logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“แก่นกำเนิดของยาแผนไทย” คุณค่าภูมิปัญญาที่ประเมินค่าไม่ได้

การคัดเลือกยาสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแม้จะมีขั้นตอนที่เหมือนยาแผนปัจจุบัน แต่เกณฑ์การคัดเลือกกลับแตกต่าง หนึ่งในนั้นคือการประเมินความคุ้มค่า ซึ่งเป็นการประเมิน HTA อย่างหนึ่ง  เนื่องจากมีปรัชญาหรือหลักคิดที่ต่างกัน การคัดเลือกยาสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ มีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาไทยที่สั่งสมไว้ ขณะที่การคัดเลือกยาแผนปัจจุบันนั้นเป็นไปเพื่อความเหมาะสมและเป็นธรรม

หลายครั้งมีผู้สนใจสอบถาม HITAP ว่า ทำไมไม่ประเมินความคุ้มค่าของยาสมุนไพรบ้าง  ที่จริงแล้วเรื่องยาสมุนไพรและยาแผนปัจจุบันมีจุดกำเนิดและจุดประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกัน  การประเมินความคุ้มค่าอาจไม่ใช่ตัวช่วยที่ดีที่สุดในการเลือกใช้ยาจากสมุนไพร

ภญ.พัทธรา ลีฬหวรงค์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เผยว่า ยาแผนไทยนั้นเกิดมาจากการสั่งสมองค์ความรู้ของบรรพบุรุษในการใช้ตำรับยาแผนโบราณในการรักษาโรคต่าง ๆ สืบทอดต่อกันมายาวนาน  ขณะที่ยาแผนปัจจุบันเป็นยาที่เกิดจากการทดลองทางห้องปฏิบัติการ ทั้งในหลอดทดลองและทดลองกับสัตว์เพียงไม่กี่ปี เมื่อมาใช้กับคนจึงต้องมีการประเมินทั้งความปลอดภัยและประสิทธิผล รวมไปถึงความคุ้มค่าโดยเฉพาะยาใหม่ที่มีราคาแพง

“จุดกำเนิดมันต่างกัน ยาแผนปัจจุบันได้รับการพัฒนาในระดับโมเลกุล ทำในหลอดทดลอง ทดลองกับหนู ทดลองกับคน เรารู้ว่ายาที่เข้าไปในร่างกายมันออกฤทธิ์ยังไง กลไกการออกฤทธิ์เป็นแบบไหน เพราะเรารู้ตัวสารและรู้ว่ามันมีผลกับร่างกายอย่างไร ขณะที่ยาแผนโบราณจุดกำเนิดไม่ได้มาจากตรงนั้น มันเกิดจากองค์ความรู้ของบรรพบุรุษในการใช้ฟ้าทะลายโจรลดไข้และแก้เจ็บคอ ซึ่งที่จริงอาจจะดีกว่าสิ่งที่ยาแผนปัจจุบันพยายามทำเสียอีก เพราะยาแผนปัจจุบันทดลองเพียงไม่กี่ปี เช่น 3 ปีก็ขายได้แล้ว ขณะที่ยาสมุนไพรมันพิสูจน์มาแล้วเป็นร้อยปี ทำไมเราจะต้องประเมินประสิทธิผลอีก”

ส่วนเรื่องจุดประสงค์นั้น การมียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นไปเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน การใช้และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพและการแพทย์แผนไทย เพราะยังใช้กันในวงจำกัดและมีต้นทุนการผลิตและราคาที่สูงกว่ายาแผนปัจจุบัน ทำให้การประเมินความคุ้มค่าอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมสำหรับยาแผนไทย

“ HITAP ประเมินความคุ้มค่าของยา โดยเฉพาะการใช้ยาแผนปัจจุบันที่อาจจะใช้อย่างไม่สมเหตุผล เกินความจำเป็น ซึ่งต่างจากการใช้ยาแผนไทยที่คนใช้กันน้อยเกินไป ประเด็นของยาแผนไทยจึงเป็นเรื่องของการส่งเสริมให้ใช้เพื่อดำรงไว้ซึ่งมรดกทางภูมิปัญญาของชาติมากกว่า  ถ้าเทียบราคายากัน สมุนไพรแพงกว่าอยู่แล้ว เพราะกระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพมีราคาสูงกว่า เช่น ฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูลก็มี 2 แบบ แบบที่กิน 4 เม็ด กับแบบกินเม็ดเดียว ที่ต้องกิน 4 เม็ดเพราะเป็นการผลิตแบบใช้ใบมาตากแห้ง ฆ่าเชื้อ อบ บด กรอกใส่แคปซูล  ส่วนที่กินเม็ดเดียวจะต้องมีการสกัดสารสำคัญจากใบของฟ้าทะลายโจรออกมากระบวนการเหล่านี้มีความซับซ้อนใช้เวลานานและต้องควบคุมคุณภาพในทุกกระบวนการ หากเทียบกับการผลิตยาพาราเซตามอลที่ตอกเม็ด ชั่วโมงเดียวได้เป็นหมื่นเม็ด  ดังนั้นกระบวนการผลิตยาจากสมุนไพรให้ได้คุณภาพจึงยากกว่า ใช้เวลามากกว่า วัตถุดิบก็หายากกว่าเพราะเราไม่ได้ส่งเสริมการเพาะปลูกมากนัก  ซึ่งก็น่าเห็นใจผู้ผลิตยาสมุนไพร เพราะพอราคายาสมุนไพรแพงกว่า โรงพยาบาลก็ไม่อยากใช้ ภาครัฐจึงต้องเข้ามาช่วยเพื่อดำรงมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงมีนโยบายระดับประเทศให้โรงพยาบาลสถานพยาบาลภาครัฐทุกแห่ง มีรายการยาสมุนไพรไว้ในโรงพยาบาล และในบัญชียาหลักแห่งชาติก็จะมีบัญชียาจากสมุนไพรด้วย แต่ก็ยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนรายการยาแผนปัจจุบัน ถ้าต้องประเมินความคุ้มค่าของฟ้าทะลายโจรกับพาราเซตามอล ยังไง ๆ ฟ้าทะลายโจรก็ไม่คุ้มค่า พอไม่คุ้มค่าแล้ว ภูมิปัญญาเหล่านี้ก็ต้องสูญหายไปจากประเทศ ดังนั้นวิธีการประเมินความคุ้มค่าจึงอาจจะไม่สามารถนำมาใช้ประเมินยาจากสมุนไพรได้” ภญ. พัทธรา อธิบาย

แม้ HITAP จะไม่ได้ประเมินประสิทธิผลและความคุ้มค่าของยาแผนไทย แต่ว่าเคยทำการสำรวจทัศนคติของบุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรในงานวิจัยเรื่อง“การสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติต่อยาสมุนไพรของแพทย์และบุคลาการทางการแพทย์” ที่ทำการสำรวจระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม พ.ศ. 2552 โดยพบว่า แพทย์ยังขาดความเชื่อถือในเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัยจากยาสมุนไพร ลักษณะของยาสมุนไพรไม่ดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจที่จะใช้ยา ยาจากสมุนไพรมีราคาสูงกว่ายาแผนปัจจุบันและการที่แพทย์ขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของยาสมุนไพรมีผลต่อความเชื่อมั่นในการสั่งใช้ยา

“ในต่างประเทศอย่างประเทศจีน เขามีการสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาของแพทย์แผนจีนที่ดีมาก คนยุคปัจจุบันเขาก็นิยมใช้ยาสมุนไพรมากกว่ายาแผนปัจจุบัน นิยมการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนพอ ๆ กับแพทย์แผนตะวันตก แพทย์แผนไทยเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา หากเราไม่สามารถรักษาไว้ได้ มันก็คงจะเหมือนเราสูญเสียมรดกที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของคนไทยไป”

ติดตามอ่านงานวิจัย “การสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติต่อยาสมุนไพรของแพทย์และบุคลาการทางการแพทย์” เพิ่มเติมได้ที่https://www.hitap.net/documents/20598 และ “ความคิดเห็นของบุคลากรสาธารณสุขต่อยาจากสมุนไพรและนโยบายการส่งเสริมการให้ยาจ่ากสมุนไพรในสนามบริการสาธารณสุข” เพิ่มเติมได้ที่ https://www.hitap.net/documents/18403

 

เรื่องโดย อธิเจต มงคลโสฬศ

ภาพจาก Freepik และ pixabay

4 มกราคม 2561

Next post > วิจัยชี้ ปัญหาใหญ่ ! สุขภาพเด็กไทยต้องแก้อย่างเป็นระบบ

< Previous post เที่ยวสิ้นปี เช็ครถอย่าลืมเช็คคนขับ วิจัยชี้ ตรวจสุขภาพอย่างไรห่างไกลอุบัติเหตุ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ