logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“ไวรัสตับอักเสบซี” คือภัยเงียบ…คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่?

ภัยเงียบคือลักษณะอย่างหนึ่งของ “โรคไวรัสตับอักเสบซี” ที่คนไข้จะรู้ตัวว่าเป็นโรคได้ช้า ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากทั้งที่หากพบเร็วจะสามารถรักษาให้หายได้ง่าย “ซีรีส์เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา” ขอเสนอชุดข้อมูลเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบซีที่อาจช่วยให้คุณตรวจพบโรคและรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นภัยเงียบ

โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ถือเป็นภัยเงียบที่ผู้ป่วยมักเข้ารับการรักษาก็ต่อเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว เหตุผลหลักมาจากการที่โรคไวรัสตับอักเสบซีนั้นจะเข้าไปค่อย ๆ ทำลายตับของผู้ป่วย ซึ่งตับสามารถทำงานทดแทนส่วนที่เสียหายได้ ผู้ป่วยส่วนมากจึงไม่รู้สึกถึงความผิดปกติใด ๆ แม้ตับจะถูกทำลายไปเกินกว่าครึ่งหนึ่งแล้วก็ตาม โดยอาจเริ่มแสดงอาการเมื่อตับถูกทำร้ายไปกว่า 80 %

ตรวจพบได้อย่างไร? อาการเป็นอย่างไร?

เพียงเข้ารับการตรวจเลือดก็สามารถรู้ผลได้ทันที โดยอาการของโรคได้แก่ อาการไข้คล้ายไข้หวัดใหญ่ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสวะสีเข้ม ขาบวม ท้องบวม

ใครคือกลุ่มเสี่ยง?

โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคติดต่อทางเลือดเป็นหลักโดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้แก่ กลุ่มที่มีการใช้เข็มฉีดยาไม่สะอาด เช่น กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด กลุ่มผู้ที่สักหรือเจาะตามร่างกาย รวมไปถึงบุคลากรด้านสาธารณสุข และกลุ่มชายรักชายซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ นอกจากนี้ยังมีการติดต่อจากมารดาสู่ทารกแต่พบได้น้อย นอกจากนี้กลุ่มเสี่ยงยังได้แก่ คนที่ได้รับการถ่ายเลือดก่อนปี 1992 ผู้ที่ต้องเข้ารับการฟอกเลือดเป็นระยะเวลานาน คนที่เคยได้รับยา brinogen (ยาที่ใช้เวลาผ่าตัดในรายที่ต้องเสียเลือดมาก) คนที่เคยผ่าตัดใหญ่รวมถึงคนที่เคยปลูกถ่ายอวัยวะ

การรักษาในปัจจุบัน

แม้เดิมทีจะมียาที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ฟรีซึ่งบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแต่ก็มีความยากในการรักษาเนื่องจากประสิทธิภาพของยายังไม่ดีมาก และต้องมีการฉีดยาร่วมด้วยประกอบกับระยะเวลาในการรักษาที่ยาวนานและผลข้างเคียงทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากขึ้น ทว่าปัจจุบันได้มีการบรรจุยาตัวใหม่เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติที่เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้มากขึ้น ใช้เวลารักษาน้อยลง รับยาได้ด้วยการรับประทานช่วยให้ผู้ป่วยรับการรักษาได้สะดวกขึ้น ผลข้างเคียงลดลงและมีราคาที่ถูกลงอีกด้วย การบรรจุยาใหม่นี้เป็นผลมาจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานด้านวิชาการ ภาคประชาชน และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในประเทศไทยรวมถึงงานวิจัยจาก HITAP ด้วย

 

เรียบเรียงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ภญ,เนตรนภิส สุชนวนิช อนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ, ศ.นพ. พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคตับจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคไวรัสตับอักเสบ ประธานฝ่ายวิจัย สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย, พญ. อัญชลี อวิหิงสานนท์ หัวหน้าแพทย์วิจัย HIV-NAY ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยและพญ. สุชาดา เจียมศิริ หัวหน้าศูนย์ประสานงานโรคตับอักเสบจากไวรัส

 

ติดตามชมคลิปสารคดีชุด “เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบซี“ – ตอนที่ 1 คลิ๊ก https://youtu.be/cF3G-e9A5lE-ตอนที่ 2 คลิ๊ก https://youtu.be/MA-qiMxGlfY)

15 พฤษภาคม 2561

Next post > เปิดเบื้องหลัง The Economist ยกระบบหลักประกันสุขภาพไทยตัวอย่างใช้งบ ”คุ้มค่า” ระดับโลก!

< Previous post “เมจิกสกิน VS อย.” ช่องโหว่อยู่ไหน เหตุใดมีเลขอย.แต่ยังเสี่ยง

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ