

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก หากเราอยู่ในโลกที่ไม่มีใครรู้หรือบอกได้ว่าวิธีใดได้ผล ทุกคนที่อ่านบทความอยู่ในขณะนี้ก็คงไม่รู้เช่นกันว่าจะป้องกันโรคที่แสนพื้นฐานนี้อย่างไร ลองจินตนาการว่าคุณเป็นกะลาสีเรือชาวอังกฤษ คุณจะทำตามไหมถ้าราชวิทยาลัยการแพทย์ในอังกฤษแนะนำให้คุณใช้กรดกำมะถันรักษาโรคนี้ คุณจะทำตามไหมหากกองทัพเรือบอกว่าน้ำส้มสายชูน่าจะใช้ได้ผล สถาบันเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือจนใครก็คงเชื่อได้โดยสนิทใจว่าคำแนะนำจากสถาบันเหล่านี้ย่อมถูกต้อง

 

แต่ด้วยองค์ความรู้ที่มีในปัจจุบัน คุณย่อมรู้ว่าคำแนะนำจากสถาบันทั้งสองนั้นผิดถนัด และใครเลยจะนับได้ถ้วนว่ามีกะลาสีเรือสักกี่คนที่ต้องเสียชีวิตเพราะคำแนะนำผิด ๆ นี้

 

คำถามสำคัญคือ แล้วทุกวันนี้คุณตกที่นั่งเดียวกับกะลาสีเรือชาวอังกฤษเหล่านั้นหรือไม่ ยามป่วยไข้คุณตัดสินใจอย่างไรว่าตัวคุณจะใช้การรักษาไหน จะเชื่อใครดี คุณเพียงใช้อะไรก็ได้ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำหรือเปล่า หรือว่าใช้วิธีที่คนใกล้ตัวบอกว่าได้ผล แล้วทุกวันนี้เรารู้ได้อย่างไรว่ากินผลไม้ที่มีวิตามินซีแล้วจะดี

 

ย้อนไปในปีค.ศ. 1747 เจมส์ ลินด์ ศัลยแพทย์ประจำเรือเอชเอ็มเอส ซอลส์บรีเลือกไม่เชื่อใครเลย แต่เลือกจะเชื่อข้อมูลที่เขาสร้างขึ้นมาเอง โดยรวบรวมผู้ป่วยโรคลักปิดลักเปิดที่มีความรุนแรงของโรคใกล้เคียงกันจำนวน 12 คน แล้วทำการทดลองโดยควบคุมให้อาหารพื้นฐานเหมือนกัน ต่างเพียงการรักษาที่ใช้กันในยุคนั้น 6 แบบ 1 ในวิธีรักษาที่ใช้กันอยู่คือให้กินส้ม 2 ผลกับมะนาว 1 ลูก และแน่นอนว่าผลทดลองออกมาดีที่สุด กองทัพเรืออังกฤษจึงจัดให้มีน้ำมะนาวติดเรือทุกลำ และโรคลักปิดลักเปิดก็หายไปก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 18

 

เพียงได้ข้อมูลที่ถูกต้องโรคลักปิดลักเปิดก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป แต่การจะรู้ว่าข้อมูลใดถูกต้องควรมีหลักฐานยืนยัน ผ่าน “การตรวจสอบการรักษา” หรือก็คือการทดลองเพื่อหาข้อมูลว่าการรักษาใดดีจริงหรือไม่นั่นเอง ปัจจุบันวิทยาการในการหาข้อมูลก้าวหน้าไปกว่าเมื่อศตวรรษที่ 18 มาก การแพทย์ในปัจจุบันก็ใช้ข้อมูลจากการทดลองมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ยิ่งขึ้นว่าการรักษาที่แนะนำให้ผู้ป่วยใช้นั้นดีต่อผู้ป่วย จึงเชื่อถือได้ยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็ต้องระวังไม่ให้ตนกลายเป็นเหมือนผู้คนในอดีตเหล่านี้ ด้วยการไตร่ตรองและสงสัยแต่พอดีว่าการรักษาใดเหมาะสมกับตน

 

เรื่องนี้เป็นกรณีหนึ่งจากหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” สะท้อนว่าการตรวจสอบการรักษานั้นเป็นสิ่งสำคัญตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการรักษาหลากหลายรูปแบบซึ่งสลับซับซ้อนยิ่งกว่า ความรู้ในการตรวจสอบการรักษาจากหนังสือเล่มนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าในอดีต

หากท่านผู้อ่านสนใจสามารถติดตามหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” ที่จะเผยแพร่เป็นภาษาไทยให้อ่านฟรีทางเว็บไซต์ www.testingtreatments.org เร็ว ๆ นี้ หรือสั่งซื้อฉบับเล่มราคา 265 บาท (รวมค่าจัดส่ง) คลิก https://goo.gl/8DJSN1  , รู้จักหนังสือ Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย สามารถอ่านได้ที่นี่ https://www.hitap.net/172314

19 กรกฎาคม 2561

Next post > 4 คำถาม !? สงสัยอย่างไรให้ “พอดี” และ “หายป่วย”

< Previous post การรักษาที่เราต้องสงสัย (3) : แม้อนุมัติแล้วก็ยังมีข้อควรระวัง

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ