logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เปิดเบื้องหลัง The Economist ยกระบบหลักประกันสุขภาพไทยตัวอย่างใช้งบ ”คุ้มค่า” ระดับโลก!

The Economist ยกระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยเป็นหนึ่งตัวอย่างของการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โดยระบุว่า การใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มากขึ้นและชาญฉลาดขึ้นสามารถช่วยชีวิตคนนับล้านได้” หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาครัฐทุ่มเทอย่างจริงจัง” เบื้องหลังการใช้งบประมาณที่ฉลาดขึ้นคืออะไร? ต้องติดตาม

ประเทศไทยนั้นมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี 2545 ริเริ่มจากชื่อคุ้นหูอย่าง “30 บาทรักษาทุกโรค” หรือ “บัตรทอง” โดยมีแนวคิดอุดมคติที่จะการจัดการรักษาพยาบาลฟรีให้คนไทยทุกคน แม้ฟังดูจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่แทบจะเป็นไปได้ไม่แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว และกลายเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จจนเป็นตัวอย่างให้กับหลายประเทศทั่วโลก จนได้รับคำชื่นชมจากนิตยสารระดับโลก  The Economist ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2561 ในบทความ The price of human lives: More and wiser health-care spending could save millions of lives

ในบทความดังกล่าวได้มีการยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีในไทยจากกรณีของ ฟาริดา วารี แม่บ้านวัย 55 ปีที่ตรวจพบก้อนที่หน้าอกด้านขวาเมื่อต้นปี 2559 หลังจากที่วินิจฉัยพบว่าเธอเป็นมะเร็งเต้านม ฟาริดาได้รับการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัดในปีต่อมา ซึ่งหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น 5 ปี เธอจะต้องเสียค่ารักษาสูงลิ่วถึง 800,000 บาทซึ่งเธอและครอบครัวไม่มีทางจ่ายไหว แต่เพราะมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมดทำให้เธอได้รับการรักษาโดยไม่กระทบต่อฐานะการเงิน

หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้แนวคิดถัวเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลคนทั้งหมด แต่ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องคำนึงถึงอีกมากในการออกแบบระบบดังกล่าว เช่น จะให้ผู้ป่วยสมทบค่ารักษาหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน รวมถึงงบประมาณด้านสาธารณสุขที่แต่ละประเทศมี เป็นต้น

สถิติล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกชี้ว่ามีการใช้งบประมาณสาธารณสุขทั่วโลกรวมสูงถึงเกือบร้อยละ 10 ของจีดีพี โดยเฉลี่ยร้อยละ 12 ในประเทศพัฒนาแล้ว และร้อยละ 6 หรือต่ำกว่าในประเทศกำลังพัฒนา เมื่อเทียบกันแล้ว ยิ่งประเทศมีรายได้สูง สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่รัฐออกให้จะยิ่งสูงตาม และประชาชนต้องสมทบค่าใช้จ่ายน้อยลง (ประชาชนสมทบร้อยละ 40 และ 60 ในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาตามลำดับ) โดยปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพอาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่อยากสมทบค่าใช้จ่าย จนไม่ยอมเข้ารับบริการสุขภาพ เช่น ฉีดวัคซีน เพื่อประหยัดเงินเพียงเล็กน้อยแต่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างใหญ่หลวง กล่าวคือ โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งประเทศร่ำรวยและจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายไว้มาก สุขภาพของประชาชนก็จะดีขึ้นตาม

แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เมื่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยสามารถกลายเป็นต้นแบบให้หลายประเทศดำเนินตาม เพราะโครงการนี้ชี้ให้เห็นว่าแม้มีงบประมาณจำกัด การประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นก็สามารถทำได้จริง หากภาครัฐจัดสรรงบประมาณ “อย่างรอบคอบ”  ดังรายงาน Disease Control Priorities 3rd edition (DCP3) ที่กล่าวว่า การหาแนวทางที่ดีที่สุดในการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่จำกัดให้พบนั้นสำคัญยิ่งยวด ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยเข้ามาแทนที่โครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อยและแรงงานนอกระบบ เมื่อผนวกกับประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ การประกันสุขภาพจึงครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 98 ด้วยงบประมาณสาธารณสุขเพียงร้อยละ 4 ของจีดีพี ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนนี้ในไทยเมื่อ 20 ปีก่อน ทั้งนี้ ประเมินว่าอัตราค่าใช้จ่ายต่อคนต่อปีตกราวปีละ 6,900 บาท ความสำเร็จนี้เกิดได้ด้วยการปฏิรูปหลายประการ เช่น การจูงใจให้แพทย์ปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบท และจัดสรรงบประมาณพิเศษในการบริการผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาล รวมถึงการมีโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) อันเป็นองค์กรกึ่งภาครัฐคอยทำหน้าที่ประเมินความคุ้มค่าของการรักษาเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมและไม่ถูกละเลย

ทว่าแล้วอะไรที่อยู่เบื้องหลังการใช้งบประมาณที่ “ชาญฉลาด” ขึ้นอย่างที่ The Economist ยกตัวอย่าง? HITAP ขอเผยถึงเบื้องลึกการทำงานวิจัยเพื่อช่วยให้การใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขมีความคุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงมิติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น จริยธรรมและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ผ่านกรณีตัวอย่างสิทธิประโยชน์ในการฟอกไตภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

การรักษาโรคไตวายเรื้อรังแบ่งเป็น 2 ประเภทคือการฟอกไต และการปลูกถ่ายไต เนื่องจากการปลูกถ่ายไตต้องใช้ไตที่ได้รับบริจาคซึ่งมีจำนวนจำกัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในประเทศไทยจึงได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต ซึ่งก็มี 2 แบบ ได้แก่ การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ่อยครั้ง ทำให้ผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเสียโอกาสในการทำงานประกอบอาชีพ อีกแบบคือการฟอกไตผ่านช่องท้อง (Peritoneal dialysis –PD) ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟอกไตเองที่บ้านได้ อย่างไรก็ดี หากผู้ป่วยทั้งประเทศต้องจ่ายค่าฟอกไตเอง ผู้ป่วยและครัวเรือนจำนวนมากอาจสิ้นเนื้อประดาตัวเนื่องจากค่าใช้จ่ายอันสูงลิ่ว ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงตัดสินใจให้เบิกจ่ายการฟอกไต โดยการวิจัยด้านการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ (economic evaluation – EE) ที่แล้วเสร็จในปี 2550 ช่วยให้รู้ว่าการฟอกไตผ่านช่องท้องก่อน คุ้มค่ากว่าการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมก่อน และคณะอนุกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ตัดสินใจโดยอ้างอิงผลจากงานวิจัยดังกล่าว ส่งผลให้จำนวนผู้ที่ได้รับการฟอกไตผ่านช่องท้องโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การรักษาพยาบาลไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินของประชากรจำนวนมาก จึงกล่าวได้ว่าEE เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์หนึ่งที่ช่วยให้เกิดข้อมูลที่นำมาใช้ในการตัดสินใจของผู้บริการและบุคลากรสาธารณสุขได้เพื่อให้บรรลุระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

 

นี่คือตัวอย่างของกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนาระบบประกันสุขภาพของประเทศที่ทำให้มีการใช้งบประมาณที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น ท้ายที่สุดนี้ สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์หนึ่งของ HITAP ในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยไทยทางด้านประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพหรือ HTA จึงเกิดเป็นการอบรม Health Economic Evaluation Training ที่จัดต่อเนื่องกันมาถึงครั้งที่ 14 แล้ว สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการอบรมได้จากคลิป “อบรม EE จะทำให้คุณรู้ว่าการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และสาธารณสุขคืออะไร” คลิ๊ก https://youtu.be/2WKvnL9t1u4 และคลิป “ทำความรู้จักการอบรม EE ให้มากขึ้น” คลิ๊ก https://youtu.be/L2cX7J9FsfI หากสนใจร่วมอบรมสามารถสมัครได้ที่นี่ http://training.hitap.net/courses/course_detail?event_id=23

 

 

เรียบเรียงจาก https://www.hfocus.org/content/2018/04/15750

Designed by Freepik

21 พฤษภาคม 2561

Next post > SAFE เพื่อหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน “หมอทุกคนต้องรู้เรื่องการประเมินเทคโนโลยีฯ”

< Previous post “ไวรัสตับอักเสบซี” คือภัยเงียบ...คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ