ยานั้นคุ้มค่า ยานี้ไม่คุ้มค่า เขามองจากมุมมองของใคร
รู้หรือไม่ว่าการกำหนดมุมมองในการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ มุมมองที่ต่างกันอาจทำให้ผลการศึกษาออกมาแตกต่างกัน การประเมินความคุ้มค่าเป็นการประเมินจากมุมมองต่าง ๆ ที่ไม่ใช่มุมมองส่วนบุคคล ไม่ใช่กระเป๋าเงินส่วนตัวของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นกระเป๋าหรือกองทุนของระบบประกันสุขภาพนั้น ๆ ที่มีผู้ใช้ร่วมกับเราหลายสิบล้านคน แล้วถ้าจะบอกว่าคุ้มหรือ ไม่คุ้ม เขามองจากมุมไหน แล้วคิดค่าใช้จ่ายของอะไรบ้าง
การกำหนดมุมมอง (perspective) ในการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากมุมมองจะเป็นตัวกำหนดต้นทุนที่ใช้ในการประเมิน มุมมองมีหลายประเภท เช่น
1) มุมมองทางรัฐบาล (government perspective) และมุมมองของระบบสุขภาพ (health system perspective) ซึ่งจะพิจารณาต้นทุนที่ภาครัฐต้องแบกรับ เช่น ค่ายา/เวชภัณฑ์ และค่ารักษา/วินิจฉัยโรค
2) มุมมองทางผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาล (provider or hospital perspective) ซึ่งจะคิดต้นทุนของโรงพยาบาลหรือผู้ให้บริการ
3) มุมมองของบุคคลที่สามซึ่งเป็นผู้จ่ายเงิน (third-payer perspective) จะใช้ในกรณีที่ต้องใช้ข้อมูลตัดสินใจในการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพ
4) มุมมองทางผู้ป่วยและครอบครัว (patient and family perspective) ต้นทุนที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น ค่าเดินทางมาโรงพยาบาล ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าเสียเวลาของญาติ หากเป็นการศึกษาในโรคที่เบิกไม่ได้ ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดที่ผู้ป่วยต้องจ่ายจะถูกนับรวมด้วย
5) มุมมองทางสังคม (societal perspective) นับว่าเป็นมุมมองที่กว้างที่สุดซึ่งจะพิจารณาครอบคลุมทั้งต้นทุนทางภาครัฐและต้นทุนในฝั่งผู้ป่วยและครอบครัว
ประเทศอื่นใช้มุมมองแบบไหน ? แล้วประเทศไทยใช้มุมมองใด ?
การประชุม HTAsiaLink ครั้งที่ 6 ณ ประเทศเวียดนาม มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายการประเมินเทคโนโลยี (Health Technology Assessment; HTA) จากหลายประเทศ ในการประชุมวิชาการดังกล่าวได้นำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ในเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น เครื่องมือการคัดกรองโรค ยามะเร็ง ยาเบาหวาน ยาต้านไวรัส HIV ยาป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และการฟื้นฟูสมรรถภาพในผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมอง พบว่าแต่ละประเทศจะใช้มุมมองในการศึกษาแตกต่างกัน เช่น เกาหลีใต้ใช้มุมองทางสังคม สิงคโปร์และไต้หวันใช้มุมมองผู้จ่ายเงิน นอกจากนี้พบว่าในเวียดนามใช้มุมมองที่แตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา ได้แก่ มุมมองทางสังคม และมุมมองผู้จ่ายเงิน
การใช้มุมมองทางผู้ให้บริการและผู้จ่ายเงิน ต้นทุนที่นำมาพิจารณาจะไม่ครอบคลุมในส่วนของผู้ป่วย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะจากการคลังของระบบประกันสุขภาพของประเทศเหล่านี้ไม่ได้มาจากภาษีเป็นหลัก สำหรับประเทศไทยนั้นงบประมาณด้านสุขภาพได้มาจากงบประมาณแผ่นดินที่จัดเก็บในรูปแบบภาษี มุมมองหลักที่ใช้ในการประเมินความคุ้มค่าและการประเมินต้นทุนจึงเป็นมุมมองทางสังคมซึ่งจะครอบคลุมต้นทุนในทุกภาคส่วน
แล้วเราควรเลือกมุมมองแบบใดมาใช้
การเลือกใช้มุมมองควรพิจารณาถึงเทคโนโลยีที่ทำการประเมินและบริบทของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ หากใช้มุมมองของผู้ให้บริการหรือมุมมองของรัฐบาลจะทำให้ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยถูกละเลยไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคที่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ตกอยู่กับผู้ป่วยและครอบครัว เช่น การดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์สม่ำเสมอ การคิดเฉพาะต้นทุนทางรัฐบาลเพียงด้านเดียวอาจทำให้ผลการศึกษาความคุ้มค่านั้นไม่สะท้อนความเป็นจริงเท่าที่ควร ขณะที่การใช้มุมมองทางสังคมจะครอบคลุมต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดในสังคมทั้งภาระงบประมาณทางภาครัฐและภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและครอบครัว ดังนั้นการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพจึงควรเลือกมุมมองที่กว้าง สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ทำการประเมิน รวมทั้งพิจารณาถึงผู้ใช้ประโยชน์จากการศึกษาเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในเชิงนโยบายในอนาคต
การประชุม HTAsiaLink จะจัดขึ้นทุกปีเพื่อให้ประเทศสมาชิกในเครือข่ายได้นำเสนอผลงานวิจัย HTA ต่อผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้นำเสนอผลงานวิจัยด้วยวาจาในเวทีระดับนานาชาติด้วย ติดตามการประชุม HTAsiaLink 2018 ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/resources/htasialink2018
โดย น.ส.วันทนีย์ กุลเพ็ง และ นายวิทธวัช พันธุมงคล นักวิจัย HITAP