วิจัยชี้ ปัญหาใหญ่ ! สุขภาพเด็กไทยต้องแก้อย่างเป็นระบบ
สุขภาพของเด็กไทยเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลต่อการเรียน ความก้าวหน้าในอาชีพการงานในอนาคต ยิ่งมองในภาพรวมส่งผลถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ ทว่าจากงานวิจัย HITAP ยังพบปัญหาหลายอย่างซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ
ประเทศไทยมีการส่งเสริมสุขภาพให้กับเด็กผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า “อนามัยโรงเรียน” ซึ่งเป็นบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในการเฝ้าระวัง ค้นหาอาการผิดปกติหรือความบกพร่องด้านสุขภาพเบื้องต้น ผ่านการดำเนินงานใน 3 ส่วน ได้แก่ 1. การตรวจสุขภาพ 2. การเฝ้าระวังสุขภาพ และ 3. การจัดบริการรักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยการดำเนินงานดังกล่าวจะจัดขึ้นภายในโรงเรียนที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและครูร่วมดำเนินงาน
จากรายงานการวิจัยโครงการ “การประเมินบริการอนามัยโรงเรียนระดับประถมศึกษา” ของ HITAP ในปี 2558 ที่ทำการศึกษาโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาจำนวนมากมีปัญหาด้านโภชนาการ โดยมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ร้อยละ 11 เตี้ยร้อยละ 8 และรูปร่างไม่สมส่วน (อ้วนมาก ผอมมาก) ร้อยละ 12 อีกทั้งมีปัญหาสายตาผิดปกติร้อยละ 0.8 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจากการศึกษาของโครงการชัดแจ๋ว : ตรวจตาเด็ก…เพื่ออนาคตไทย ที่พบเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.6 โดยตรวจยืนยันด้วยจักษุแพทย์ซึ่งถือเป็นสถิติระดับชาติ ดังนั้นผลการตรวจสายตาพบความผิดปกติต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอาจแสดงให้เห็นถึงการตรวจที่ไม่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้การประเมินพฤติกรรมสมาธิสั้น บกพร่องการเรียนรู้ และออทิซึมยังไม่มีการคัดกรองและแก้ไขนักเรียนที่มีผลการคัดกรองผิดปกติอย่างเป็นระบบ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียน อีกทั้งยังพบว่าระบบข้อมูลและการรายงานผลสุขภาพนักเรียนมีความซ้ำซ้อนไม่ครบถ้วนทำให้เกิดความสับสนและไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนแก้ปัญหาได้ และอีกปัญหาที่สำคัญคือขาดการบูรณาการด้านนโยบายร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการกำหนดบทบาทที่ชัดเจน ขาดคนทำงาน งบประมาณไม่เพียงพอ เป็นต้น
จากสถานการณ์ปัญหาข้างต้น HITAP ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการระบบบริการอนามัยโรงเรียนโดยให้หน่วยงานภาครัฐบาลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด(กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทน) ร่วมผลักดันนโยบายส่งเสริมนักเรียนไทยให้มีสุขภาพดี โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมาย บทบาทหน้าที่และจัดสรรทรัพยากรร่วมกัน อีกทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้ครูทุกคนมีความสามารถในการดูแลสุขภาพของเด็กร่วมกับผู้ปกครอง โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการติดตามและประเมินผลการดูแลสุขภาพนักเรียนให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนแก้ไขปัญหาสุขภาพนักเรียนอย่างเป็นระบบ
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “บริการอนามัยโรงเรียนระดับประถมศึกษาไม่แน่ แต่ยังไม่ดีพอ” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/170229
โครงการ “การประเมินบริการอนามัยโรงเรียนระดับประถมศึกษา” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/82165
และรายงานวิจัยได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/167154
- การประเมินบริการอนามัยโรงเรียนระดับประถมศึกษา