เปิดมุมมอง “ภญ.พัทธรา ลีฬหวรงค์” หัวหน้าโครงการ HITAP คนใหม่
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพหรือ HITAP ทำงานขับเคลื่อนประเด็นสาธารณสุขผ่านงานวิจัยเชิงนโยบายมากมายโดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับสาธารณสุขไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคมองค์กรหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง หลังจาก ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ได้ก่อร่างสร้างแนวทางของ HITAP มาตลอดหลายปี ถึงวันนี้ก็ได้โอกาสส่งไม้ต่อให้กับ ภญ.พัทธรา ลีฬหวรงค์ จากนักวิจัยหลักสู่การเป็นหัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพคนใหม่ จากการบริหารจัดการทีมวิจัยสู่การจัดการระดับองค์กรผ่านการเปลี่ยนแปลงจากรากฐานขององค์กรในอดีตสู่อนาคตที่มุ่งสร้างความมั่นคงในระบบสุขภาพระดับประเทศ เธอมีวิสัยทัศน์อย่างไร? HITAP ขอเชิญท่านผู้อ่านติดตาม
มีแนวทางในการนำพา HITAP อย่างไร?
HITAP เป็นหน่วยงานวิชาการเราจึงคิดว่างานวิชาการต้องมีคุณภาพก่อน เรามุ่งเน้นทำให้น้อง ๆ นักวิจัยหรือผู้ช่วยวิจัยสามารถทำงานวิชาการที่มีคุณภาพเป็นหลัก นอกจากนี้เราก็เน้นว่างานวิชาการจะต้องไม่ขึ้นหิ้ง มันต้องเอามาใช้ได้จริงในเชิงนโยบายหรือประชาชนนำไปใช้ได้ เราจึงจะให้งานวิชาการของเราสื่อสารออกไปได้ง่าย ๆ แล้วทุกคนสามารถเข้าใจนำไปใช้ได้
ประเทศไทยควรมีระบบการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพเราอยากให้ประเทศไทยมีระบบประเมินทั้งเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพเพื่อให้การตัดสินใจลงทุนต่าง ๆ ในด้านสุขภาพที่เหมาะสม สิ่งนี้เป็นเป้าหมายของ HITAP ตั้งแต่ต้นและจะยังเป็นต่อไปเพื่อให้ประเทศไทยมีระบบการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพหรือที่เรียกว่า HTA เมื่อมีการตัดสินใจเชิงนโยบายต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ถึงทุกวันนี้ HTA ของประเทศไทยก็นับว่าโดดเด่น และ HITAP เริ่มที่จะไปพัฒนาศักยภาพด้านนี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เขามีระบบการทำ HTA เช่นเดียวกัน
บริหารองค์กรทุกคนต้องมีส่วนร่วม
อันที่จริงก็ไม่ได้ต่างจากเดิมที่บริหารทีมวิจัยในฐานะนักวิจัยหลัก (project investigator: PI) ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยก็จะเน้นให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดำเนินงานต่างๆ สำหรับตอนนี้ก็คงเหมือนกันแต่เราขึ้นมาเป็นผู้นำในหน่วยที่ใหญ่ขึ้นเป็นระดับองค์กร ดังนั้นหลักการก็คงเดิมคือเราไม่อยากให้เราเหมือนเป็นบอส เราอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกอย่างขององค์กร รับฟังความเห็นของทุกคน อภิปรายร่วมกันเพื่อหาข้อสรุป แล้วก็ขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกัน HITAP ไม่ใช่ของเราคนเดียวแต่เป็นของเราทุกคน
ความมั่นคงของงานวิชาการคือความมั่นคงขององค์กร HITAP เติบโตขึ้นมากนับจากตอนเริ่มต้น สำหรับความมั่นคงคิดว่า HITAP มีในระดับหนึ่ง แต่องค์กรยังต้องมีความมั่นคงมากขึ้นในอนาคตซึ่งสำคัญมากสำหรับทุกคนในองค์กร ส่วนตัวคิดว่าเมื่อเราสร้างระบบ HTA ในประเทศให้มีความยั่งยืนและมั่นคง HITAP ก็จะมั่นคงตามไปด้วย
องค์กรวิจัยต้องโดดเด่นด้านคุณภาพงานวิชาการและพัฒนาศักยภาพนักวิจัยจุดเด่นของ HITAP มี 2 ด้านใหญ่ ๆ ด้านแรกคงเป็นคุณภาพของงานที่ผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ทำให้คนที่เขาไว้ใจมอบหมายงานให้เรารู้สึกผิดหวัง และเราก็อยากให้ทุกคนเห็นว่างานเรามันมีประโยชน์จริง ๆ ซึ่งเราก็พิสูจน์มาได้ในระดับหนึ่งโดยการที่งานวิจัยถูกนำไปใช้จริงในเชิงนโยบายหรือในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ
จุดเด่นที่ 2 ที่สำคัญคือ HITAP เป็นเหมือนโรงเรียนที่ถ้าใครสนใจจะทำงานวิจัยอย่างจริงจัง ที่ HITAP ก็มีครบทั้งกระบวนการรวมถึงมีการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยทั้งจากการอบรมด้านวิชาการและ on the job training ซึ่งส่วนตัวคิดว่าระบบนี้เหมาะสำหรับคนที่อยากจะทำวิจัยจริง
กลยุทธ์และแผนพัฒนางานวิจัย
แม้ว่าตอนนี้จะมีทุนสนับสนุนการวิจัยในประเทศมากมาย แต่ขณะเดียวกันกลับขาดนักวิจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพที่ปัจจุบันมีค่อนข้างน้อยอันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก บางครั้งเงินทุนไม่ใช่เรื่องสำคัญมากเท่ากับมีคนทำงานหรือไม่ และนักวิจัยก็ต้องมีความสามารถในการทำงานวิชาการที่มีคุณภาพ ดังนั้นหลักสำคัญในการจะพัฒนางานวิจัยก็คือการพัฒนาคนหรือพัฒนานักวิจัยซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักและต้องใช้เวลา
อีกอย่างคือหัวข้องานวิจัยที่ HITAP จะทำก็ต้องพิจารณาถึงความสำคัญ มีหัวข้อวิจัยหลายเรื่องที่เสนอเข้ามาให้ HITAP แต่ HITAP พยายามที่เรื่องที่สำคัญจริง ๆ จำเป็นสำหรับการพัฒนาระบบสุขภาพ ซึ่งเรื่องใดก็ตามที่สำคัญเมื่อหยิบประเด็นนั้นมาวิจัยแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเราก็อยากจะทำเรื่องนั้นก่อน เพราะฉะนั้นนี่คือ 2 ด้านใหญ่ ๆ คือการพัฒนาคนไปควบคู่กับการเลือกหัวข้อวิจัยที่มีความสำคัญและสร้างผลกระทบสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
งานวิจัยเชิงนโยบายควรนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบในเชิงกว้างและลึก?
หลักฐานเชิงประจักษ์หรือผลงานวิจัยที่ HITAP พยายามทำขึ้นสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงนโยบายได้นะคะ สิ่งนี้เป็นวัตถุประสงค์ของงานวิจัยเราตั้งแต่ต้นว่าจะจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนั้นทุกครั้งงานวิจัยของ HITAP จะไม่ได้จบแค่สรุปผลว่ายานี้ดีไม่ดี แต่เราจะมีการผลิตสื่อต่าง ๆ เช่น policy brief (บทสรุปผู้บริหาร) เพื่อพยายามเน้นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายซึ่งข้อเสนอต่าง ๆเหล่านั้นจะนำไปสู่การปฏิบัติจริงหรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายด้วย
ซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่างๆ เหล่านั้นจะเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติงานนำข้อเสนอของเราไปใช้จริง ซึ่งก็ต้องใช้แรงเยอะเหมือนกันในการผลักดัน งานของเราไม่ได้จบแค่การตีพิมพ์รายงานการวิจัย บทความวิชาการ หรือตีพิมพ์ policy brief ส่งไปให้เขาอ่านแล้วเขาจะทำ จำเป็นต้องมีกระบวนการของการไปนำเสนองานของเรามีประโยชน์กับเขาจริง ๆ ซึ่งก็ต้องมี 2 ส่วนประกอบกันคืองานที่มีคุณภาพพร้อมกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและนักวิจัยเองก็ต้องมีส่วนในการผลักดันให้งานวิจัยและข้อเสนอนั้น ๆ สามารถไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ
ผลงานชิ้นแรกและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง “การประเมินความคุ้มค่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (stem cell transplantation) ในผู้ป่วยธาลัสซิเมียชนิดรุนแรง” เป็นเรื่องแรกและครั้งแรกของการทำวิจัย มีเรื่องราวความประทับใจและความยากลำบากมากมายกับงานวิจัยชิ้นนี้ค่ะ นั่นอาจจะเป็นจุดที่คุณหมอยศหัวหน้าโครงการในตอนนั้นมองเห็นอะไรบางอย่างในตัวเราด้วย
ในตอนนั้นได้รับหัวข้องานวิจัยของ HITAP เพื่อเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทซึ่งคุณหมอยศ อ.อุษา ฉายเกล็ดแก้ว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นพ. วิชช์ เกษมทรัพย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา งานวิจัยนี้เป็นการประเมินความคุ้มค่าของการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นเด็กสามารถหายขาดจากโรค และถ้าการรักษาได้ผลผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องให้เลือดและยาขับเหล็กไปตลอดชีวิต และสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติ การรักษาด้วยวิธีนี้มีราคาสูงมาก ค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วย 1 ราย ประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านบาท ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงต้องการข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าการรักษานี้มีความคุ้มค่าหรือไม่และควรจะนำการรักษานี้เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่? การทำงานวิจัยในตอนนั้นนอกจากได้เรียนรู้จากอาจารย์ที่ปรึกษาทุกท่านแล้วยังได้เรียนรู้จากพี่ ๆ นักวิจัยใน HITAP ด้วย ซึ่งขณะนั้น HITAP ก่อตั้งมาได้เพียง 1 ปี มีนักวิจัยไม่ถึง 10 คน ในแต่ละโครงการนักวิจัย 1 คนต้องทำเองในทุกกระบวนการตั้งแต่เขียนโครงร่างงานวิจัย จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จนถึงเขียนรายงานและบทความวิชาการ นักวิจัยทุกคนยังต้องเป็นนักวิจัยร่วมเพื่อช่วยนักวิจัยหลักในโครงการอื่น ๆ ด้วย ซึ่งจากกระบวนการทั้งหมดที่เราได้ทำเองตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นโครงการด้วยกระบวนการมาตรฐานการทำวิจัยที่ได้เรียนรู้ทั้งจากมหาวิทยาลัยและจาก HITAP เราใช้ความพยายามค่อนข้างมากในการที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่เพราะเป็นคนที่ถ้าทำอะไรไม่ได้เราจะพยายามทำด้วยตัวเองก่อน เป็นคนขี้เกรงใจด้วย เกรงใจที่จะต้องไปถามอาจารย์ เกรงใจที่จะต้องไปถามหมอยศและพี่ ๆ ใน HITAP เราก็เลยพยายามทำเองลองผิดลองถูก และให้อาจารย์ที่ปรึกษาทุกท่านแนะแนวทางเท่านั้น มีหลายครั้งที่เจอปัญหาในการทำวิจัยแต่จากความช่วยเหลือของทุกคนในตอนนั้นทำให้เราผ่านมันมาได้ สุดท้ายผลที่ได้คือเราสามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้ในที่สุด นั่นคือ ทำงานวิจัยได้อย่างมีคุณภาพสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศได้
นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสที่สำคัญมากและไม่เคยลืมเหตุการณ์นั้นจนถึงทุกวันนี้ คือ เราได้เข้าไปนำเสนอผลงานวิจัยของเราต่อผู้กำหนดนโยบาย ในตอนนั้นคือคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สปสช. โดย นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานในที่ประชุม เป็นครั้งแรกในชีวิตที่นำเสนอในที่ประชุมของผู้กำหนดนโยบายและคุณหมอยศไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนั้นด้วย ซึ่งเรานำเสนอแบบนักวิชาการเลยค่ะ ผลที่ออกมาคือ ผู้เข้าร่วมประชุมโดยเฉพาะคุณหมอสุวิทย์ ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม วิจารณ์ว่าเรานำเสนอไม่เหมาะกับการประชุมนี้ซึ่งควรจะเตรียมการนำเสนอสำหรับผู้บริหารที่มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ชัดเจนกว่านี้และสามารถใช้ตัดสินใจได้ โดยท่านได้ให้โอกาสมานำเสนอใหม่อีกครั้ง ในวันนั้นเรารู้สึกว่าเป็นความล้มเหลวและรู้สึกแย่มากที่เราทำออกมาได้ไม่ดี ถึงขั้นมีความคิดว่าไม่เอาแล้ว ไม่ทำแล้ว คงทำไม่ได้ ตัวเองไม่เหมาะกับงานนี้อีกต่อไป ซึ่งหลังจากนั้นกลับมาปรึกษาคุณหมอยศและอาจารย์ ซึ่งท่านก็ให้กำลังใจและให้เวลาไปพักฟื้นฟูสภาพจิตใจประมาณหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะไปนำเสนอในที่ประชุมผู้บริหารเรามองว่างานนี้เป็นแค่วิทยานิพนธ์ปริญญาโทเท่านั้นหลังจากเขียนเสร็จและส่งให้มหาวิทยาลัย ได้ปริญญาก็กลับบ้านได้ แต่ว่านั่นไม่เพียงพอสำหรับงานวิจัย HITAP เพราะเป้าหมายสูงสุดคือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ เมื่อมาคิดถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยของเราให้ได้มากที่สุด ก็ทำให้ฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้งและคิดว่าเราต้องทำให้ได้ เมื่อโอกาสครั้งที่สองมาถึงได้เข้าไปนำเสนอในการประชุมเดิมอีกครั้ง และก็เป็นอีกครั้งที่คุณหมอยศติดภารกิจไม่สามารถเข้าประชุมได้ จากครั้งแรกที่เราได้ข้อเสนอแนะจากที่ประชุมก็นำมาแก้ไขและปรับปรุงให้การนำเสนอครั้งที่สองเหมาะสมมากขึ้น เตรียมตัวเตรียมใจว่าเราต้องทำให้ดีขึ้นและจะไม่ให้ล้มเหลวเหมือนครั้งที่ผ่านมา ต้องทำให้ที่ประชุมเห็นความสำคัญของข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและตัดสินใจได้ และในที่สุดการนำเสนอในครั้งนั้นก็สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี และได้รับการชื่นชมจากคุณหมอสุวิทย์ทั้งในที่ประชุมและท่านได้ส่งอีเมลหาคุณหมอยศเพื่อชื่นชมเราด้วย ซึ่งความสำเร็จตรงนั้นอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่แต่ก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราก็เป็นนักวิจัยที่สามารถทำให้งานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่ขึ้นหิ้ง ซึ่งความภูมิใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือสุดท้ายนโยบายนี้ก็เกิดขึ้นจริง ๆ เพราะจากที่ผลการศึกษาแสดงว่าการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมีประสิทธิผลและคุ้มค่า แม้ว่าในช่วงแรกอาจจะมีประเด็นเรื่องจะสามารถขยายสิทธิประโยชน์และบริการนี้ในระบบสุขภาพได้อย่างไร จึงมีงานวิจัยอีกชิ้นต่อมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เช่น เรื่องกำลังคนทั้งแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล และเรื่องสถานที่ที่สามารถให้บริการได้ ซึ่งผลการศึกษานี้ได้ไปนำเสนออีกหลายครั้งในที่ประชุมผู้บริหาร ในที่สุดการรักษานี้ได้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. นับว่าเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ภูมิใจมากและเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับคนธรรมดาอย่างเราค่ะ