รู้ได้ไง? วิธีรักษาฟันแบบไหนเหมาะสำหรับคุณ
การรักษาความสะอาดในช่องปากคือวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาสุขภาพฟันของคุณ การไปหาหมอเพื่อปรึกษาวิธีรักษาฟันคืออีกก้าวสำหรับป้องกันปัญหาสุขภาพฟัน แล้วอะไรคือการรักษาฟันที่เหมาะสำหรับคุณละ? ซีรีส์ ‘เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา’ ขอเสนอตัวเลือกการทำฟันจะช่วยให้คุณปรึกษากับทันตแพทย์ของคุณได้ง่ายยิ่งขึ้น ต่อไปนี้คือข้อมูลตัวเลือกการรักษาฟันทั่วไปเพื่อใช้สำหรับปรึกษากับทันตแพทย์ว่าการรักษาแบบไหนที่ดีที่สุดสำหรับคุณและครอบครัว
การเคลือบหลุมร่องฟัน (sealants) สำหรับป้องกันฟันผุหรือรักษาการเริ่มต้นของเกิดโพรงที่ฟันกรามด้านใน (back teeth)
ฟันของคุณมีร่องและรอยแตกอยู่มากมายซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียซึ่งสามารถสร้างกรดกัดกินฟันของคุณ จนทำให้เกิดอาการฟันผุนำไปสู่การเกิดโพรงในฟันของคุณได้
การเคลือบหลุมร่องฟันจะช่วยปกป้องร่องฟันของคุณไม่ให้แบคทีเรียเข้ามาทำร้ายและยังช่วยทำให้ฟันของคุณเรียบลื่นง่ายสำหรับการแปรงทำความสะอาด ในบางกรณีวัสดุอุดร่องฟันสามารถแก้ปัญหาช่องในฟัน (Dental Cavity) ที่มีขนาดเล็กได้ และยังมีส่วนช่วยชะลอการอุดฟันของคุณออกไปได้อีกด้วย
ผู้ที่ควรปรึกษาทันตแพทย์เกี่ยวกับการเคลือบหลุมร่องฟันคือผู้ที่มีอาการฟันผุหรือเกิดฟันผุบ่อยครั้ง หรือเด็ก ๆ ที่เริ่มมีฟันกรามแท้ซี่แรก ๆ ขึ้น ทั้งนี้ การรักษายังสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ
อย่าเปลี่ยนที่อุดฟัน (fillings) ใหม่เพียงเพราะของเดิมเก่า
เมื่อคุณพบโพรงในฟัน หมอจะทำการรักษาและใส่ที่อุดฟันให้กับคุณซึ่งที่อุดฟันนี้มีอายุการใช้งานได้หลายปีโดยจะต้องเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเสียหายหรือหลุดหายไป หรือในกรณีที่ฟันของคุณเสียหายหรือเกิดฟันผุบริเวณใต้ที่อุดฟัน
บางคนเลือกเปลี่ยนเอาที่อุดฟันสีเงิน(อมัลกัม)ออกเพียงเพราะไม่ชอบสี กระบวนการในการเปลี่ยนที่อุดฟันสามารถทำร้ายฟันของคุณได้
อาการเจ็บขากรรไกรควรใช้การรักษาแบบประคับประคองก่อน
โรคข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว (Temporomandibular disorder หรือ TMD) เป็นอาการผิดปกติทั่วไปของขากรรไกร มีสาเหตุมาจากโรคเครียด อาการอักเสบหรือการบาดเจ็บบางอย่าง โรคนี้อาจนำมาซึ่งเสียงขัดเวลาคุณอ้าปาก ความเจ็บปวดบริเวณใบหน้าและกราม ทำให้เกิดปัญหาเวลาอ้าปากเปิดขากรรไกร ซึ่งสามารถหายได้เอง แต่หากไม่หาย คุณอาจปรึกษาทันตแพทย์เพื่อขอข้อแนะนำเบื้องต้น เช่น หาทางลดอาการเครียดด้วยวิธีหายใจเข้าลึก ๆ เข้านอนโดยใส่ฟันยาง (night guard) เพื่อป้องกันการขบฟัน อาจสอบถามถึงยาคลายกล้ามเนื้อ หรือเลิกพฤติกรรมกัดเล็บ หากข้อแนะนำเหล่านี้ไม่ได้ผล คุณอาจจำเป็นต้องจัดฟันหรือรับการรักษาฟันด้วยวิธีอื่น
ปรึกษาแพทย์ถึงวิธีช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกดีเมื่อต้องไปหาหมอฟัน
การพบหมอฟันอาจเป็นเหมือนฝันร้ายสำหรับเด็ก ๆ คุณควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงวิธีช่วยให้พวกเขาสงบลง ถ้าการรักษาสามารถรอได้ ทันตแพทย์อาจพิจารณาเริ่มการรักษาเมื่อเด็กโตกว่านี้แต่ควรพาเด็กไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แพทย์สามารถตัดสินใจได้ว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาที่เด็กจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา
แต่หากเด็ก ๆ จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที ทันตแพทย์อาจเลือกให้ยา (เช่น แก๊สหัวเราะ) เพื่อช่วยให้เด็กผ่อนคลายหรือหลับไป ยาเหล่านี้ปลอดภัยในหลายกรณีแต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ปรึกษาทันตแพทย์ถึงความเสี่ยงเหล่านั้นและทำให้แน่ใจว่าแพทย์ของคุณได้รับการอนุมัติให้ใช้ยาที่ทำให้ลูกของคุณพร้อมกับการรักษาจริง ๆ
บทความนี้แปลและเรียบเรียงโดยใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ “Choosing Wisely” โครงการรณรงค์ขององค์กรการแพทย์ American Board of Internal Medicine (ABIM) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ทางการแพทย์ให้กับทั้งผู้ป่วย คนใกล้ชิด และแพทย์ผู้รักษา เพื่อหาทางรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดให้ผู้ป่วย โครงการนี้เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาในปี 2555 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสนทนาระหว่างแพทย์และคนไข้ด้วยการช่วยให้คนไข้เลือกวิธีการรักษาโดยพิจารณาจากการมีหลักฐานสนับสนุน, ไม่ซ้ำซ้อนจากการตรวจอื่นหรือแนวปฏิบัติที่ได้รับไปแล้ว, ปราศจากอันตรายและมีความจำเป็นในการรักษาอย่างแท้จริง โครงการนี้ประสบความสำเร็จทำให้มีการจ่ายยาน้อยลง ลดความเสี่ยงและลดต้นทุนการรักษา ปัจจุบันเริ่มขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.choosingwisely.org/patient-resources/which-dental-treatments-are-right-for-you/
หมายเหตุ : การแนะนำของ Choosing Wisely ไม่ควรถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจคุ้มครองหรือยกเว้น อย่างไรก็ตาม คำแนะนำเหล่านี้มุ่งหมายกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับการรักษาที่จำเป็นและเหมาะสม สถานการณ์ของคนไข้แต่ละคนมีความเฉพาะตัว แพทย์และคนไข้ควรใช้คำแนะนำเหล่านี้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกแผนการรักษาร่วมกัน
ซีรีส์ ‘เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา’ นี้ เราได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง Testing Treatments ‘การรักษาที่ต้องสงสัย’ เขียน โดย อิโมเจน อีแวนส์, เฮเซล ธอร์น ตัน, เอียน ชาลเมอร์ส, พอล กลาสซิโอ เพราะ ‘ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เว้นแต่ความตายและภาษี’ เราจึงต้องสงสัยไว้เสมอว่า ‘วิธีการรักษานั้น ๆ เหมาะสมแล้วแน่หรือ’ การแพทย์ช่วยชีวิตผู้คนไว้มากมาย แต่การรักษาทุกอย่างก็มีความเสี่ยงซึ่งเกินความสามารถที่เราจะคาดเดาได้ เมื่อเราต้องเลือก จึงต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจผลของการมี (และขาด) ข้อมูลที่มีคุณภาพ วิธีที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ข้อมูลเหล่านั้น และเราจะนำข้อมูลไปใช้อย่างไร คำว่า ‘เรา’ ในที่นี้หมายถึงทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงแพทย์ ไม่ใช่แค่นักวิจัย แต่ผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปก็ควรมีส่วนตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษา (และการไม่รักษา) ที่ตนจะได้รับ หนังสือเล่มนี้กำลังแปลเป็นภาษาไทย ติดตามที่ HITAP ได้เร็ว ๆ นี้
ซีรีส์ “เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา” BLOG ต่อไป หากคุณมีอาการปวดหัว คุณอาจกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้น การสแกนสมองเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่คุณรู้สึกเชื่อมั่นว่าจะทำให้คุณรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในหัวคุณได้ แต่ไม่จริงเสมอไป การสแกนสมองไม่มีส่วนช่วยในการรักษาอาการกระทบกระเทือนทางสมอง แล้วสแกนสมองช่วยอะไรได้บ้าง ควรสแกนสมองเมื่อไหร่ ติดตามอ่านได้เร็ว ๆ นี้
Designed by macrovector / Freepik