logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ถอดวิธีคิด “ลำดับความสำคัญในถ้ำหลวง” ต้นทุน – เวลาและการช่วยชีวิตกับนโยบายสุขภาพไทย

ความสำเร็จของภารกิจช่วย 13 ชีวิตจากถ้ำหลวง ท่านกลางภาวะวิกฤติที่การช่วยชีวิตต้องแข่งกับเวลา วิธีคิดหนึ่งที่นำพาให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายได้ก็คือ “การจัดลำดับความสำคัญ” แม้ดูเป็นเรื่องง่ายแต่แท้จริงแล้ว การตัดสินใจเหล่านี้ยากแค่ไหน เรามาลองถอดบทเรียน ถอดวิธีคิดที่ต้นทุน – เวลาและการช่วย 13 ชีวิตเป็นกรณีตัวอย่างวิธีคิดสะท้อนมุมมองการลำดับความสำคัญของสาธารสุขไทยที่ช่วยชีวิตคนไทยทั้งประเทศ

 

ลำดับความสำคัญในถ้ำหลวง

“ตอนนี้เราทำสงครามกับเวลา และเชื่อว่าเด็ก ๆ มีชีวิตอยู่” คือคำพูดของณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่ขึ้นมาเป็นผู้ตัดสินใจท่ามกลางภาวะฉุกเฉิน

“เวลา” ดูจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการปฏิบัติภารกิจทั้งหมด หลังเกิดเหตุ 13 ชีวิตติดอยู๋ในถ้ำหลวง ขุมน้ำนางนอนท่ามกลางฤดูกาลฝนที่ยิ่งทำให้การช่วยชีวิตทำได้ยากยิ่งขึ้น ชุดปฏิบัติการถูกตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายสำคัญสูงสุดคือ “การช่วยชีวิต” วิธีคิดในการ “จัดลำดับความสำคัญ” ถูกขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังการทำงาน

อะไรบ้างที่สำคัญ จะเสียไปไม่ได้ และต้องทำก่อน และอะไรบ้างที่ตัดทิ้งไปได้ จึงจะรักษาชีวิตผู้เคราะห์ร้ายไว้ได้ในเวลาที่บีบคั้นขึ้นทุกทีเพราะการทำสิ่งหนึ่งอาจทำให้ไม่ได้ทำอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่า

ในโมงยามที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน แม้จะมีผู้เฝ้าติดตามข่าวมากเพียงใด แต่การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจึงมีความสำคัญรองลงมา ทีมงานจึงงดให้สัมภาษณ์และจัดแถลงข่าวเพียงวันละ 2 ครั้งเพื่อรายงานความคืบหน้าเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือค้นหาทั้ง 13 ชีวิตให้พบ

ในแง่ของกฎหมายเมื่ออยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤต การประกาศพื้นที่ภัยพิบัติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ทำให้มีการใช้กฎหมายเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่มีส่วนในการดำเนินงานทั้งด้านงบประมาณ กำลังคนตลอดจนการปฏิบัติภารกิจที่เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นสำคัญและ ณ เวลานั้น หากจำเป็นต้องละเมิดกฎบางข้อก็ต้องทำ และเพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีเวลาเป็นเงื่อนไขตัดสินชีวิต สิ่งที่สำคัญรองลงมาในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ หรือด้านสิ่งแวดล้อม เหล่านี้จำเป็นต้องรับผลกระทบ  ทั้งที่ในยามเหตุการณ์ปกติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งและไม่อาจละเมิดได้

สุดท้ายวิธีการที่พิจารณาแล้วว่าจะเหมาะสมที่สุด คือมีประสิทธิภาพมากที่สุดและใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่เสี่ยงชีวิตของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือโดยไม่จำเป็น ก็ถูกนำมาใช้จริง ทีมดำน้ำถูกส่งเข้าไปในถ้ำเพื่อเดินหน้าสำรวจ มีการเร่งระบายน้ำทั้งด้วยเครื่องสูบน้ำและเครื่องขุดเจาะบาดาล ด้วยความร่วมมือของชาวบ้านที่ยินดีให้ผันน้ำเข้าในที่นาของตนทั้งที่พืชผลจะเสียหาย ด้วยเห็นว่าชีวิตคนมีความสำคัญเหนือพืชผลที่ไถหว่านใหม่ได้

ลำดับความสำคัญที่ชัดเจนพาทีมค้นหาไปพบผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงได้ในที่สุด แม่น้ำอาจกลายเป็นสีดินโคลน แต่ทั่วโลกต่างยิ้มย่องผ่องใสด้วยความยินดี และพร้อมจะเป็นกำลังใจให้ทีมค้นหาทำภารกิจใหม่ที่มีลำดับความสำคัญอยู่ที่ “พาทุกคนออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัย” ให้สำเร็จต่อไป

ภารกิจช่วย 13 ชีวิตในถ้ำหลวงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย วิธีคิดเรื่องการจัดลำดับความสำคัญซึ่งช่วยให้ภารกิจลุล่วงเป็นสิ่งที่ใช้ได้กับหลายสถานการณ์ รวมถึงภารกิจของนโยบายสุขภาพระดับประเทศที่มุ่งช่วยชีวิตคนไทย

ลำดับความสำคัญกับนโยบายสุขภาพไทย

การเลือก “ทำ” และ “ไม่ทำ” สิ่งต่าง ๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นหลายส่วน แต่ก็มีฐานคิดและผลลัพธ์คล้ายกัน นั่นคือการลำดับความสำคัญที่ชัดเจนโดยยึด “เป้าหมาย” เป็นหลัก และนี่คือความยอดเยี่ยมของทีมปฏิบัติการถ้ำหลวง เพราะภารกิจอาจไม่สำเร็จหากเลือกผิด ในมุมของนโยบายสาธารณสุขไทยก็เช่นกัน

แล้ว “เป้าหมาย” ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคืออะไร? คำตอบคือประชาชนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมโดยถ้วนหน้า ดังนั้นนโยบายมากมายจึงไม่สามารถช่วยเหลือเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ และในทางกลับกันก็ไม่สามารถทอดทิ้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้ปราศจากการช่วยเหลือได้ด้วย แต่ในเมื่อมีงบประมาณและบุคลากรจำกัด ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงต้องจัดลำดับความสำคัญอย่างรอบคอบ ว่าอะไรคือการรักษาที่ “เหมาะสม” กับประชาชนไทย เพื่อไม่ให้ต้นทุนทั้งเงิน แรง และเวลาที่ลงไปสูญเปล่าโดยไม่ควร ซึ่งอาจหมายถึงชีวิตของใครคนหนึ่งในสังคมต้องเสียไป เพราะไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

การจัดลำดับความสำคัญมีฐานคิดมาจากเศรษฐศาสตร์ โดยเป็นการจัดสรรทรัพยากรซึ่งมีอยู่จำกัด เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ซึ่งมีอยู่ไม่จำกัด หากจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น มันคือศาสตร์ที่พยายามแก้ปัญหาทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ตัวอย่างเช่น ใน 1 วันทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน ไม่สามารถเพิ่มเวลาได้ เราจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร เลือกทำอะไรเพื่อให้เวลาเหล่านั้นคุ้มค่าที่สุด เพราะหากเลือกดูภาพยนตร์ เราอาจเสียโอกาสในการทำงานหาเงิน เป็นต้น

ในระบบประกันสุขภาพของไทย การตัดสินใจจำเป็นต้องใช้ข้อมูลมากกว่าการตัดสินใจเรื่องทั่ว ๆ ไปในชีวิต จึงมีการใช้ข้อมูลหลากหลายในการจัดลำดับความสำคัญ ทั้งคำนึงถึงความเท่าเทียม จริยธรรม และหนึ่งในนั้นคือประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เหมาะสม เป็นตัวอย่างในระดับที่นานาชาติยกย่อง แต่ก็ยังมีความต้องการของทั้งผู้ป่วยและบุคคลากรด้านการแพทย์เองที่ระบบสาธาณสุขไทยจำเป็นจะต้องยกระดับขึ้น เพื่อให้เห็นภาพรวมของทั้งประเทศไทย รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญที่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน จะช่วยทำให้ประเทศรู้ว่าอะไร “ควรทำ” และอะไร “ไม่ควรทำ” ขับเคลื่อนให้นโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือคนไทยทั้งประเทศในอนาคตได้

หากภารกิจถ้ำหลวงคือการทำสงครามกับเวลาเพื่อเป้าหมายช่วย 13 ชีวิต ภารกิจของหลักประกันสุขภาพก็คือการทำสงครามกับต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อเป้าหมายช่วยชีวิตคนไทยเช่นกัน

 

5 กรกฎาคม 2561

Next post > การรักษาที่เราต้องสงสัย (2) : บอกสิ่งที่กังวล...และมาร่วมตัดสินใจกับหมอ

< Previous post จากต้นแบบสู่ทั่วประเทศ “ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่” ที่งานวิจัยสนับสนุนให้เพิ่มสิทธิ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ