logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เบื้องลึก “เพิ่มสิทธิ์ยาใหม่ไวรัสตับอักเสบซี” คุ้มค่าอย่างไร?

บอร์ดสปสช.อนุมัติสิทธิประโยชน์ยาจำเป็นแต่ราคาแพง 7 รายการ 2 ในนั้นคือยาสำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังสอดคล้องกับข้อเสนอแนะจากงานวิจัย HITAP พบคุ้มค่า ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

สืบเนื่องจากนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 มีมติอนุมัติเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาจำเป็นแต่มีราคาแพง 5 กลุ่มโรค 7 รายการโดยมี 2 จาก 7 รายการเป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังทุกสายพันธุ์

ยาดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอแนะจากงานวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในโครงการ “การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และผลกระทบด้านงบประมาณของการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง” ทั้งนี้ โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ เดิมทีประเทศไทยไม่มีวัคชีนสำหรับป้องกัน นอกจากนี้แนวทางการรักษาเดิมนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถทนอาการข้างเคียงของยาสูตรมาตรฐานได้ และผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบประเภทจีโนไทป์ 1 ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด มีการตอบสนองต่อยาที่ใช้อยู่เดิมน้อย เหล่านี้จึงเป็นที่มาของงานวิจัยดังกล่าว

ในโครงการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ศึกษาถึงประสิทธิผลของยาสูตรใหม่พบว่ามี “ประสิทธิภาพดีจริง” โดยเทียบกับยาสูตรเดิมที่ใช้ระยะเวลาในการรักษา 24 – 48 สัปดาห์ และพบผลข้างเคียงร้ายแรง เช่น ภาวะเลือดจาง ภาวะซึมศร้าฆ่าตัวตาย บางรายผลข้างเคียงรุนแรงจนต้องหยุดการใช้ยา ขณะที่ให้ผลการรักษาอยู่ที่ 60 – 80 % ตามสายพันธุ์ของโรค ขณะที่ยาสูตรใหม่ใช้ระยะเวลาในการรักษาลดลงเหลือเพียง 12 สัปดาห์และให้ผลการรักษาดีขึ้นอยู่ที่ 95 %

เมื่อพบประสิทธิภาพที่ดีจริงของยาจึงนำไปสู่การวิจัยประเมินความคุ้มค่าจนได้สูตรยาที่มีความคุ้มค่าที่สุด 2 สูตรได้แก่ ยา sofosbuvir ร่วมกับยาเดิม (peginteron alfa และ ribarin) ในกรณีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรังสายพันธุ์ 3 และยา sofosbuvir ร่วมกับยา ledipasvir ในกรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเรื้อรังสายพันธุ์อื่นๆ

โดยการประเมินความคุ้มค่าของยาทั้งสองตัวนั้นมีการคิดต้นทุนรวมทั้งหมดที่เกี่ยวกับการรักษา ยาสูตรใหม่เมื่อเทียบกับสูตรเดิมพบว่าใช้งบประมาณโดยรวมในการรักษาคนไข้น้อยลง ระยะเวลาในการรักษาที่เร็วขึ้นทำให้คนไข้รับยาน้อยลง ต้นทุนการตรวจติดตามผลก็ลดลง คนไข้มีผลข้างเคียงน้อย จากยาสูตรเดิมที่อาจพบผลข้างเคียงเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะเลือดจางที่ต้องให้ยารักษาเพิ่ม ทำให้ต้นทุนการรักษาเพิ่ม นอกจากนี้ผลข้างเคียงที่น้อยลงช่วยให้คนไข้ไม่ต้องทรมานจากฤทธิ์ยาอีกด้วย และยาเดิมที่เป็นยาแบบฉีดทำให้คนไข้รับยายากกว่าทั้งยังต้องมีต้นทุนอุปกรณ์เข็มฉีดยา ขณะที่ยาใหม่ที่เป็นแบบรับประทานช่วยให้รับยาง่ายขึ้น มากไปกว่านั้นยาสูตรเดิมที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าจึงมีโอกาสรักษาไม่ได้ผลสูงกว่านำไปสู่โรคตับแข็งที่จะยิ่งเพิ่มต้นทุนการรักษาขึ้นไปอีกอย่างมหาศาล เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ถูกนำมาใช้ในการวิจัยประเมินจนพบความคุ้มค่าของสูตรยาใหม่โดยมีหลักฐานที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 237 ล้านบาทต่อปี คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติจึงมีมติให้คณะทำงานต่อรองราคายา ทางบริษัทผู้ผลิตและนำเข้ายาดังกล่าวได้เสนอทางเลือกในการได้ยาราคาถูกภายใต้นโยบายการใช้สิทธิด้วยความสมัครใจ ทำให้ประเทศไทยมีสิทธินำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตยาเองหรือนำเข้ายาสำเร็จรูปจากผู้ผลิตยาสามัญรายอื่น ทำให้ลดราคายาลงได้กว่า 80 – 90 % เป็นผลให้ยา sofosbuvir จากราคาเม็ดละ 1500 เหลือเม็ดละ 130 บาท ประหยัดงบประมาณได้ถึง 200 ล้านบาท และยังเป็นโอกาสในการกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีให้หมดจากประเทศต่อไปในอนาคตอีกด้วย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของงานวิจัยโครงการ “การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และผลกระทบด้านงบประมาณของการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/139500 และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/163916

25 มกราคม 2561

Next post > เปิดมุมมอง “ภญ.พัทธรา ลีฬหวรงค์” หัวหน้าโครงการ HITAP คนใหม่

< Previous post “รายจ่ายนอกบัตรทอง – ประกันสังคม – สวัสดิการราชการ” ภาระคนไทยที่รัฐควรเข้าใจก่อนปรับปรุงนโยบาย

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ