logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ครั้งหนึ่งเราเคยมีการประกาศใช้ CL ยาท่ามกลางความขัดแย้งมากมาย

เมื่อไม่นานมีการประกาศใช้ ม.44 ให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งรัดพิจารณาคำขอการออกสิทธิบัตรยา มากกว่า 3,000 คำขอ ทำให้ภาคประชาสังคมเกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพ ที่อาจนำไปสู่การผูกขาดการค้าที่เรียกว่า Evergreening Patent หรือการขอรับสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งอาจมีผลให้รัฐบาลต้องนำเข้ายาที่มีราคาแพงทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็น

ครั้งหนึ่งในอดีตประเทศไทยเคยประสบปัญหาในลักษณะคล้าย ๆ กัน คือ สิทธิบัตรยาเป็นกำแพงกั้นการเข้าถึงยา และสร้างผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจภายในประเทศเนื่องจากรัฐบาลต้องนำเข้ายาราคาแพงจนมีผลกระทบสูงต่อภาระงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหารัฐบาลไทยช่วงปี พ.ศ.2549 เสนอให้ประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของยา 3 รายการ ได้แก่ เอฟาวิเรนซ์ (efavirenz, EFV), ยาสูตรผสมโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritronavir,LPV/r), และโคลพิโดเกรล (clopidogrel) ซึ่งสองรายการแรกเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับผู้ป่วยเอดส์ และรายการหลังเป็นยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ต่อมาในเดือนมกราคม 2551 ได้ประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพิ่มเติมกับยาบำบัดโรคมะเร็งอีก 4 รายการ ได้แก่ เลโทรโซล (letrozole), โดซีเทกเซล (docetaxel), เออร์โลทินิบ (erlotinib), และ อิมาทินิบ (imatinib) เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของยาทั้ง 7 รายการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความชอบธรรมทางกฎหมายทั้งระหว่างกฎหมายประเทศและกฎหมายไทย บางส่วนมีข้อสงสัยถึงเจตนารมณ์และแรงจูงใจของการใช้มาตรการนี้ และมีความกังวลถึงผลเสียทั้งการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลจากการตอบโต้จากรัฐบาลต่างชาติที่ต่อต้านมาตรการนี้

(Compulsory Licensing) หรือมักเรียกกันว่า CL ยาเป็นมาตรการยืดหยุ่นในข้อตกลงทางการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS Flexibilities) ที่อนุญาตให้ทุกประเทศสามารถป้องกันสาธารณสุขของประเทศได้และส่งเสริมการเข้าถึงยาของมวลชน โดยให้ประเทศสามารถผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาที่ติดสิทธิบัตรได้ หากเกิดความจำเป็นเร่งด่วน เกิดวิกฤติภายในประเทศหรือเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ

การตัดสินใจทำ CL ยาในครั้งนั้น ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับการต่อต้านจากผู้เสียประโยชน์จากมาตรการนี้ เช่นบริษัทยาบางบริษัทขอถอนยาที่กำลังขึ้นทะเบียนจำนวน 7 ตำหรับ ทำให้ประชาชนบางกลุ่มกังวลเรื่องการเข้าถึงยาอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในระดับประเทศ โดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศของบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรปรับลดสถานะทางการค้าของไทยให้ต่ำลงไปจนอาจเสี่ยงเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับรุนแรงที่สุด ซึ่งย่อมมีผลในวงกว้างทางเศรษฐกิจ แม้แต่ผู้จัดการทั่วไปขององค์การอนามัยโลกในขณะนั้นยังต้องการให้รัฐบาลไทยสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทผู้ผลิตยา โดยเสนอให้เจรจาต่อรองราคายาเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยามากกว่าใช้มาตรการ CL ยา อย่างไรก็ตาม มีองค์กรนานาชาติหลายหน่วยงาน เช่น The United Nations Programme on HIV-AIDS (UNAIDS) รวมถึงองค์กรหมอไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres: MSF) และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS ACCess Foundation) เป็นต้น สนับสนุนให้ไทยดำเนินมาตรการนี้

วิจัยหาหลักฐานเชิงประจักษ์ ทำ CL ยา ได้คุ้มเสียหรือไม่
ท่ามกลางข้อโต้แย้งมากมายเกี่ยวกับมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรที่แสดงให้เห็นถึงผลเสียและผลได้ HITAP ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากการประกาศใช้ CL ยาให้ครอบคลุมอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ได้ใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต

จากการทบทวนวรรณกรรมในขณะนั้นพบว่า ไม่พบหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับบทบาทการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีผลต่อการส่งเสริมนวัตกรรมและการเติบโตของเศรษกิจตามข้อตกลง TRIPS ซึ่งอ้างว่าทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยเป็นแรงจูงใจในการคิดค้นนวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการไหลเข้าของการลงทุนจากต่างประเทศ แม้มีการหยิบยกข้อดีของการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเชื่อว่าทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและการเมืองและประโยชน์ต่อด้านสาธารณสุข การศึกษาและการค้าก็ตาม ตรงกันข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในหลาย ๆ ประเทศทำให้พบว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา มีผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา

เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพกลับยิ่งพบว่า การเข้าถึงยาที่เพิ่มขึ้นช่วยให้ผู้ป่วยอายุยืนขึ้น โดยแตกต่างกันไปตามแต่ละยา โดยรวมสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านยาถีง 357.8 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา อีกทั้งประเทศอื่น ๆ ต่างได้รับผลประโยชน์จากการลดราคายาของบริษัทข้ามชาติเช่นเดียวกัน ส่วนผลกระทบเชิงเศรษฐกิจนั้น ไม่พบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการประกาศ CL ยา กับการลดลงของเงินลงทุน นอกจากนี้การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง SET index ก็พบว่าดัชนีมีการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของตลาดสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ทางการเมืองของไทยและผันผวนตามค่าเงินบาทมากกว่าการประกาศใช้ CL

เห็นได้ว่าการทำ CL ยาประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่าเสีย เพราะเรื่องยาเป็นเรื่องสำคัญที่อาจอยู่เหนือกฎหมายถึงแม้จะมีสิทธิบัติเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษา แต่ก็ไม่สามารถกีกกันความเป็นความตายของมนุษย์ได้

สามารถอ่านรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การประเมินผลกระทบจากมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาในประเทศไทยระหว่างปี 2549-2551 ได้ที่ https://www.hitap.net/documents/21059

3 เมษายน 2560

Next post > HTA เครื่องมือหนึ่งสำหรับการจัดลำดับความสำคัญ ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

< Previous post บทบาทของการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ