logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ยานอนหลับไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับโรคนอนไม่หลับ

เมื่อคุณมีอาการนอนไม่หลับ (insomnia) หรือปัญหาเรื่องการนอน คุณอาจจะคิดถึงการใช้ “ยานอนหลับ” แต่ยาเหล่านั้นไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาและยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นอีกด้วย ซีรีส์ ‘เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา’ ขอเสนอสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับยานอนหลับที่อาจทำร้ายคุณ มากกว่ารักษาคุณ

โรคนอนไม่หลับกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้หากในหนึ่งสัปดาห์คุณมีอาการนอนไม่หลับตั้งแต่  3 คืนขึ้นไปเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน แต่ยานอนหลับก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีนักในการแก้ปัญหา ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับยานอนหลับ

 

คุณอาจใช้ยามากเกินไป

ยานอนหลับเป็นหนึ่งในยาที่มีการสั่งจ่ายมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนไข้ร้องขอ  นอกจากนี้แพทย์ยังเลือกจ่ายยานอนหลับแทนการพยายามใช้การรักษาอื่น ๆ ก่อนเป็นอันดับแรก

 

ยานอนหลับไม่ได้ช่วยให้นอนหลับได้มากอย่างที่คุณคิด

จากการสังเกตพฤติกรรมการนอน (sleep study) หลายครั้งแสดงให้เห็นว่ายานอนหลับสามารถช่วยให้คนนอนหลับได้เร็วขึ้นเพียง 8 – 20 นาที และการหลับในเวลากลางคืนยาวนานขึ้นน้อยกว่า 35 นาที

 

ยานอนหลับมีความเสี่ยงและผลข้างเคียง

หากคุณใช้ยานอนหลับติดต่อกันหลายวัน ความเสี่ยงหนึ่งที่คุณจะได้รับคือ คุณอาจจะเริ่มติดยานอนหลับ

คุณอาจต้องใช้ยาทุกครั้งที่คุณต้องการนอนหลับ และมันยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ หากพยายามจะหยุดยา นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้คุณไม่ควรทานติดต่อกัน หรือแค่ 2 – 3 วันติดต่อกันก็พอ

ยังมีความเสี่ยงและผลข้างเคียงอื่นร่วมด้วย เช่น อาการง่วงนอนระหว่างวัน อาการเวียนหัวและเกิดภาพหลอน รวมไปถึงอาการนอนละเมอ และละเมอรับประทานอาหาร (sleep-eating) นอกจากนี้ ยาช่วยให้นอนหลับ เช่นกลุ่มยาต้านฮิสตามีน (antihistamine) ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น ยาเบนนาดริล (Benadryl) และยาไทลินอล พีเอ็ม (Tylenol PM) และยาชื่อสามัญที่มีตัวยาเดียวกันก็มีความเสี่ยงเช่นกัน คุณควรปรึกษาแพทย์ว่ายาเหล่านี้ปลอดภัยสำหรับคุณหรือไม่

 

ปรึกษาแพทย์ถึงการรักษาที่หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ

รูปแบบหนึ่งของการปรึกษาระยะสั้นที่เรียกว่า CBT (Cognitive behavioral therapy) หรือการบำบัดความคิดและพฤติกรรมอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ได้ผลลัพธ์ที่ดีพอ ๆ กับการใช้ยานอนหลับ และไม่มีความเสี่ยงใด ๆ

ผู้คนมากมายสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น คุณอาจจะได้เรียนรู้การนอนอย่างเป็นกิจลักษณะ ตัวอย่างเช่น การตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน หยุดดูทีวีบนที่นอน หรือวิธีเตรียมใจให้สงบก่อนเข้านอนอย่างถูกต้อง

 

CBT อาจราคาถูกกว่า

ในสหรัฐอเมริกายานอนหลับอาจทำให้คุณต้องเสียเงินตั้งแต่ 17 – 60 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ยาใหม่อาจมีราคาสูงกว่านั้น การไปพบแพทย์ก็ยิ่งเสียค่าใข้จ่ายเพิ่มขึ้น ในระยะยาวแล้ว CBT อาจมีราคาถูกกว่า คุณอาจจำเป็นต้องเข้ารับการปรึกษาเพียงแค่ 6 ครั้งเท่านั้น  โดยทั่วไปการพบจิตแพทย์ที่ให้การรักษา CBT สำหรับผู้เป็นโรคนอนไม่หลับมีราคาถึง 100 ดอลลาร์หรือมากกว่า แต่คุณอาจจ่ายน้อยกว่านั้นมากถ้ามีประกันครอบคลุม ในส่วนของประเทศไทยค่าใช้จ่ายในการทำ CBT อยู่ที่ราว 2,500 – 8,500 บาท ขณะที่สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยระบุค่าบริการในการให้คำปรึกษาทั่วไปในโรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ 50 – 100 บาท

 

สรุปว่ายานอนหลับมันดีไหมเนี่ย?

ยานอนหลับอาจช่วยได้มากในกรณีที่คุณมีอาการนอนไม่หลับเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิต เช่น การสูญเสียสมาชิกในครอบครัว อาการป่วยรุนแรงหรือการหย่าร้าง และหากคุณเริ่มรับการ CBT ไปด้วย มันอาจช่วยลดช่วงเวลาในการทานยานอนหลับให้น้อยลงได้และยังช่วยปรับปรุงการนอนหลับให้ดีเหมือนเดิมได้อีกด้วย

 

จะหยุดการใช้ยานอนหลับได้ยังไง

ถ้าคุณใช้ยานอนหลับติดต่อกันนาน คุณควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการหยุดใช้ยา ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายเดือนเพื่อการหยุดใช้ยาอย่างปลอดภัย

 

ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับเมื่อไหร่

แพทย์ของคุณอาจส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อการศึกษาด้านการนอนหลับด้วยการสังเกตพฤติกรรมการนอน โดยร่างกายของคุณจะถูกเก็บข้อมูลขณะนอนหลับ โดยปกติแล้วคุณจำเป็นต้องรับการสังเกตพฤติกรรมการนอนเพื่อให้ทราบถึงปัญหาการนอนอื่น ๆ อย่างเช่น  โรคหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea ) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคนอนไม่หลับ โดยสัญญาณที่บอกถึงโรคนี้โดยทั่วไปได้แก่ การกรนเสียงดังหรือบ่อย คนที่นอนด้วยบอกว่าคุณหยุดหายใจขณะหลับ หรือคุณรู้สึกง่วงบ่อย ๆ ระหว่างวัน

 

เคล็ดไม่ลับเพื่อการนอนที่ดีขึ้น

คุณสามารถใช้เคล็ดลับเหล่านี้เพื่อปรับปรุงการนอนควบคู่กับ CBT หรือลองปรับใช้ก่อนได้ทันที

  • ตื่น – นอนตรงเวลา พยายามเข้านอน – ตื่นนอนในเวลาเดียวกันของทุก ๆ วัน
  • สร้างสรรค์ที่นอนที่สงบสุข กำจัดเสียงรบกวนและแสงจากภายนอกให้หมดไป อย่าวางทีวีไว้ในห้องนอน
  • จำกัดการใช้มือถือและแท็บเล็ตต่าง ๆ แสงจากหน้าจอเหล่านี้จะทำให้คุณไม่รู้สึกง่วง ดังนั้นก่อนเข้านอน 1 – 2 ชั่วโมงคุณควรหยุดให้งานมือถือและแท็บเล็ต
  • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดแอลกอฮอร์ คาเฟอีน และนิโคติน อย่าทานก่อนเวลาเข้านอนเพียงไม่กี่ชั่วโมง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยให้คุณนอนหลับได้ดีขึ้น แต่อย่าออกกำลังกายก่อนเข้านอนทันที
  • หลีกเลี่ยงการผุดลุกผุดนั่ง นอนพลิกไปพลิกมา อย่ามองนาฬิกาหลังเข้านอนแล้ว หากคุณไม่สามารถหลับได้ภายใน 20 นาที คุณควรลุกจากเตียงแล้วทำสิ่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายเช่น อ่านหนังสือ (ยกเว้นการใช้มือถือหรือแท็บเล็ตหรืออุปกรณ์ที่มีหน้าจอส่องสว่าง) เมื่อคุณเริ่มง่วงให้กลับไปที่เตียงอีกครั้ง

 

บทความนี้แปลและเรียบเรียงโดยใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ “choosing wisely” โครงการรณรงค์ขององค์กรการแพทย์ American Board of Internal Medicine (ABIM)  มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ทางการแพทย์ให้กับทั้งผู้ป่วย คนใกล้ชิด และแพทย์ผู้รักษา เพื่อหาทางรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดให้ผู้ป่วย  โครงการนี้เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาในปี 2555 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสนทนาระหว่างแพทย์และคนไข้ด้วยการช่วยให้คนไข้เลือกวิธีการรักษาโดยพิจารณาจากการมีหลักฐานสนับสนุน ไม่ซ้ำซ้อนจากการตรวจอื่นหรือแนวปฏิบัติที่ได้รับไปแล้ว ปราศจากอันตรายและมีความจำเป็นในการรักษาอย่างแท้จริง โครงการนี้ประสบความสำเร็จทำให้มีการจ่ายยาน้อยลง ลดความเสี่ยงและลดต้นทุนการรักษา ปัจจุบันเริ่มขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.choosingwisely.org/patient-resources/sleeping-pills-for-insomnia/

หมายเหตุ : การแนะนำของ Choosing Wisely ไม่ควรถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจคุ้มครองหรือยกเว้น อย่างไรก็ตาม คำแนะนำเหล่านี้มุ่งหมายกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับการรักษาที่จำเป็นและเหมาะสม สถานการณ์ของคนไข้แต่ละคนมีความเฉพาะตัว แพทย์และคนไข้ควรใช้คำแนะนำเหล่านี้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกแผนการรักษาร่วมกัน

 

ซีรีส์ ‘เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา’ นี้ เราได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง Testing Treatments ‘การรักษาที่ต้องสงสัย’ เขียน โดย อิโมเจน อีแวนส์, เฮเซล ธอร์น ตัน, เอียน ชาลเมอร์สและ พอล กลาสซิโอ เพราะ ‘ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เว้นแต่ความตายและภาษี’ เราจึงต้องสงสัยไว้เสมอว่า ‘วิธีการรักษานั้น ๆ เหมาะสมแล้วแน่หรือ’ การแพทย์ช่วยชีวิตผู้คนไว้มากมาย แต่การรักษาทุกอย่างก็มีความเสี่ยงซึ่งเกินความสามารถที่เราจะคาดเดาได้ เมื่อเราต้องเลือก จึงต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจผลของการมี (และขาด) ข้อมูลที่มีคุณภาพ วิธีที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ข้อมูลเหล่านั้น และเราจะนำข้อมูลไปใช้อย่างไร คำว่า ‘เรา’ ในที่นี้หมายถึงทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงแพทย์ ไม่ใช่แค่นักวิจัย แต่ผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปก็ควรมีส่วนตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษา (และการไม่รักษา) ที่ตนจะได้รับ  หนังสือเล่มนี้กำลังแปลเป็นภาษาไทย ติดตามที่ HITAP ได้เร็ว ๆ นี้

ซีรีส์ “เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา” BLOG ต่อไป การแปรงฟันเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับการดูแลรักษาสุขภาพฟัน แต่หากจะไปพบทันตแพทย์ตัวเลือกอะไรบ้างละที่จะช่วยรักษาฟันให้กับคุณ หากยังไม่แน่ใจ…ติดตามตัวเลือกการรักษาฟันที่จะช่วยให้คุณสามารถพูดคุยกับทันตแพทย์ของคุณเพื่อค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะที่สุดสำหรับคุณ (รวมถึงคนที่คุณรัก) เร็ว ๆ นี้

Designed by topntp26 / Freepik

Designed by Jcomp / Freepik

15 มีนาคม 2561

Next post > รู้ได้ไง? วิธีรักษาฟันแบบไหนเหมาะสำหรับคุณ

< Previous post “อาหารมีพิษ – ยาสวยทำลายชีวิต” ภัยใกล้ตัวที่ “ภาคประชาชน” ต้องร่วมแก้ปัญหา

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ