logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ทำความรู้จักกับ “การรักษาต้องสงสัย” ความรู้สามัญประจำบ้าน ให้คุณรู้เท่าทันการรักษา

“สำคัญและน่ากลัว” ผู้อ่านคนหนึ่งจั่วหัวในความเห็นของเขาต่อหนังสือ “Testing Treatments” หรือชื่อไทยว่า “การรักษาต้องสงสัย” ฉบับภาษาอังกฤษซึ่งเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นครั้งแรกในปี 2549 และมีการปรับปรุงเนื้อหาขนานใหญ่ในปี 2554 เนื้อหาในเล่มซึ่งเผยแพร่ให้อ่านฟรีบนเว็บไซต์มียอดดาวน์โหลดสูงถึงกว่า 130,000 ครั้ง และมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ แล้วร่วม 15 ภาษา  

เหตุใดเขาจึงให้ความเห็นเช่นนี้

คุณคิดหรือเปล่าว่ายา วิธีการผ่าตัด และการคัดกรองแบบใหม่ ย่อมต้องใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าที่ใช้กันอยู่เดิม และแปลว่าของใหม่ต้องดีกว่าของเก่าเสมอ เคยนึกไหมว่าการ “กัน” ก็น่าจะดีกว่าการ “แก้” เคยคิดหรือไม่ว่าคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง น่าจะเชื่อถือได้ เคยนึกไหมว่าแพทย์ต้องรู้แน่ว่าวิธีการรักษาใดดีต่อผู้ป่วยที่สุด และสิ่งที่แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยใช้คงเหมาะสมที่สุดแล้ว

“การรักษาต้องสงสัย” บอกเล่าว่าหลายครั้งที่ความเข้าใจเหล่านี้ไม่ถูกต้องเสมอไป

ในโลกที่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ไม่มีใครล่วงรู้อะไรได้ทุกอย่าง “เรา” ซึ่งหมายถึงทั้งแพทย์และผู้ป่วยจึงไม่อาจเชื่อคำกล่าวอ้างว่าวิธีการรักษาไหนดีหรือไม่ดีได้ เพียงเพราะมีคนบอกมา หรือคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น

หนังสือเล่มนี้พาผู้อ่านไปสำรวจปัญหาที่เกิดเมื่อการแพทย์อิงตามความเชื่อ พร้อมยกตัวอย่างกรณีในอดีตที่ความเข้าใจผิด ๆ นำไปสู่โศกนาฏกรรม ทั้งที่บางเรื่อง เช่น การเสียชีวิตของทารกเนื่องจากท่านอนไม่เหมาะสม เป็นการสูญเสียที่หลีกเลี่ยงได้ง่ายนิดเดียว เพียงแค่แพทย์และผู้ป่วยนึกสงสัยสิ่งที่ตนกำลังจะสั่งใช้ หรือกำลังจะได้รับ เนื้อหาในหนังสือจะทำให้ทุกคนเข้าใจว่า “การตรวจสอบวิธีการรักษา” หรือการศึกษาทดลองเกี่ยวกับวิธีการรักษาต่าง ๆ ไม่ได้เป็นยาขมเข้าใจยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีพื้นเพด้านการแพทย์ แต่เป็นแนวคิดที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด และแน่นอนว่าผู้ป่วยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เข้ากับความจำเป็นและความต้องการของตน

วิธีการรักษาอยู่ในท้องตลาดมากมายมหาศาล หมายถึงโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีสุขภาพดีขึ้น แพทย์และผู้ป่วยจึงไม่ควรไว้วางใจวิธีการรักษาเหล่านั้นจนผู้ป่วยเสียโอกาส แต่ก็ไม่ควรใช้ทุกอย่างโดยปราศจากข้อสงสัย

สิ่งที่จะตอบข้อสงสัยเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม คือ ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นกลาง ซึ่งจะได้มาเมื่อมี “การตรวจสอบวิธีการรักษา” การที่ทั้งแพทย์และผู้ป่วยพิจารณาข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบวิธีการรักษาประกอบการตัดสินใจ จึงเป็นทางสายกลางซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ความเห็นข้างต้นที่จั่วหัวว่าหนังสือเล่มนี้ “สำคัญและน่ากลัว” จึงปิดท้ายด้วยคำว่า “…แต่ให้กำลังใจ”[1]

เพราะเราทุกคนมีเครื่องมือที่จะยกระดับสุขภาพของเราขึ้นได้อยู่แล้ว ขอเพียงนำมันมาใช้อย่างเหมาะสมเท่านั้น

ติดตามข่าวสารเรื่องหนังสือ “Testing treatments การรักษาต้องสงสัย” ในแบบรูปเล่มได้ที่ www.hitap.net และ เฟซบุ๊ก hitapthailand  และอ่านออนไลน์ฟรีได้ที่เว็บไซต์ www.testingtreatments.org เร็ว ๆ นี้

[1]ความเห็นต่อหนังสือ Testing Treatments การรักษาต้องสงสัยโดย Peter Hjort แพทย์ชาวนอร์เวย์ ใน Peter Hjort. Tidsskr Nor Lægeforen 2007; 4: 127

13 มิถุนายน 2561

Next post > การรักษาที่เราต้องสงสัย (1) : เพราะยาใหม่ไม่ได้ดีกว่าเสมอไป

< Previous post เปิด 3 โครงการวิจัยขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพเพื่อคนไทยโดยใช้การประเมินความคุ้มค่า

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ