logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ถาม-ตอบ โครงการทิ้งหิ้ง คัดเลือก-เทรนนิ่ง ผู้สมัครอย่างไรบ้าง

โครงการทิ้งหิ้ง ลิงก์นโยบาย มีผู้สนใจโทรเข้ามาสอบถามตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวบน facebook คำถามส่วนมากมักเป็นเรื่องเนื้อหางานวิจัยแบบใดที่จะเข้าข่ายเตะตากรรมการและนโยบายแบบไหนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ดร.จอมขวัญ โยธาสมุทร และ ดร.รุ่งนภา คำผาง จึงเป็นตัวแทนคณะดำเนินงานโครงการ มาชี้แจงเพิ่มเติม

อยากสมัครโครงการทิ้งหิ้งต้องเขียน mini proposal อย่างไร
Mini proposal เป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลหัวข้อวิจัย (ประเด็น) และระเบียบวิธีวิจัยที่ผู้สมัครให้ความสนใจ ซึ่งควรแสดงให้เห็นความชัดเจน และมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ เพราะเมื่อทีมงานเห็นสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะได้ประเมินได้ว่าผู้สมัครมีความสนใจในเรื่องใด จะได้จัดเตรียมทรัพยากรเพื่อช่วยตอบโจทย์ด้วยการจัดหา resource persons หรือ connections ที่มี รวมถึงได้จัดบุคลากรที่มีความสนใจในเรื่องนั้น ๆ และมีความเชี่ยวชาญในระเบียบวิธีการศึกษานั้นมาเป็นพี่เลี้ยง ทั้งนี้ รูปแบบการทำงานในโครงการไม่ได้กำหนดตายตัวว่าผู้สมัครต้องมาอยู่ที่ HITAP ตลอดระยะเวลา ถ้าพบว่าเครือข่ายของ HITAP มีความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัยของผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า ทีมงานก็จะช่วยประสานระหว่างนักวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นเพื่อให้ทำวิจัยจนสำเร็จอย่างมีคุณภาพ

สำหรับเรื่องระเบียบวิธีวิจัยนั้นไม่จำเป็นต้องหรูหรา ไม่ต้องมีขนาดใหญ่ถึงระดับการสำรวจระดับชาติ (เพราะมีเวลาจำกัด) แต่ขอให้มีความชัดเจน สอดคล้อง และเป็นไปได้ โดย mini proposal ควรบอกระเบียบวิธีวิจัยกว้าง ๆ เช่น ผู้วิจัยวางแผนจะทำการทบทวนวรรณกรรม (literature review) เก็บข้อมูลปฐมภูมิ (primary data collection) หรือ วิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data analysis) ซึ่งขึ้นอยู่กับประเด็นและหัวข้อที่สนใจ

ในส่วนของการเชื่อมโยงงานวิจัยกับนโยบายนั้น ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า ความต้องการเชิงนโยบายมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นนโยบายระดับใด ไม่ต้องถึงขั้นเป็นมติ ครม. จนออกเป็นกฎหมาย แต่ต้องมานั่งพิจารณาร่วมกันก่อนว่าหัวข้อแบบนี้จะเหมาะสมกับการเชื่อมโยงกับนโยบายในระดับใด และควรมีการสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบายผ่านช่องทางใด ทั้งนี้ mini proposal ที่ส่งเข้ามาอาจเป็นการประเมินผลการใช้มาตรการ หรือนโยบาย ในระดับหน่วยงาน เช่น กรม กอง ก็ได้ เพียงแต่ต้องมีมิติของเรื่องสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น นักวิจัยจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาจสนใจวิเคราะห์ผลจากการใช้สารเคมีตัวหนึ่งที่มีต่อสุขภาพหรือถ้าเป็นนักวิจัยในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็อาจสนใจประเมินว่าการให้สวัสดิการบางอย่างแก่ผู้พิการหรือผู้สูงอายุก่อให้เกิดผลเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรบ้าง

ทำไมผู้สมัครต้องสนใจเรื่อง HTA ด้วย
Health Technology Assessment หรือ HTA เป็นตัวอย่างของการทำวิจัยสายสุขภาพที่มีการเชื่อมโยงการใช้ในเชิงนโยบาย HTA เป็นศาสตร์ที่ครอบคลุมงานวิจัยหลายประเภท ไม่ใช่แค่การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่ยังรวมถึงการประเมินโครงการ หรือนโยบายเพื่อวัดผลว่าสิ่งที่ทำไปนั้นสำเร็จหรือไม่ ตอบวัตถุประสงค์ของโครงการเพียงใด การดำเนินการมีปัญหาอะไร เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าผลที่ได้มาจะต้องนำไปสร้างอะไรใหม่ อาจใช้เป็นข้อมูลยืนยันว่าสิ่งที่ดำเนินการมานั้นดีอยู่แล้ว หรือ เพื่อยืนยันความเหมาะสมหรือความคุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ไปก็ถือว่าได้ใช้เชิงนโยบายแล้ว

เมื่อผ่านการคัดเลือกมาแล้วผู้เข้าร่วมจะได้รับการฝึกอะไรบ้าง
เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว กิจกรรมแรกที่เริ่มดำเนินการ ได้แก่ การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องขอบเขตของงานวิจัย และนโยบายที่นักวิจัยให้ความสนใจนั้นเป็นอย่างไร มีกี่ระดับและกี่รูปแบบ การนำงานวิจัยมาใช้เชิงนโยบายมีกี่ระดับ งานวิจัยของผู้เข้าร่วมโครงการจะมุ่งหวังไปถึงระดับใด จากนั้นจึงพิจารณาช่องทางการผลักดันผลการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย นักวิจัยในโครงการและทีมงานจาก HITAP จะช่วยกันพัฒนางานวิจัย เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ ให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้กำหนดนโยบาย และบริหารและรวบรวมทรัพยากรในเครือข่ายและ ผู้ที่จะเป็นตัวเชื่อมงานวิจัยกับนโยบายที่เคยทำงานร่วมกับ HITAP เพื่อมาสนับสนุนการทำงานในโครงการนี้

การทำงานในโครงการนี้ไม่ใช่การอบรมแบบการเรียนการสอนในชั้นเรียนแต่เป็นการร่วมทำวิจัยเพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำไปใช้เชิงนโยบาย โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ฝึกฝนโดยวิธีการ learning by doing ในแบบ on the job training ซึ่งลักษณะการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการและที่ปรึกษาจะต้องออกแบบร่วมกัน (tailor made) ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละท่านขึ้นอยู่กับหัวข้อวิจัยของผู้เข้าร่วมโครงการ และใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการเข้าร่วมโครงการ

แก่นของการฝึกมีอยู่สองเรื่องหลัก คือ เรื่องการทำวิจัยและเรื่องการนำงานวิจัยไปใช้ในนโยบาย นอกจากจะมาช่วยกันทำงานวิจัยแล้วอาจมีการอบรมเรื่องทักษะและเทคนิคที่ใช้ในการผลักดันนโยบายเข้ามาเสริมด้วย การทำงานอาจเริ่มจากประเด็นที่นักวิจัยที่เข้าร่วมโครงการสนใจ และสนับสนุนการอบรมเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยแต่อาจไม่ใช่สิ่งที่นักวิจัยมีความเชี่ยวชาญ เช่น นักวิจัยมาจากสายวิชาการอื่น แต่งานวิจัยที่ทำเกี่ยวข้องกับสายสุขภาพ ก็ต้องสนับสนุนการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้เรื่องระบบสุขภาพ เป็นต้น

ถ้าผู้เข้าร่วมโครงการจบการศึกษาระดับปริญญาโท และทำงานด้านนโยบายมาระยะหนึ่ง ทางโครงการก็จะสนับสนุนการอบรมเพื่อปรับพื้นฐานของการทำวิจัยก่อน เช่น การจัดอบรมฟื้นฟูความรู้เรื่องสถิติเบื้องต้น การพัฒนาระเบียบวิธีวิจัย การเก็บข้อมูล การพัฒนา framework ในการวิเคราะห์ข้อมูล กรณีกลุ่มที่จบการศึกษาระดับ ปริญญาเอกแล้ว อาจไม่ต้องฝึกเรื่องการทำวิจัย แต่เน้นเรื่องการพัฒนาประเด็นการวิจัยให้เหมาะสมกับการนำไปใช้เชิงนโยบาย เป็นต้น

ความสำเร็จของโครงการจะออกมาในรูปใด
ผู้จัดโครงการคาดหวังว่าเมื่อผู้เข้าร่วมโครงการดำเนินโครงการสำเร็จแล้ว เมื่อกลับไปทำงานที่องค์กรของตน จะมีทักษะในการทำวิจัยเพื่อเชื่อมโยงกับนโยบายได้
หนึ่งในเป้าหมายของ HITAP คือ การผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้หลักฐานทางวิชาการเป็นตัวนำในการตัดสินใจ (evidence-based decision making) ซึ่งถ้าผู้จัดโครงการมีส่วนร่วมในการสร้างความสามารถในการใช้หลักฐานทางวิชาการได้ ก็ถือว่าเดินทางถึงเป้าหมายในระดับหนึ่ง และเมื่อโครงการทิ้งหิ้งดำเนินงานไปจนจบระยะเวลา 3 ปี ก็น่าจะสร้างเครือข่ายบุคลากรที่ทำงานเชิงนโยบายมากขึ้น มีหน่วยในสังคมที่จะขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบนี้ที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในทุกสาขาวิชา ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องระบบสุขภาพเท่านั้น เท่ากับเป็นการช่วยผลักดันให้เรามี นโยบายบนฐานข้อมูลหลักฐาน (evidence-based policy) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าโดยมีความรู้เป็นพื้นฐาน

“นโยบายบนฐานข้อมูลหลักฐาน” มีประโยชน์อย่างไร
ถ้ามองในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ประชาชนน่าจะรู้สึกมั่นใจที่มีกลุ่มคนและกระบวนการในการกำหนด หรือดำเนินนโยบายโดยใช้หลักฐานทางวิชาการและกระบวนการที่มีความน่าเชื่อถือเป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งดีกว่าที่จะใช้วิธีให้คนคนเดียวหรือกลุ่มคนไม่กี่คน เช่น ความเห็นผู้เชี่ยวชาญมาตัดสินใจสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม นโยบายบนข้อมูลหลักฐานจะเป็นตัวกรองข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ ให้คนที่ต้องทำหน้าที่ตัดสินใจใช้ความคิด ใช้สติ ใช้ปัญญา ใช้กลไกล ในการดำเนินงาน

การมีหลักฐานทางวิชาการทำให้เกิดการค้นคว้าว่าสิ่งที่จะลงมือทำจะให้ผลดีหรือไม่ดีอย่างไร คือการลงทุนเพื่อให้ได้ข้อมูลมาเพิ่มเพื่อให้การตัดสินใจผิดพลาดน้อยที่สุด หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาในภายหลังซึ่งมีค่าใช้จ่ายและบทเรียนที่อาจมีต้นทุนที่สูงกว่า ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อน ถ้าตัดสินใจไปทั้ง ๆ ที่มีข้อมูลไม่มากพอ ไม่ได้ดูผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เมื่อสร้างไปแล้ว ชาวบ้านได้รับผลกะทบไปแล้ว จะมาแก้ปัญหาด้วยการยกเอาเขื่อนออกไปเฉย ๆ ก็คงเป็นไปไม่ได้ การตัดสินใจเรื่องระดับนี้มันยิ่งใหญ่มาก นโยบายบนข้อมูลหลักฐานจึงเป็นสิ่งทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องมีความรับผิดชอบ (accountability) กับสังคมด้วย มันทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องคิดเยอะขึ้น

นอกจากนี้นโยบายบนข้อมูลหลักฐานยังเป็นการท้าทายให้สังคมมีความพยายามในการตรวจสอบนโยบาย เช่น สามารถแย้งว่าข้อมูลที่นำมาประกอบการตัดสินใจเป็นข้อมูลที่ล้าหลังแล้ว กลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไปที่จะสามารถสรุปออกมาเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ ส่งผลให้เกิดการหาความรู้มากขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ทำให้บ้านเมืองสามารถขับเคลื่อนไปด้วยองค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ ถ้าสังคมไทยมีหน่วยงานที่ใช้หลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพมาอภิปรายถกแถลงกันมากขึ้น ก็จะยิ่งมีโอกาสเห็นนโยบายที่ชัดเจนและสะท้อนความเป็นจริงและความต้องการของสังคมมากขึ้น

โครงการทิ้งหิ้ง ลิงก์นโยบาย แม้จะเป็นความพยายามเล็ก ๆ ในการสร้างคนและเครือข่ายการทำงานการเชื่อมความรู้ไปสู่นโยบาย แต่เราก็หวังว่าแรงผลักดันเล็ก ๆ ของเราจะช่วยให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่จนสังคมไทยมีความเข้มแข็งเรื่องการพัฒนาที่อยู่บนความรู้และการมีส่วนร่วม

สนใจ สมัครร่วมโครงการ ทิ้งหิ้งลิงก์นโยบาย เรียนรู้การทำวิจัยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย คลิก https://www.hitap.net/resources/tinghing

13 มีนาคม 2560

Next post > HITAP Comics ตอนที่ 3 ข้อมูลเหลือเฟือจะเชื่อใครดี ภาค 2

< Previous post HITAP Commic

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ