logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เปิดงานวิจัย ทำไมต้องเพิ่มสิทธิ์บัตรทอง “คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่”?

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมเพิ่มสิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เข้าสิทธิบัตรทองในปี 2561 สอดคล้องกับงานวิจัย HITAP พบว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ รักษาโรคได้ในระยะเริ่มต้น ลดค่าใช้จ่ายมหาศาล

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยสำนักข่าว “นิว18” ถึงการเพิ่มสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองในครั้งว่า ที่ผ่านมาข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติยืนยันว่า ผู้ชายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด ส่วนผู้หญิงพบเป็นอันดับ 4 รองจากมะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งตับ

“เราพบว่าแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักประมาณ 3,000 ราย และยังพบผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 10,000 ราย ดังนั้นเป้าหมายของโครงการนี้คือตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในปี 2561 จำนวน 1,276,000 ราย คาดว่าน่าจะพบผู้ป่วยประมาณ 25,380 ราย ใช้งบระมาณตรวจคัดกรองประมาณ 100 ล้านบาท”

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า การตรวจคัดกรองจะมุ่งไปที่กลุ่มเสี่ยง เช่น ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายผิดปกติ มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งรวมทั้งตรวจในประชากรทั่วไปด้วย สำหรับวิธีการตรวจที่ใช้คือการตรวจอุจจาระดูว่ามีเลือดปนในอุจจาระหรือมีความผิดปกติหรือไม่ หากพบความผิดปกติจะรีบนำผู้ป่วยมาตรวจด้วยการส่องกล้อง หากตรวจพบเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การรักษาจะได้ผลดี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เพราะถ้าตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะท้าย จะต้องผ่าตัด ให้เคมีบำบัด เสียค่าใช้จ่ายมหาศาล

ทั้งนี้ สอดคล้องกับงานวิจัย HITAP ในโครงการพัฒนารูปแบบการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงในระดับประชากรพบว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ถือเป็นโรคพบบ่อยในคนไทยและสามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรอง โดยประเมินพบว่าคุ้มค่าด้วยการคัดกรองด้วยชุดตรวจ FIT ในประชาชนทั่วไป และคัดกรองด้วยการส่องกล้องหรือ Colonoscope ในกลุ่มเสี่ยงสูง คือมีญาติลำดับแรกเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มีความคุ้มค่ามากที่สุด แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องขีดความสามารถในการให้บริการคือ จำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจไม่เพียง จึงควรเริ่มที่นโยบายในกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีอายุ 60 ปีก่อน คือให้คนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีประวัติญาติลำดับแรกเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องเพียงครั้งเดียวตลอดชีวิต จะเป็นวิธีการที่ช่วยป้องกันการเกิดผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไม่เป็นการเพิ่มภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ด้วย

นโยบายดังกล่าวที่ใกล้จะประกาศใช้ ถือเป็นอีกมาตราการในการป้องกันด้านสาธารณสุขที่เกิดจากการทำงานของหลายฝ่ายร่วมกัน

ติดตามอ่านข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/164852

ติดตามอ่านรายละเอียดงานวิจัยทั้งหมดได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/17771

9 ตุลาคม 2560

Next post > วันอาหารโลก HITAP รุดหน้าวิจัย “อาหารไม่ปลอดภัย” มีค่าเสียหายอะไรบ้าง?

< Previous post ย้อนรอยวิจัย HITAP ชี้ “กม.ช่วยวัยรุ่นตั้งครรภ์เรียนจบ” ทำไมต้องช่วย?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ