วันอาหารโลก HITAP รุดหน้าวิจัย “อาหารไม่ปลอดภัย” มีค่าเสียหายอะไรบ้าง?
วันที่ 16 ตุลาคมถูกกำหนดให้เป็นวันอาหารโลก มิใช่วันเพื่อให้คนทานอาหารได้สนุกปากขึ้น แต่กลับเป็นวันที่ถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาความอดอยาก ในส่วนของประเทศไทยนั้นประเด็นนึงเกี่ยวกับอาหารที่เป็นปัญหาแต่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ การปลอดภัยทางอาหารที่ส่งกระทบมากมายในระดับประเทศซึ่ง HITAP กำลังทำการศึกษาวิจัยอยู่
ลลนา ทองแท้ นักวิจัยหลักของโครงการ “การประเมินต้นทุนทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจจากความไม่ปลอดภัยทางด้านอาหารของประเทศไทย” เผยถึงสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยทางด้านอาหารในภาพรวม จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคประจำปี 2558 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษ (food poisoning) และโรคติดเชื้อจากอาหาร (food-borne infection) พบโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันก่อให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดคิดเป็น 1,854.21 รายต่อ 100,000 ประชากร/ปี ในขณะที่อาหารเป็นพิษพบมากเป็นอับดับสองคิดเป็น 200.22 รายต่อ 100,000ประชากร / ปี
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าคนไทยมีอัตราเป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันและอาหารเป็นพิษค่อนข้างสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลังจะเห็นได้ว่าอัตราอุบัติการณ์ของทั้ง 2 โรคมีแนวโน้มลดลงโดยตั้งแต่ปี 2556 – 2558 ไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคอาหารเป็นพิษเลย
แต่จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำปี พ.ศ. 2558 ใน 8 จังหวัดแบ่งตามพื้นที่ทั่วไปและตามพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำ โดยการตรวจวิเคราะห์ด้านแบคทีเรียเพื่อหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (coliform bacteria) โดยใช้ชุดทดสอบ test kit ยังพบการปนเปื้อนในอาหารเรียงลำดับได้ดังนี้ 1.ผักสด(90.08%) 2.ผักลวก ผักต้ม(73.91%) 3.น้ำดื่ม(53.66%) 4.เครื่องดื่ม(50.00%) 5.มือผู้สัมผัสอาหาร(47.22%) 6.น้ำแข็ง(42.64%) 7.อาหาร(38.58%) 8.ภาชนะสัมผัสอาหาร(35.25%)
ขณะที่ผลตรวจทางสารเคมีนั้น แม้จะพบการปนเปื้อนอยู่แต่ถือว่าเป็นจำนวนน้อยแต่ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ เช่น ฟอร์มาลินจะพบการปนเปื้อนในอาหารทะเล ซึ่งพบมากในภาคเหนือและภาคอีสานอาจเนื่องมาจากระยะทางในการขนส่งจึงจำเป็นต้องรักษาสภาพของอาหาร
“จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของการวิจัย เราพบว่า สถานการณ์ความปลอดภัยของอาหารนับว่ามีความเสี่ยงอยู่ ทั้งโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ และการปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ เช่น ฟอร์มาลีนเป็นสารรักษาสภาพอาหารทะเลให้มีความสดอยู่เสมอ การใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณที่มากกว่ามาตรฐาน การปนเปื้อนจากพิษของเชื้อโรคต่างๆ”
ทั้งนี้งานวิจัยยังพบด้วยว่า ความไม่ปลอดภัยทางด้านอาหารนั้นส่งผลต่อต้นทุนของทั้งภาคอุตสาหกรรม, ภาคครัวเรือนและภาครัฐ โดยในภาคอุตสาหกรรมอาจมีการปิดโรงงานหรือสูญเสียความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ ส่วนภาคครัวเรือนต้องเจอกับค่ารักษาพยาบาลทั้งทางตรงในการรักษาตัวและทางอ้อมจากการสูญเสียรายได้ เกิดความเจ็บป่วยอาจส่งผลทางจิตใจหากเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ และถ้าสถานการณ์อาหารไม่ปลอดภัยยังรุงแรงขึ้นจะส่งผลให้ครัวเรือนต้องมีต้นทุนในการป้องกันตัวเองจากอันตรายเพื่อปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ในส่วนของภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารจะเกิดต้นทุนการเฝ้าโรคที่เกิดจากอาหารเป็นสื่อ ค่าตรวจสอบ สอบสวนการระบาดของโรค การเรียกคืนสินค้ารวมทั้งอาจมีต้นทุนที่ต้องมีการดำเนินการให้ความรู้ความปลอดภัยของอาหาร และการดำเนินการระบบความปลอดภัยของสินค้าในประเทศ เช่น HACCP GMP
ถึงตอนนี้งานวิจัยดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในลำดับถัดไป
ติดตามความคืบหน้างานวิจัย “การประเมินต้นทุนทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจจากความไม่ปลอดภัยทางด้านอาหารของประเทศไทย” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/168488
อ่านสถานการณ์ด้านอาหารและยาในจุลสารปีที่ 10 ฉบับที่ 29 “อนาคมอย.แยกบางอย่างสร้างบางส่วน” ได้ที่นี่https://www.hitap.net/documents/169360