logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เปิด 3 โครงการวิจัยขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพเพื่อคนไทยโดยใช้การประเมินความคุ้มค่า

งานวิจัยประเมินเทคโนโลยีด้ายสุขภาพหรือ health technology assessment (HTA) มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบโดย การประเมินความคุ้มค่า หรือ Economic evaluation (EE) ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการวิจัยที่ทำให้เกิดข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบาย HITAP ขอเสนอ 3 โครงการวิจัยที่ส่งผลกระทบเชิงนโยบาย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย เสริมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

EE เป็นการศึกษาประเภทหนึ่งที่เปรียบเทียบทางเลือกอย่างน้อย 2 ทาง ในด้านต้นทุนและผลลัพธ์ทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากทางเลือกนั้น ๆ โดยทางเลือกดังกล่าวอาจเป็นยา เครื่องมือแพทย์ หรือนโยบายต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งในด้านการรักษา การส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ การคัดกรองและวินิจฉัย และการฟื้นฟูร่างกาย เพื่อดูว่าหากจะลงทุนกับทางเลือกใหม่ (เช่น ระบบประกันสุขภาพจะให้เบิกจ่ายยาชนิดใหม่ได้) ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะ “คุ้มค่า” กับผลลัพธ์ทางสุขภาพที่จะได้รับหรือไม่ เมื่อเทียบกับทางเลือกที่มีอยู่ (เช่น ยาที่ใช้ทั่วไปในปัจจุบัน) โดยหากไม่คุ้มค่า ภาครัฐอาจใช้ข้อมูลที่ได้จาก EE ว่าราคายาที่คุ้มค่าควรเป็นเท่าไร เพื่อพิจารณาต่อรองราคายาลงให้อยู่ในเกณฑ์หรือต่ำกว่า เป็นต้น ทั้งนี้ ความคุ้มค่าเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่ภาครัฐพิจารณาในการลงทุนกับทางเลือกใหม่

กรณีในอดีตที่ยกมาทั้ง 3 กรณีนี้ เป็นตัวอย่างของการนำข้อมูลจาก EE ไปใช้ในรูปแบบแตกต่างกัน 3 รูปแบบ 1 เมื่อผลจาก EE ชี้ว่าทางเลือกใหม่คุ้มค่า 2 เมื่อผลจาก EE ชี้ว่าทางเลือกใหม่ไม่คุ้มค่า และภาครัฐตัดสินใจต่อรองราคายาที่เป็นทางเลือกใหม่ และ 3 เมื่อผลจาก EE ชี้ว่าทางเลือกใหม่ไม่คุ้มค่า และภาครัฐตัดสินใจลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของทางเลือกที่มีอยู่เดิมแทน

 

กรณีตัวอย่างที่ 1

ยาใหม่รักษามะเร็งต่อมลูกหมากไม่ต้องผ่าตัดอัณฑะ

มะเร็งต่อมลูกหมากถือเป็นมะเร็งที่พบได้มากในสังคมไทย ทว่าปัญหาหนึ่งของการเข้ารับการรักษามะเร็งชนิดนี้คือบางครั้งแพทย์ต้องตัดต่อมลูกหมากหรือลูกอัณฑะของผู้ป่วยทิ้ง ผู้ป่วยจึงไม่อยากเข้ารับการรักษา แต่ยากลุ่ม luteinizing hormone releasing hormone (LHRH) analogues เป็นยาใหม่ที่ใช้ได้ผลและช่วยทดแทนการตัดต่อมลูกหมากหรือลูกอัณฑะได้ แต่ขณะที่มีการเสนอให้นำยากลุ่มนี้เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยากลุ่มนี้ยังมีราคาสูง ภาครัฐจึงต้องการข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับยากลุ่มนี้

EE ช่วยอะไร

ทำให้ได้ข้อมูลการใช้ยาในกลุ่ม LHRH analogues รักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะปานกลางและระยะสูงมาก มีความคุ้มค่าในบริบทของประเทศไทย ส่งผลให้ในเวลาต่อมาคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติจึงได้มีมติให้ยากลุ่ม LHRH analogues เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพทุกสิทธิเข้าถึงยาดังกล่าวได้ฟรี ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากมีทางเลือกในการรักษาโดยไม่ต้องตัดต่อมลูกหมากหรืออัณฑะทิ้ง ตัวอย่างนี้แสดงให้ว่า EE เป็นหลักฐานยืนยันถึงความคุ้มค่าและสามารถขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายได้

 

กรณีตัวอย่างที่ 2

ยาสูตรใหม่รักษาไวรัสตับอักเสบซี

โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ โรคนี้เดิมทีประเทศไทยมีแนวทางการรักษาคือใช้ยาเดิมที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งได้แก่การใช้ pegylated interferon ร่วมกับ ribavirin นั้น ในหลายกรณี ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา และส่วนใหญ่ไม่สามารถทนอาการข้างเคียงของยาสูตรมาตรฐานได้ เมื่อไม่นานมานี้ มียาสูตรใหม่ที่ได้ผลชะงัดรวมถึงผลข้างเคียงต่ำกว่ามาก ได้แก่ยากลุ่ม direct acting antivirals ซึ่งมีราคาสูงมาก โครงการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้จึงศึกษาถึงประสิทธิผลและความคุ้มค่าของยาสูตรใหม่ นำมาซึ่งทางแก้ปัญหาในที่สุด

EE ช่วยอะไร

โครงการวิจัย EE ช่วยให้ได้ข้อมูลประสิทธิภาพและต้นทุนรวมทั้งหมดของยาสูตรใหม่เทียบกับยาสูตรเก่า แม้ประเมินแล้วพบว่าไม่คุ้มค่า แต่ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าว ส่งผลต่อเนื่องให้คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สามารถต่อรองราคากับบริษัทลงได้หลายเท่าตัว   และเป็นผลให้สามารถนำยาใหม่กลุ่มนี้ ได้แก่ Sofosbuvir (โซฟอสบูเวียร์) ใช้ร่วมกับยาเดิมและยาเม็ดผสม Sofosbuvir + Ledipasvir (โซฟอสบูเวียร์ยา + เลดิพาสเวียร์) บรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคได้มากกว่าเดิมอีกด้วย ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าแม้ EE จะศึกษาแล้วยังพบว่าไม่คุ้มค่า แต่ก็ยังสามารถให้ข้อมูลราคาที่คุ้มค่าซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการต่อรองราคา และช่วยขับเคลื่อนนโยบายได้ในที่สุด

 

กรณีตัวอย่างที่ 3

มาตรการป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เหมาะสมกับประเทศไทย

มะเร็งปากมดลูกถือเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย สถิติจากปี 2553 พบว่าหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกปีละ 6,200 คน และเสียชีวิตราวปีละ 2,600 คนซึ่งถือว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก แต่สามารถรักษาให้หายได้ในระยะเริ่มต้น การคัดกรองให้พบผู้ป่วยแต่เนิ่น ๆ จึงมีประโยชน์มาก แต่ก็ยังมีทางเลือกอื่นในการป้องกันมะเร็งชนิดนี้ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ประเด็นนี้ถูกหยิบขึ้นมาทำการศึกษาในปี 2550 เพื่อค้นหาทางเลือกที่เหมาะสมกับสังคมไทยมากที่สุดในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

EE ช่วยอะไร

ผลจากการศึกษาในราวปี 2550 ซึ่งศึกษาข้อมูลความคุ้มค่าของแนวทางการรักษาต่าง ๆ ทั้งการใช้วัคซีน HPV เทียบกับการคัดกรอง ซึ่งทำกันอยู่แต่เดิมโดยใช้การตรวจแบบ Pap Smear ในผู้หญิงอายุ 30-60 ปีโดยตรวจทุก 5 ปี ส่วนผู้หญิงอายุ 60 ปีขึ้นไปตรวจตามความเหมาะสม หรือตรวจมะเร็งปากมดลูกวิธี VIA ในผู้หญิงอายุ 30 – 45 ปีโดยตรวจทุก 5 ปี การศึกษานี้พบว่า ณ ราคาในขณะนั้น วัคซีนไม่คุ้มค่า ภาครัฐจึงตัดสินใจลงทุนเพื่อขยายความครอบคลุมของการคัดกรองดังกล่าวแทน ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าแม้ผลจาก EE จะชี้ว่าวิธีการรักษาใหม่ไม่คุ้มค่า แต่ยังคงมีส่วนช่วยในการปรับปรุงนโยบายด้านสุขภาพเดิมให้ดีขึ้นได้

 

นี่คือตัวอย่างของกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนาระบบประกันสุขภาพของประเทศที่ทำให้มีการใช้งบประมาณที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น ท้ายที่สุดนี้ สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์หนึ่งของ HITAP ในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยไทยทางด้านประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพหรือ HTA จึงเกิดเป็นการอบรม Health Economic Evaluation Training สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการอบรมได้จากคลิป “อบรม EE จะทำให้คุณรู้ว่าการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และสาธารณสุขคืออะไร” คลิ๊ก https://youtu.be/2WKvnL9t1u4 และคลิป “ทำความรู้จักการอบรม EE ให้มากขึ้น” คลิ๊ก https://youtu.be/L2cX7J9FsfI หากสนใจร่วมอบรมสามารถสมัครได้ที่นี่ http://training.hitap.net

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมงานวิจัย “การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และผลกระทบด้านงบประมาณของการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/139500, อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมงานวิจัย “การประเมินความคุ้มค่าด้านสุขภาพของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA ในประเทศไทย” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/17772, อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมงานวิจัยในโครงการ “การพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายสำหรับการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูก” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/17496#projects_meta_policybrief

 

 

Designed by Freepik

5 มิถุนายน 2561

Next post > ทำความรู้จักกับ “การรักษาต้องสงสัย” ความรู้สามัญประจำบ้าน ให้คุณรู้เท่าทันการรักษา

< Previous post SAFE เพื่อหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน “หมอทุกคนต้องรู้เรื่องการประเมินเทคโนโลยีฯ”

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ