logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
การรักษาที่เราต้องสงสัย (1) : เพราะยาใหม่ไม่ได้ดีกว่าเสมอไป

คำหนึ่งที่จะพบนับครั้งไม่ถ้วนในหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” คือคำว่า “การตรวจสอบวิธีการรักษา” ซึ่งช่วยยืนยันให้แน่ใจได้ว่าวิธีการรักษาที่จะเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นยา หัตถการ เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ นั้นมีผลดีอย่างที่คิดและไม่ก่อให้เกิดผลเสียที่คาดไม่ถึง

การตรวจสอบวิธีการรักษาอยู่ใกล้ตัวทุกคนมากกว่าที่คิด แทบทุกอย่างที่การแพทย์แผนปัจจุบันใช้รักษาผู้ป่วยต้องผ่านกระบวนการนี้มาก่อน ไม่อย่างนั้นก็ไม่อาจขึ้นทะเบียนกับองค์กรที่กำกับดูแล (เช่น องค์การอาหารและยา) ได้

แต่ก่อนที่จะมาถึงจุดที่มีข้อกำหนดและระบบการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นมาตรฐานเช่นในปัจจุบัน เบื้องหลังก็มีเรื่องราวมากมาย บางเรื่องเรียกได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมจากการที่วิธีการรักษาไม่ผ่านการตรวจสอบอย่างเพียงพอ

“การรักษาต้องสงสัย” บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ และวิธีที่เราจะใช้ “การตรวจสอบวิธีการรักษา” เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราจะได้รับนั้นเป็นผลดีต่อเราจริง ๆ ต่อไปนี้คือ 1 ในประเด็นสำคัญที่กล่าวถึงในหนังสือ Testing Treatments “การรักษาต้องสงสัย”

 

 

“การตรวจสอบวิธีการรักษาเป็นเรื่องจำเป็น เพราะวิธีการรักษาใหม่อาจจะดีหรือแย่กว่าวิธีการรักษาที่ใช้กันอยู่ก็ได้”

 

หลายครั้งที่ผู้คนเข้าใจว่าวิธีการรักษาที่ “ใหม่กว่า” ย่อมต้อง “ดีกว่า” วิธีการรักษาที่มีอยู่เดิม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ยังมีกรณียกเว้น เพราะวิธีใหม่นั้นอาจมีผลเสียที่คาดไม่ถึง ตัวอย่างจากกรณีในประวัติศาสตร์การแพทย์เหล่านี้จะทำให้คุณเห็นภาพชัดขึ้น

หนึ่งในกรณีที่เห็นชัดคือกรณีของ ทาลิโดมายด์ (Thalidomide) ยานอนหลับซึ่งถือว่าเป็นชนิดใหม่ในช่วงทศวรรษ 1950 และดูเหมือนจะดีกว่าบาร์บิทูเรต (Barbiturates) ซึ่งใช้กันในขณะนั้น เนื่องจากมีจุดเด่นที่ไม่ทำให้ผู้ใช้ยาหมดสติแม้จะกินเกินขนาด ทาลิโดมายด์ได้รับการแนะนำให้ใช้กับหญิงมีครรภ์เพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้อง

ทว่าในช่วงทศวรรษ 1960 กลับพบว่าทาลิโดมายด์มีผลข้างเคียงที่น่ากลัวในหญิงมีครรภ์ ในช่วงนั้นพบทารกแรกเกิดที่มีแขนขาผิดรูปขั้นรุนแรง คือแขนขากุดจนดูเหมือนมือและเท้าโผล่จากลำตัว มีจำนวนพุ่งสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ทั้งที่ความผิดปกตินี้ไม่ค่อยปรากฏมาก่อน ต่อมาจึงพบความเกี่ยวพันระหว่างความผิดปกติดังกล่าวกับยาทาลิโดมายด์ จึงได้มีการถอนยาใหม่ชนิดนี้ออกจากตลาด แต่ก็สายเกินไป เพราะมีทารกได้รับผลกระทบแล้วหลายพันคนในกว่า 46 ประเทศทั่วโลก โศกนาฏกรรมในครั้งนี้ก่อให้เกิดการปรับปรุงระบบพัฒนาและอนุมัติการวางจำหน่ายยาทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน หลังจากมีการตรวจสอบวิธีการรักษาเพิ่มเติมและค้นพบว่าทาลิโดมายด์เป็นประโยชน์ในหลายโรค ยาชนิดนี้จึงได้กลับมาวางขายอีกครั้ง แม้จะมีข้อห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ก็ตาม ซึ่งหากมองในแง่หนึ่ง ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่การตรวจสอบวิธีการรักษาให้ข้อมูลที่ทำให้สามารถตัดสินใจนำยาเก่ากลับมาใช้ได้อีกครั้ง

อีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า “ใหม่กว่า” อาจไม่ได้ “ดีกว่า” หรือแม้จะ “ดีต่อสุขภาพมากกว่าเล็กน้อย” ก็อาจ “ไม่คุ้มที่จะจ่ายเงินซื้อ” คือกรณีของ “ยาพ่วงท้าย” หรือ me – too หากไม่มีการตรวจสอบวิธีการรักษาเพื่อเทียบยาพ่วงท้ายเหล่านี้กับยาที่มีอยู่เดิม ก็อาจมีการทึกทักเอาว่ายาใหม่ย่อมต้องดีกว่า นำไปสู่การใช้อย่างแพร่หลาย เกิดต้นทุนค่ายาสูงกว่าโดยอาจไม่จำเป็น

กรณีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่อาจตั้งธงไว้ก่อนได้ว่าของใหม่ต้องดีกว่าของเก่าเสมอไป การตรวจสอบวิธีการรักษาจะช่วยยืนยันให้แน่ใจว่าผลดีที่คิดว่ามีนั้นดีจริง และป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียโดยไม่คาดคิด นอกจากนี้ ทั้งแพทย์และผู้ป่วยควรมองวิธีการรักษาทุกอย่างด้วยใจเป็นกลาง ไม่อคติไปก่อนไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบ และอ้างอิงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้เสมอ

 

ยังมีหลักคิดอื่น ๆ ที่จะช่วยเปิดโลกด้านสุขภาพให้กับคุณในหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” หากสนใจท่านผู้อ่านสนใจสามารถสั่งพรีออเดอร์ได้ที่นี่ https://goo.gl/JLkTnB , รู้จักหนังสือ “Testing Treatments การรักษาต้องสงสัย” สามารถอ่านได้ที่นี่ https://www.hitap.net/172314

14 มิถุนายน 2561

Next post > โศกนาฏกรรมเมื่อเด็กทารกนอนคว่ำ

< Previous post ทำความรู้จักกับ “การรักษาต้องสงสัย” ความรู้สามัญประจำบ้าน ให้คุณรู้เท่าทันการรักษา

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ