logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“รายจ่ายนอกบัตรทอง – ประกันสังคม – สวัสดิการราชการ” ภาระคนไทยที่รัฐควรเข้าใจก่อนปรับปรุงนโยบาย

“บัตรทอง” หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแม้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมากและหลากหลาย แต่ภาระรายจ่ายด้านสุขภาพของคนไทยยังมีด้านอื่นที่บัตรทองไปไม่ถึง HITAP จึงมีโครงการวิจัยเพื่อหาตัวเลขรายจ่ายเพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ครอบครัวคนไทยเริ่มมีผู้สูงวัยเป็นสมาชิกและกลายเป็นครอบครัวที่มี “ภาวะพึ่งพิง” มากขึ้นตามไปด้วย รายจ่ายด้านสุขภาพที่มากขึ้นตาม ข้อมูลตัวเลขที่พร้อมเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายจึงเป็นสิ่งจำเป็น

รักมณี บุตรชน นักวิจัย HITAP จากโครงการ “การค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับรายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนต้องจ่ายด้วยตัวเองในประเทศไทย” เผยว่าแม้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยลดปัญหาดังกล่าว แต่ครัวเรือนไทยยังคงมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากบริการทางการแพทย์ที่ไม่ครอบคลุมในสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพ ระยะเวลาในการรอรับบริการตามสิทธิที่นานทำให้เลือกจ่ายเอง  รวมทั้งรายจ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว

“เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เนื่องจากไร้ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองเมื่ออายุเยอะขึ้น เราเลยมีคำถามว่า รายจ่ายของครัวเรือนที่มีภาวะพึ่งพิง (ครัวเรือนที่มีผู้พิการ  ผู้สูงอายุหรือเด็กเป็นสมาชิกในครอบครัว) กับครัวเรือนที่ไม่มีภาวะพึ่งพิงต่างกัน

การศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างปี 2533-2558 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวน 14 ครั้ง โดยทำการศึกษาลักษณะของข้อมูล (Exploratory Data Analysis) แต่ละปีและทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านครัวเรือนและรายจ่ายด้านต่าง ๆ ต่อรายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บข้อมูลและตัวแปร รวมทั้งนิยามจึงมีความยากในการจัดการข้อมูลเพื่อให้มีความถูกต้องเที่ยงตรงและสามารถเปรียบเทียบระหว่างปีได้จึงใช้เวลาในการศึกษานานถึง 1 ปี

ในส่วนของผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ครัวเรือนต้องจ่ายมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปพบว่า ครัวเรือนที่มีภาวะพึ่งพิงนั้นมีรายจ่ายด้านสุขภาพสูงกว่าซึ่งส่วนมากเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจึงยิ่งทำให้ครัวเรือนเหล่านี้มีภาระมากยิ่งขึ้น การศึกษาในรายละเอียดพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายด้านอาหารเป็นหลัก โดยครัวเรือนที่มีผู้พิการจะมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าครัวเรือนที่ไม่มี อย่างไรก็ตามครัวเรือนมีรายจ่ายในการซื้อยาและเวชภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

“ตั้งแต่ปี 2552 ครัวเรือนมีรายจ่ายในการซื้อยาและเวชภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2558 มีค่าใช้จ่ายในการซื้อยาและเวชภัณฑ์รวมทุกระดับครัวเรือนสูงถึง 1.88 พันล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังพบว่าครัวเรือนที่มีระดับรายได้ต่ำสุดหรือจนที่สุด และมีผู้พิการมีสัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพต่อรายจ่ายทั้งหมดสูงกว่าครัวเรือนที่ไม่มีผู้พิการ โดยในปี 2558 ครัวเรือนที่มีระดับรายได้ต่ำสุดและมีผู้พิการมีรายจ่ายด้านสุขภาพต่อรายจ่ายทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 2.6  มากกว่าครัวเรือนที่มีระดับรายได้เดียวกันแต่ไม่มีผู้พิการที่คิดเป็นร้อยละ 1.8 ซึ่งหมายความว่าต้องมีอะไรหรือปัจจัยบางอย่างที่ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถที่จะใช้สิทธิ์การรักษา ในส่วนนี้การศึกษาของเรายังไม่สามารถตอบคำถามนั้นได้ แต่ก็มีการศึกษาอื่นที่ระบุว่าระยะเวลาของการรอและสิทธิการรักษาที่ไม่ครอบคลุมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปต้องซื้อยากินเอง แต่จะเป็นเหตุผลเดียวกับครัวเรือนผู้พิการหรือไม่ก็ควรมีการศึกษาต่อไปเพื่อที่จะบอกว่ามันมีปัญหาอะไรที่เขาไม่สามารถเข้าถึงการใช้สิทธิ์ของเขา”

ทั้งนี้ ผลลัพธ์ทั้งหมดของงานวิจัยเป็นข้อมูลที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์การตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป ซึ่งข้อมูลนี้มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ได้ในหลายกรณี

“อนาคตข้างหน้าหากนโยบายการรักษาพยาบาลมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น รัฐบาลไม่ได้มีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพหรือให้มีการร่วมจ่ายของประชาชน แล้วเราควรให้การช่วยเหลือครัวเรือนที่มีภาวะพึ่งพิงอย่างไร จะให้จ่ายเท่ากับกลุ่มอื่นๆ หรือเปล่า ซึ่งจากการศึกษานี้เราก็ยังพบว่าแม้จะมีระบบซึ่งครอบคลุมการรักษาเกือบทั้งหมดในกลุ่มผู้พิการ แต่ครัวเรือนของคนกลุ่มนี้ยังมีภาระด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายนอกเหนือจากสิทธิการรักษา ข้อมูลรายจ่ายตรงนี้เราคาดหวังว่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานโยบายสาธารณะและช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย กำหนดนโยบายหรือออกมาตรการที่เหมาะสมสำหรับครัวเรือนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีภาวะพึ่งพิง ทั้งในระดับประเทศและเขตสุขภาพต่อไป”

สามารถติดอ่านโครงการ “การค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับรายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนต้องจ่ายด้วยตัวเองในประเทศไทย” เพิ่มเติมได้ที่นี่https://www.hitap.net/research/167967

 

19 มกราคม 2561

Next post > เบื้องลึก “เพิ่มสิทธิ์ยาใหม่ไวรัสตับอักเสบซี” คุ้มค่าอย่างไร?

< Previous post วิจัยชี้ ปัญหาใหญ่ ! สุขภาพเด็กไทยต้องแก้อย่างเป็นระบบ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ