logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
SAFE เพื่อหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน “หมอทุกคนต้องรู้เรื่องการประเมินเทคโนโลยีฯ”

ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ฟรี ทว่าค่าใช้จ่ายที่ตามมาแท้จริงแล้วคือสิ่งที่ประเทศต้องแบกรับ ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้นตามความต้องการการรักษาพยาบาลของคนไทย จากคำกล่าวของผู้คร่ำหวอดในวงการ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ SAFE report คือหลักการที่ช่วยให้ระบบหลักประกันสุขภาพสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยหลักคิด 4 ข้อได้แก่ Sustainable ระบบการเงินต้องยั่งยืน Adequate ต้องเพียงพอ Fair การช่วยเหลือต้องเป็นธรรม Efficiency ต้องมีประสิทธิภาพ รวมเป็นคำว่า S A F Eซึ่งคนไทยทุกคนต่างมีบทบาทสำคัญและการเข้าใจเรื่องการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

Sustainable ระบบการเงินต้องยั่งยืน หมายถึงการที่รัฐบาลหรือประเทศต้องสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพได้ ขณะที่ประชาชนก็ต้องได้รับการบริการด้านสุขภาพที่ดีเหมาะสมโดยอาจมีค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องจ่ายร่วมอยู่ด้วย

ประเทศต้องสู้ไหว ชาวบ้านต้องสู้ไหว ซึ่งประเทศต้องสู้ไหวคือการที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่ควรเกินประมาณร้อยละ 5 ของเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งเกินไปเท่าไร ยิ่งสูง ยิ่งแย่ เราก็ตั้งเป้าไว้ว่า สมมติงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดมี 100 บาท ต้องเอามาใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่เกิน 20 บาท สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้คือประมาณ 17 บาท ถ้ามันสูงกว่านั้นก็ไม่เกิน 20 บาท ส่วนชาวบ้านสู้ไหวคือว่า ค่าใช้จ่ายควรจะมาจากกระเป๋าชาวบ้าน จากกระเป๋าครัวเรือนไม่เกินร้อยละ 20 อีกร้อยละ 80 ต้องเป็นหลวงจ่าย หรือนายจ้างจ่าย”

Adequate ต้องเพียงพอ หมายถึงมีการแบ่งงบประมาณมาใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพียงพอให้กับประชาชน ดังนั้นรัฐจึงไม่ควรแบ่งเงินมาช่วยเหลือประชาชนน้อยจนเกินไป

“เงินน้อยมันทำอะไรไม่ได้ งบประมาณแผ่นดินที่จะลงทุนด้านสุขภาพต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 17 ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ยั่งยืนคือไม่เกินร้อยละ 20 แต่ต้องเพียงพอด้วย! ถ้าจะลดลงก็ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 17 ถ้าต่ำกว่านี้ชาวบ้านต้องควักกระเป๋ามากขึ้น ตรงนี้ไม่ดี สิ่งนี้คือตัวอย่างของความเพียงพอ”

Fair การช่วยเหลือต้องเป็นธรรม หมายถึงการแบ่งเงินช่วยเหลือให้เป็นธรรมต่อทั้งสังคม คนสุขภาพดีต้องช่วยเหลือคนป่วย ผู้มีรายได้สูงต้องช่วยผู้มีรายได้น้อย

“ความ Fair มี 2 อย่างคือคนดีต้องช่วยคนป่วย คนที่ร่างกายแข็งแรงไม่เป็นไรต้องช่วยคนป่วยจ่ายเงิน และคนรวยต้องช่วยคนจน อย่างเช่น ระบบประกันสังคม ใครเงินเดือนน้อยก็ถูกหักน้อย ใครเงินเดือนมากถูกหักมาก ระบบบัตรทอง ได้จากภาษี ใครมีรายได้เยอะก็เสียภาษีเยอะ  ก็ต้องช่วยบัตรทองเยอะ ใครมีรายได้น้อยก็ช่วยบัตรทองน้อย หรือไม่เสียภาษีก็ไม่ต้องช่วยบัตรทอง เป็นผู้รับประโยชน์อย่างเดียว อันนี้คือ Fair คือความเป็นธรรม – ดีช่วยป่วย รวยช่วยจน”

Efficiency ต้องมีประสิทธิภาพ คือการใช้จ่ายเงินงบประมาณต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพหรือ HTA (Health technology assessment) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณมีความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ตัวเลขจากองค์การอนามัยโลก และในประเทศไทยก็มีคนวิจัยไว้ว่า ร้อยละ 20-40 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ใช้โดยไม่จำเป็นถ้าเราลดสิ่งที่จ่ายโดยไม่จำเป็นลงได้สักครึ่ง จะมีเงินเหลือพอไปจ่ายยาใหม่ การจะเลือกยาใหม่เข้าไปก็ดูเรื่องประสิทธิภาพนี่แหละ ก็ต้องมีการประเมินเทคโนโลยีว่าคุ้มค่าหรือไม่ ผลกระทบงบประมาณระยะยาวประเทศรับไหวไหม นอกจากนี้การทำการประเมินเทคโนโลยียังเป็นเครื่องมือต่อรองกับบริษัทยา บริษัทเทคโนโลยีว่ามันคุ้มหรือไม่คุ้ม ถ้าจะคุ้มก็ต้องลดราคาลงมา หากลดราคาแล้วคุ้ม แต่ว่างบประมาณสู้ไม่ไหว ถ้าจะเอาเข้าชุดสิทธิ์ประโยชน์จริง ต้องคุ้มด้วย ต้องงบประมาณสู้ไหวด้วย บริษัทเขาก็ยอมลดราคา”

นพ.สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายถึงองค์ประกอบทั้งหมดที่ต้องมีร่วมกันจึงจะได้ผลลัพย์เป็น SAFE โดยเน้นว่า E หรือ Efficiency ต้องมีประสิทธิภาพ มีความสำคัญที่สุด

“ถ้าไม่มีประสิทธิภาพ มีเท่าไรก็ไม่พอ ดูอย่างสหรัฐฯ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไทยจ่ายร้อยละ 5 เพื่อระบบสุขภาพ แต่สหรัฐฯ จ่ายร้อยละ 18 มากกว่าไทย 3 เท่ากว่าแต่สุขภาพไม่ได้ดีกว่าคนไทยเท่าไหร่”

ดังนั้นสิ่งสำคัญในมุมของประชาชนที่จะช่วยให้สังคมสามารถเข้าถึงองค์ประกอบ SAFE ทั้งหมดได้ก็คือองค์ความรู้ในการดูแลตัวเองเบื้องต้นที่มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระด้านสาธารณสุขของประเทศได้เป็นอย่างมาก

“คนไทยไปหาหมอตลอด เป็นหวัดก็ไปหาหมอ เดี๋ยวก็ไปตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายประจำปี มีประโยชน์น้อยมาก สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุเลย ถ้าจะตรวจก็มีตรวจไม่กี่อย่างเช่น ผู้หญิงก็ตรวจมะเร็งปากมดลูก 4 – 5 ปีตรวจครั้งนึง นี่คือสิ่งที่มีประโยชน์ ถ้าไม่มีความเสี่ยงจะไปตรวจทำไม คุณไปตรวจหัวใจวันนี้ ไม่ได้แปลว่าวันพรุ่งนี้หัวใจจะดี มันไม่มีประโยชน์ นี่คือความสิ้นเปลือง

“ยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น คนไทยเป็นหวัด ไม่ต้องหาหมอ ไวรัสมันหายเอง นอกจากมีโรคแทรกซ้อนเป็นติดต่อกัน 5-7 วันแล้วไม่ดีขึ้น ไอมาก ไม่ไหวก็ค่อยไป เดี๋ยวนี้คนไข้ที่เป็นไส้ติ่งกว่าจะได้ผ่าต้องถูกอัลตร้าซาวด์ ถูกซีทีสแกน ที่จริงใช้การซักประวัติ การคลำด้วยมือก็พอแล้ว ผ่าได้แล้ว แต่ตอนนี้ทำมากเกินความจำเป็น มันก็สิ้นเปลืองเยอะแยะ แล้วก็บอกเงินไม่พอ ๆ มันจะไปพอได้ไงถ้ายังทำแบบนี้

ในมุมของผู้รับบริการด้านสุขภาพนพ. สุวิทย์เผยถึงแนวทางในการแบ่งเบาภาระของระบบหลักประกันสุขภาพไว้ 3 ข้อดังนี้

“1. คนไทยทุกคนต้องทำให้ตัวเองมีสุขภาพดี ไม่ป่วย 2. ถ้าป่วย ชาวบ้านต้องรู้ว่าควรจะไปหาหมอเมื่อไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 70 – 80 มันหายเอง 3. ชาวบ้านต้องเข้าใจหมอ ตัวหมอเองก็ต้องรู้ว่าควรจะรักษาเมื่อไหร่ ควรจะให้ยาอะไร ไม่ใช่ให้ยาเยอะเกินไป ตรวจรักษามากเกินไป ตรงนี้เองที่ชาวบ้านต้องเข้าใจ ถ้าเกิดไม่เข้าใจ เดี๋ยวก็ไปฟ้องร้องหมอ หมอก็ลำบาก ต้องตรวจรักษาเกินความจำเป็น แพงขึ้นไปอีก”

ในมุมของบุคลากรด้านการแพทย์นั้นความเข้าใจในเรื่องของการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยทั้งระบบสุขภาพของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำคัญที่สุดเลยคือหมอทุกคนต้องรู้เรื่องการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ตั้งแต่ประเมินว่ามันได้ผลจริง มันปลอดภัยจริง เทคโนโลยีมีคุณภาพดี นี่คือพื้นฐาน แล้วที่สุดคือความคุ้มค่า ใช้ไปแล้วเกิดผลกระทบขนาดไหน  ชาวบ้านจะเจ็บป่วยล้มตายขนาดไหน เศรษฐกิจหมดไปขนาดไหน ไม่ใช่ว่าสั่งไปเรื่อย ดังนั้นหมอต้องรู้เรื่องการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ แต่ส่วนใหญ่หมอไม่ได้เรียน นี่น่าเป็นห่วงที่สุด หมอได้ข้อมูลแต่จากบริษัทยา บริษัทขายเครื่องมือแพทย์ แล้วก็เชื่อเขาง่ายเกินไป ตรงนี้เป็นเรื่องของโรงเรียนแพทย์ เพราะแม่ปูต้องเป็นตัวอย่างสำหรับลูกปู แม่ปูเดินดี ลูกปูก็เดินดีตาม”

ทั้งหมดนี้คือความสำคัญชองความเข้าใจในเรื่องของการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์หนึ่งของ HITAP ในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยไทยทางด้านประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพหรือ HTA จึงเกิดเป็นการอบรม Health Economic Evaluation Training  สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการอบรมได้จากคลิป “อบรม EE จะทำให้คุณรู้ว่าการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และสาธารณสุขคืออะไร” คลิ้ก https://youtu.be/2WKvnL9t1u4 และคลิป “ทำความรู้จักการอบรม EE ให้มากขึ้น” คลิ้ก https://youtu.be/L2cX7J9FsfI หากสนใจร่วมอบรมสามารถสมัครได้ที่นี่ http://training.hitap.net/

สามารถรับชมคลิปวิดีโอ “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพที่ยั่งยืน โดย นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ” ได้ที่นี่ https://youtu.be/1uQRACV3hQU

28 พฤษภาคม 2561

Next post > เปิด 3 โครงการวิจัยขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพเพื่อคนไทยโดยใช้การประเมินความคุ้มค่า

< Previous post เปิดเบื้องหลัง The Economist ยกระบบหลักประกันสุขภาพไทยตัวอย่างใช้งบ ”คุ้มค่า” ระดับโลก!

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ