สแกนสมองเมื่อเจ็บศีรษะ จำเป็น(ซะ)เมื่อไหร่?
อาการปวดศีรษะอาจเป็นผลมาจากการกระทบกระเทือนทางสมอง (concussion) เลือดไหลในสมองหรือกระโหลกร้าว ? แต่บ่อยครั้งก็ไม่ได้รุนแรงนัก ซีรีส์ ‘เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา’ ขอเล่าแจ้งแถลงไข อาการแค่ไหนคุณจึงต้องสแกนสมอง ?
อันดับแรกสุด สิ่งที่สำคัญในการตรวจหาสาเหตุของอาการก็คือการที่แพทย์จะต้องสอบถามคุณถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการกระทบกระเทือนทางสมองหรืออาการบาดเจ็บอื่น ๆ แพทย์อาจให้คุณสแกนสมองเพื่อให้แน่ใจว่ากระโหลกของคุณไม่มีความเสียหาย หรือสมองไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง แต่หลายครั้งการสแกนสมองกลับไม่จำเป็นซ้ำร้ายยังก่อให้เกิดผลเสีย และต่อไปนี้คือเหตุผล
สแกนสมองไม่มีส่วนช่วยอาการกระทบกระเทือนทางสมองเลย
การตรวจศีรษะด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า ซีที สแกน (CT Scan)จะทำให้เห็นภาพว่ามีการแตกร้าวที่กระโหลกหรือเลือดไหลภายในสมองหรือไม่ ส่วนการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เรียกว่าเอ็มอาร์ไอ (MRI) จะทำให้เห็นภาพเนื้อเยื่อสมองได้อย่างชัดเจน แต่การสแกนเหล่านี้ไม่สามารถบอกได้ว่าคุณมีอาการกระทบกระเทือนทางสมอง ซึ่งไม่เหมือนกับอาการที่เกิดจากกระโหลกศีรษะแตกร้าวหรือเลือดไหลในสมอง ทั้งยังบอกไม่ได้ถึงผลกระทบที่มีต่อสมองของคุณ และที่จริงแล้วอาการกระทบกระเทือนทางสมองมักหายเองได้ภายใน 2-3 สัปดาห์เท่านั้น
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามีอาการกระทบกระเทือนทางสมอง
มีเพียงแพทย์เท่านั้นที่สามารถวินิจฉัยอาการกระทบกระเทือนทางสมองได้โดยมีวิธี ดังนี้
- สอบถามเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่คุณได้รับ
- ตรวจสอบความทรงจำของคุณ ความสามารในการพูดคุย สมดุลและการทรงตัว
- ตรวจสอบศีรษะ ดวงตา หูและคอ
- สำรวจอาการกระทบกระเทือนทางสมอง เช่น การปวดหัว อาเจียน คลื่นเหียน เวียนหัว การทรงตัวมีปัญหา มองเห็นภาพเบลอ ได้ยินเสียงวิ้งในหู สับสน สูญเสียความทรงจำ ไม่มีสมาธิ อ่อนไหวกับแสงหรือเสียงรบกวน หมดสติ
การสแกนสมองมีความเสี่ยง
การทำซีที สแกนจะมีการใช้รังสีส่งผลให้คุณมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น เด็กเล็ก โดยเฉพาะทารกจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเพราะพวกเขากำลังอยู่ในช่วงที่มีพัฒนาการทางสมอง เด็กเล็กอาจจะจำเป็นต้องถูกวางยากล่อมประสาทเพื่อให้นอนนิ่ง ๆ ก่อนเข้ารับการสแกน ซึ่งยาเหล่านี้มีความเสี่ยงและผลการตรวจบางครั้งก็ไม่ชัดเจน จึงยิ่งจะนำไปสู่การตรวจที่มากขึ้นและต้องส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยญชาญเฉพาะด้าน
จ่ายแพงและอาจต้องจ่ายต่อเนื่องอีกมหาศาล
การทำซีที สแกนมีค่าใช้จ่ายมาตรฐานในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 485 ดอลลาร์[*]ค่าใช้จ่ายจะแตกต่างตามแต่ส่วนของร่างกายที่ทำการสแกนรวมไปถึงความละเอียด ในประเทศไทยค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3,500 – 10,000 บาท ซึ่งโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ 5,000 – 6,000 บาทขณะที่โรงพยาบาลเอกชนค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10,000 – 12,000 บาท ในส่วนของการสแกน MRI มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 930 คอลลาร์* ในประเทศไทยการตรวจเฉพาะส่วนมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 7,200 บาท ทั้งนี้หากผลตรวจไม่ชัดเจนคุณอาจต้องจ่ายเพิ่มสำหรับการตรวจพิเศษและต้องพบแพทย์เฉพาะทางอีก
คุณจำเป็นต้องสแกนสมองเมื่อไหร่
โดยทั่วไปซีที สแกนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดลำดับแรกหากแพทย์คิดว่าคุณมีอาการกระโหลกร้าวหรือเลือดไหลในสมอง แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอุบัติเหตุโดยความเป็นไปได้ที่จะเกิดกระโหลกร้าวและเลือดไหลในสมองมีดังนี้
- กล้ามเนื้อใบหน้าหรือร่างกายข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง
- มีปัญหาการพูด การได้ยิน และการกลืน
- สมรรถภาพในการมองลดลง
- มีอาการชัก
- อาเจียนบ่อยครั้ง
- ปวดหัวรุนแรง
- ตาดำข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง
- มีของเหลวหรือเลือดออกมาจากหูและจมูก
- กดแล้วเจ็บที่บริเวณเหนือกระโหลก
แพทย์ของคุณอาจจะให้ใช้ซีที สแกนในกรณีนี้เหล่านี้ คุณหมดสติ คุณประสบอุบัติเหตุรถยนต์ คุณตกจากความสูงมากกว่า 3 ฟุต ส่วนการสแกนเอ็มอาร์ไออาจเป็นประโยชน์อย่างมากก็ต่อเมื่อคุณมีอาการต่อเนื่องมากกว่า 48 ชั่วโมงหลังได้รับบาดเจ็บ หรืออาการเหล่านั้นแย่ลง
บทความนี้แปลและเรียบเรียงโดยใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ “Choosing Wisely” โครงการรณรงค์ขององค์กรการแพทย์ American Board of Internal Medicine (ABIM) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ทางการแพทย์ให้กับทั้งผู้ป่วย คนใกล้ชิด และแพทย์ผู้รักษา เพื่อหาทางรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดให้ผู้ป่วย โครงการเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาในปี 2555 เพื่อสนับสนุนการสนทนาระหว่างแพทย์และคนไข้ด้วยการช่วยให้คนไข้เลือกวิธีการรักษาโดยพิจารณาจากการสนับสนุนด้วยหลักฐาน, ไม่ซ้ำซ้อนจากการตรวจอื่นหรือแนวปฏิบัติที่ได้รับไปแล้ว, ปราศจากอันตรายและมีความจำเป็นในการรักษาอย่างแท้จริง โครงการนี้ประสบความสำเร็จทำให้มีการจ่ายยาน้อยลง ลดความเสี่ยงและลดต้นทุนการรักษา ปัจจุบันเริ่มขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.choosingwisely.org/patient-resources/brain-scans-for-head-injuries/
หมายเหตุ : การแนะนำของ Choosing Wisely ไม่ควรถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจคุ้มครองหรือยกเว้น อย่างไรก็ตาม คำแนะนำเหล่านี้มุ่งหมายกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับการรักษาที่จำเป็นและเหมาะสม สถานการณ์ของคนไข้แต่ละคนมีความเฉพาะตัว แพทย์และคนไข้ควรใช้คำแนะนำเหล่านี้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกแผนการรักษาร่วมกัน
ซีรีส์ ‘เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา’ นี้ เราได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง Testing Treatments ‘การรักษาที่ต้องสงสัย’ เขียน โดย อิโมเจน อีแวนส์, เฮเซล ธอร์น ตัน, เอียน ชาลเมอร์ส, พอล กลาสซิโอ เพราะ ‘ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เว้นแต่ความตายและภาษี’ เราจึงต้องสงสัยไว้เสมอว่า ‘วิธีการรักษานั้น ๆ เหมาะสมแล้วแน่หรือ’ การแพทย์ช่วยชีวิตผู้คนไว้มากมาย แต่การรักษาทุกอย่างก็มีความเสี่ยงซึ่งเกินความสามารถที่เราจะคาดเดาได้ เมื่อเราต้องเลือก จึงต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจผลของการมี (และขาด) ข้อมูลที่มีคุณภาพ วิธีที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ข้อมูลเหล่านั้น และเราจะนำข้อมูลไปใช้อย่างไร คำว่า ‘เรา’ ในที่นี้หมายถึงทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงแพทย์ ไม่ใช่แค่นักวิจัย แต่ผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปก็ควรมีส่วนตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษา (และการไม่รักษา) ที่ตนจะได้รับหนังสือเล่มนี้กำลังแปลเป็นภาษาไทย ติดตามที่ HITAP ได้เร็ว ๆ นี้
ซีรีส์ “เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา” BLOG ต่อไป อาการปวดหน้าอกเป็นไปได้ว่าคุณจะมีอาการป่วยเกี่ยวกับหัวใจ ความกังวลอาจนำพาคุณไปสู่การตรวจที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่หลายครั้งอาการปวดหน้าอกจะหายไปเอง แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดของคุณเป็นปัญหาใหญ่ติดตามอ่านได้เร็ว ๆ นี้
Designed by Kjpargeter / Freepik
[*] ตามที่มีระบุไว้ใน HealthCareBlueBook.com