logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
หนาวสิ้นปีเสี่ยง “โรคหืด” เด็กต่ำกว่า 5 ปีวินิจฉัยยาก อาการเรื้อรังร้ายลึกหากไม่รีบรักษา

อากาศหนาวช่วงสิ้นปีอาจมีผลต่อโรคหอบหืด รู้หรือไม่? เด็กไทยต่ำกว่า 5 ปีเสี่ยงโรคหืดหอบ วินิจฉัยยาก หากไม่รีบรักษาอาการอาจเรื้อรังร้ายแรงได้

โรคหอบหืดโดยปกติแล้วเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยจากหลายสาเหตุตั้งแต่กรรมพันธุ์ การสัมผัสสารเคมีและฝุ่นละออง ส่วนใหญ่แล้วมักจะแสดงอาการตั้งแต่ยังเด็กโดยเกิดขึ้นเมื่อสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ออกแรงหรือออกกำลังกาย หรือสัมผัสกับอากาศเย็น องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยโรคหืดราว 235 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเด็ก เพราะโรคหืดส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิต อีกทั้งต้องอาศัยการดูแลใกล้ชิดจากครอบครัว หากทั่วโลกไม่มีการพัฒนาระบบจัดการโรคหืดที่ดีขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหืดจะเพิ่มสูงขึ้น

ในส่วนของประเทศไทยจากงานวิจัยโครงการ “การรักษาและการป้องกันโรคหืดในเด็ก” พบว่า มีเด็กไทยเป็นโรคหืดมากถึง 1.2 – 1.4 ล้านคน แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญและแนวทางการรักษาที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ มียารักษาเบิกจ่ายได้ทุกสิทธิ์ประกันสุขภาพ แต่ยังคงมีอุปสรรค์ในหลายส่วนตั้งแต่การวินัจฉัยโรคหืดในเด็กต่ำกว่า 5 ขวบที่ทำได้ยาก ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันและการขาดแคลนกระบอกสูบยา (spencer) ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยให้สามารถใช้ยาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โดยปกติการวินิจฉัยโรคจะใช้เครื่อง spirometry กับ peak flow meter แต่ไม่สามารถใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเพราะเด็กไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ จึงต้องเน้นไปที่การซักประวัติและฟังเสียงหวีดในปอดซึ่งต้องใช้แพทย์เฉพาะทางซึ่งยากสำหรับแพทย์มือใหม่เพราะเสียงหวีดในปอดสามารถเกิดได้หลายสาเหตุด้วยกัน ขณะเดียวกันก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยา ics หรือ inhaled corticosteroids ว่าผลต่อพัฒนาการด้านความสูงของเด็กซึ่งในปัจจุบันยาดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้มีปริมาณสเตียรอยเหมาะสมสำหรับเด็กโดยมีงานวิจัยรองรับประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว

อุปสรรค์ทั้งหมดส่งผลให้เด็กได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพลดลง โรคหอบหืดจึงมีอาการร้ายแรงมากขึ้น หากไม่รีบรักษาอาจเกิดอาการจับหืดทำให้ผนังหลอดลมมีอาการอักเสบเรื้อรัง เยื่อบุหลอดลมบวม หากเกิดอาการหอบบ่อย ๆ จะเกิดพังผืดในหลอดลมจนปอดไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว เด็กจะมีอาการไอ หอบ เหนื่อย แน่นหน้าอก หากอาการกำเริบรุนแรงฉุกเฉินจะส่งผลต่อการเรียน ขาดเรียน ไม่สามารถมีสังคมอย่างเด็กในวัยเดียวกันได้

ผลวิจัยของ HITAP ได้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาโดยหลายภาคส่วนเริ่มเคลื่อนไหวเชิงรุกในการลงพื้นที่ปรับปรุงสภาพแวดล้อม จนถึงทำงานร่วมกันของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสร้างระบบตรวจคัดกรองและส่งต่อสำหรับโรคหืดหอบในเด็กที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สามารถอ่านเพิ่มเติมส่วนของการใช้ยา ics ,การใช้กระบวกสูบที่ถูกต้อง, และแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ที่ “จุลสารปีที่ 9 ฉบับที่ 27 พฤษภาคม – สิงหาคม 2559 : รอบรู้ หอบหืดเด็ก” https://www.hitap.net/documents/165655 และอ่านงานวิจัยโครงการ “การรักษาและป้องกันโรคหืดในเด็กไทย” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/22425

27 พฤศจิกายน 2560

Next post > วิจัยต้นทุน “ลดตีตรา – เลือกปฏิบัติผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในสถานพยาบาล” โครงการนำร่องสู่นโยบายระดับชาติ

< Previous post เบื้องลึกต้นทุนเครื่องมือแพทย์สุดแพง ‘ก้าว’ ต่อไปที่สังคมต้องรู้

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ