logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เบื้องลึกต้นทุนเครื่องมือแพทย์สุดแพง ‘ก้าว’ ต่อไปที่สังคมต้องรู้

ปัญหาสาธารณสุขกลายเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายพร้อมร่วม ‘ก้าวคนละก้าว’ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา ทว่าแม้จะมีเงินเพิ่มถึง 700 ล้านบาทก็อาจจะไม่เพียงพอ แล้วอะไรที่จะช่วยจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ ‘การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และสาธารณสุข’ คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อแก้ปัญหาเรื่องทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดอย่างเป็นระบบ เบื้องหลังเครื่องมือแพทย์มีอะไรบ้างที่ต้องจ่าย HITAP ขอเปิดมุมมองบอกเล่า ‘ก้าว’ ต่อไป ต้นทุนเครื่องมือแพทย์ต้องคิดจริงจังก่อนจ่าย

คนทั่วไปอาจจะคิดว่า การใช้เงินซื้อเครื่องมือแพทย์อาจเป็นการตัดสินใจที่ไม่ยากนัก มีเงินพอก็จับจ่ายหาซื้อมา มีเท่าไหร่ก็จ่ายได้เพื่อรักษาชีวิตไว้ ทว่าในมุมมองของประเทศแล้ว การตัดสินใจเป็นเรื่องที่ยากกว่านั้น และต้องทำการศึกษาประเมินในหลาย ๆ ด้านเพราะเบื้องหลังเครื่องมือแพทย์นั้นมีต้นทุนและเงื่อนไขอีกมากมายที่เราอาจยังไม่รู้

ธนพร บุษบาวไล นักวิจัย HITAP บอกเล่าจากประสบการณ์ในการทำงานวิจัยประเมินเครื่องมือแพทย์ว่า ต้นทุนที่ต้องใช้ไปกับเครื่องมือแพทย์นั้นมีมากกว่าแค่ตัวเงินที่ต้องจ่ายเพื่อซื้อเครื่องมือแพทย์ แต่ต้องพิจารณาต้นทุนในส่วนอื่น ๆ ด้วยรวมถึงความคุ้มค่าของการใช้งานตลอดจนความเป็นไปได้ในการลงทุนให้บริการ

“เราไม่ได้คิดแค่ค่าเครื่องมือแพทย์อย่างเดียว จ่ายให้บริษัทแล้วจบ มีต้นทุนอย่างอื่นอีก เช่น ต้นทุนค่าแรง คือค่าแรงของแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ ต้นทุนค่าเทรนนิ่งฝึกใช้เครื่องมือ ต้นทุนค่าบำรุงรักษาเครื่อง เครื่องมือแพทย์บางชนิดที่มีขนาดใหญ่มากอาจมีต้นทุนค่าสร้างห้องต่างหาก นอกจากนี้ยังต้องคิดค่าเสียโอกาสจากการใช้พื้นที่เพื่อให้บริการเครื่องมือแพทย์นั้น ๆ ด้วย”

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น จำนวนและศักยภาพของบุคลากรการแพทย์ในการให้บริการเพราะเครื่องมือแพทย์บางชนิดจำเป็นต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่น้อยเกินกว่าจะให้บริการได้เพียงพอ ในประเทศยังมีเครื่องมือแพทย์บางชนิดที่ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จากผลการวิจัยของ HITAP ในโครงการ “การศึกษาการเข้าถึงและความเป็นไปได้ในการลงทุนให้บริการตรวจสมรรถภาพปอดด้วย spirometry ในโรงพยาบาลชุมชน” ก็พบว่า โรงพยาบาลหลายแห่งยังไม่มีเครื่อง spirometer เพราะขาดทั้งงบประมาณในการซื้อเครื่องและการขาดบุคลากรที่ให้บริการ ส่วนโรงพยาบาลที่มีเครื่องก็ประสบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์บางอย่าง ผู้ให้บริการขาดความชำนาญในการตรวจและแปลผล ปัญหาเหล่านี้ทำให้ได้ผลการตรวจที่ไม่ได้มาตรฐาน

จะเห็นได้ว่า การประเมินเครื่องมือแพทย์นั้นเป็นสิ่งที่ดูจะยุ่งยากและมีรายละเอียดมากมาย แบบนี้แล้วรีบใช้จ่ายเงินไปเลยไม่ดีกว่าเหรอ ดีกว่าเอาเวลามาเสียกับการประเมินหรือเปล่า? กิตติพงษ์ ธิบูรณ์บุญ นักวิจัย HITAP มองในมุมเศรษฐศาสตร์การแพทย์ว่า การแพทย์เป็นเรื่องของชีวิต เป็นเรื่องสำคัญ และเพราะเป็นเรื่องสำคัญจึงต้องยิ่งคิดให้ดี ยิ่งต้องประเมินให้คุ้มค่าที่สุด แต่เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นจริง ๆ ต้องซื้อก็มี อยู่ที่ว่าเงินจะถูกจัดสรรไปถึงหรือไม่

“เราอาจแบ่งเครื่องมือแพทย์ออกเป็นสามกลุ่ม คือกลุ่มแรกคือกลุ่มที่จำเป็นจริง ๆ อันที่สองเป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ กึ่ง ๆ ระหว่างจำเป็นและไม่จำเป็น และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มไม่จำเป็น เครื่องมือแพทย์บางอย่างไม่จำเป็นต้องมีทุกโรงพยาบาล มันเป็นเรื่องของ วิธีบริหารจัดการระหว่างโรงพยาบาล นอกจากนี้  มันเป็นเทคโนโลยีบางอย่างที่มันใหม่มาก ๆ ราคาก็จะยิ่งแพงเกินไป ซึ่งเกินความสามารถของประเทศที่จะจ่าย”

เครื่องมือแพทย์นอกจากสิ่งที่เรารับรู้กันว่ามันมีราคาแพงแล้ว แท้จริงยังรายละเอียดอีกมากมาย ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะถูกใช้ในการประเมิน ตั้งแต่ การใช้งานที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ บริษัทที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันด้วยราคาและประสิทธิผลต่างกัน จะต้องมีการดูว่าเครื่องไหนคุ้มที่สุด

“ประเทศเรามีเงินจำกัดแค่เท่านี้ในแต่ละปี ระหว่างเราเอาเงินไปใช้กับเรื่องที่ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าทำให้คนไทยสุขภาพดีขึ้นจริง กับเอาเงินไปใช้กับอีกเรื่องที่มีหลักฐานว่ามันใช้ได้ผลจริง ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้จริง มันก็ต้องเอามาใช้กับเรื่องนี้ถูกมั้ย เพราะทรัพยากรเรามีจำกัดฉะนั้นมันก็นำไปสู่การที่จะต้องมีการประเมินความคุ้มค่า”

ทั้งนี้ เขามองว่าเครื่องมือแพทย์ก็เหมือนสินค้าทั่วไปที่มีการทำการตลาด มีการแบ่งกลุ่มผู้ใช้ที่แตกต่างกัน ของที่ใหม่กว่า เทคโนโลยีดีย่อมแพงกว่า หากเป็นคนธรรมดาก็เลือกใช้ตามฐานะของตัวเอง เป็นคนมีฐานะดีอาจเลือกให้ของดีที่สุด

“อย่างการทำเลซิกก็จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ตอนแรกมีใบมีดที่คมกริบมาก ๆ ต่อมาก็เป็นเลเซอร์ แต่ใหม่กว่านั้นก็มีเฟมโตเซเคิลเลเซอร์คือเลเซอร์ที่ยิงได้แม่นยำมาก ถ้ามีเงินน้อยก็อาจจะเลือกใบมีดที่อาจจะเจ็บ 7 วันหาย แต่คนมีเงินก็อาจจะเลือกเฟมโตเซเคิลเลเซอร์ไม่เจ็บมาก แต่ทั้งสองอย่างหายเหมือนกัน แต่ละคนก็เลือกในมุมมองของตัวเอง แต่ในมุมมองของประเทศ ตามงบประมาณที่มีเราอาจจะใช้สิ่งที่ดีที่สุดในราคาดีที่สุดไม่ได้ อาจจะเลือกกลาง ๆ ”

การประเมินความคุ้มค่าในที่นี้ก็ใช้มุมมองของประเทศในการประเมิน งบประมาณและศักยภาพของบุคลากรในประเทศถูกนำมาเป็นเกณฑ์เพื่อใช้เลือกหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ประโยชน์ที่เกิดจึงเกิดกับทุกคนในสังคม

“ไม่มีใครเสียประโยชน์ เราใช้มุมมองของประเทศในการประเมิน สำหรับบ้านเราก็อาจจะประหยัดได้โดยใช้ของที่ราคาถูกลงหน่อย มีความคุ้มค่า ทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น ไม่มีใครเสียประโยชน์”

HITAP มีงานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์มากมาย สามารถติดตามเพิ่มได้ อาทิ “การประเมินข้อบ่งชี้ทางคลินิกและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการตรวจด้วยเครื่องเพทซีที” https://www.hitap.net/research/165246, “การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานประสิทธิผลของการรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง” https://www.hitap.net/research/165266, “การศึกษาการเข้าถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนให้บริการตรวจสมรรถภาพปอดด้วย spirometry ในโรงพยาบาลชุมชน”https://www.hitap.net/research/164512 และ “ความคุ้มค่าและผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) ในระบบประกันสุขภาพสำหรับประเทศไทย” https://www.hitap.net/research/17529

ภาพประกอบ :  Designed by Olga_spb / Freepik

21 พฤศจิกายน 2560

Next post > หนาวสิ้นปีเสี่ยง “โรคหืด” เด็กต่ำกว่า 5 ปีวินิจฉัยยาก อาการเรื้อรังร้ายลึกหากไม่รีบรักษา

< Previous post ผู้ป่วยเบาหวาน 1 ใน 3 ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค คุณเป็นหนึ่งในนั้นหรือเปล่า

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ