วิจัยในวัยเรียนไม่เหมือนกับวิจัยในชีวิตจริง
นักวิจัยรุ่นใหม่ที่จบระดับป. ตรีและป.โท มักพบว่าการทำงานวิจัยในชีวิตจริงต่างกันมากกับการทำวิจัยสมัยเรียนมหาวิทยาลัย อาจเป็นเพราะเป้าหมายในการทำวิจัยต่างกัน สมัยเรียนนั้นทำวิจัยเพื่อจบการศึกษา แต่เมื่อมาทำงานเป็นนักวิจัยสายพัฒนานโยบายด้านสุขภาพ เช่น การทำงานที่ HITAP ที่มีเป้าหมายคือ ทำวิจัยเพื่อให้สังคมไทยมีการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพที่เหมาะสม การทำวิจัยจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถไม่ใช่น้อย ดังเรื่องราวของนักวิจัยหน้าใหม่ใน HITAP ทั้งสามคนต่อไปนี้
กิตติพงษ์ ธิบูรณ์บุญ ก่อนมาเป็นนักวิจัยที่ HITAP เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ มีประสบการณ์ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์มาก่อนที่จะเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยที่ HITAP อยู่สามปี หลังจากได้ทุนเรียนปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์สาธารสุข จาก University of York ประเทศอังกฤษ จึงกลับมาเป็นนักวิจัยมีประสบการณ์ในการประเมินความคุ้มค่าของยาและและบริการสาธารณสุขโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ผลงานวิจัยของเขาเรื่อง การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของกระบวนการตรวจวินิจฉัยเพื่อป้องกันการเกิดซํ้าของกลุ่มทารกที่มีความผิดปกติทางโครงสร้างของโครโมโซม กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเป็นนโยบายในระบบประกันสุขภาพ
ภญ. ธนพร บุษบาวไล จบปริญญาตรีด้านเภสัชศาสตร์ เริ่มงานแรกในชีวิตที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จากนั้นจึงออกมาเรียนต่อปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เมื่อจบมาจึงได้ทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยที่ HITAP ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของยาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้กำหนดนโยบายในการนำยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ
ดนัย ชินคำ จบปริญญาตรีด้านสาธารณสุขศาสตร์ เขาเคยเป็นพนักงานเก็บข้อมูล (part time) ในโครงการเครื่องมือคำนวณคะแนนอรรถประโยชน์สำหรับ EQ-5D-5L ฉบับภาษาไทยของ HITAP จากนั้นได้สมัครเข้ามาเป็นผู้ช่วยวิจัย งานวิจัยของเขาเรื่อง “การประเมินบริการอนามัยโรงเรียน” ที่ทำการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2557 ส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นความสำคัญของงานอนามัยโรงเรียนมากขึ้นจึงให้มีการศึกษาต่อยอดเพื่อค้นหาแนวทางการแก้ไข หาต้นแบบหรือโมเดลบริการอนามัยโรงเรียนที่เหมาะสมใน
กิตติพงษ์ “การเรียนทำวิจัยสมัย ป.โทส่วนใหญ่แล้วเป็นการศึกษาแนวคิด เรียนรู้ methods ทฤษฎีต่าง ๆ”
ภญ. ธนพร “ตอนทำวิจัยสมัยมหาวิทยาลัยก็คิดแค่ว่าเลือกเอาหัวข้อที่เราสนใจ ทำง่าย ได้เกรดดี ระเบียบวิจัยถูกต้อง เพื่อจบการศึกษา ไม่รู้ว่าจะนำไปลิงก์กับนโยบายจริง ๆ ยังไง”
ดนัย “ไม่เคยคิดถึงการนำมาเชื่อมโยงกับนโยบาย และไม่ทราบว่างานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างไรบ้าง”
แต่เมื่อทั้งสามได้มาทำงานที่ HITAP แล้ว ก็พบว่า มันไม่ง่ายเลยที่จะเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่นโยบายระดับชาติ
ดนัย “การทำวิจัยจริง ๆ ไม่ได้ทำคนเดียว แต่ทำเป็นทีม ใน HITAP ทีมวิจัยจะประกอบไปด้วยพี่ ๆ ที่มีประสบการณ์ ทั้ง หัวหน้าโครงการ นักวิจัยอาวุโส นักวิจัยหลัก (Principal Investigator-PI) และที่ปรึกษาที่เป็นบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เมื่อน้อง ๆ มือใหม่มาทำวิจัยจึงเป็นการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานจริง โดยมีพี่ ๆ เป็นพี่เลี้ยง”
ภญ. ธนพร “นักวิจัยที่ HITAP จะได้รับการสอนเรื่องนโยบายสุขภาพ ระบบสุขภาพของสังคมไทย เมื่อทำวิจัยจะคำนึงถึงผู้ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบาย คิดถึงการนำไปใช้เพื่อพัฒนาปรับปรุงนโยบายในบริบทของประเทศไทย
หัวข้อวิจัยของ HITAP จะมาจากโจทย์ความต้องการของผู้กำหนดนโยบายหรือจากหน่วยงานต่าง ๆ อยู่แล้ว จากนั้นเรานำโจทย์มาแปลงเป็นหัวข้อวิจัย สังเคราะห์กระบวนการวิจัย วิเคราะห์ผลวิจัยและทุกงานวิจัยจะต้องให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ไปตอบโจทย์เขาได้”
กิตติพงษ์ “นักวิจัยที่นี่ ต้องประยุกต์ methods ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่ไปเชื่อมโยงการพัฒนานโยบายได้ นักวิจัยไม่มีหน้าที่โดยตรงที่จะไปผลักดันเชิงนโยบาย แต่มีช่องทางให้นำผลวิจัยไปใช้หลายช่องทาง อาทิ Policy Brief หรือเวทีที่จะให้เราเข้าไปนำเสนอผลและข้อเสนอแนะต่าง ๆ หน้าที่ของเราคือทำงานวิจัยให้ตอบโจทย์ และต้องเขียนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้ชัดเจนว่าเราแนะนำอะไร”
ดนัย “สำหรับผมซึ่งจบ ป. ตรีมา ผมว่ามันยากนะ ที่จะถม gap ระหว่างงานวิจัยกับการพัฒนานโยบาย มันต้องดูหลาย ๆ เรื่อง ทั้งความเป็นไปได้ของทรัพยากรที่มีอยู่ คน เงิน ของ การเมือง และหากงานวิจัยของเรามีส่วนในการผลักดันนโยบายระดับประเทศ เราก็ภูมิใจว่างานวิจัยของเราใช้ประโยชน์ได้จริง”
ดนัย “ตอนนี้เรามีโครงการทิ้งหิ้ง ก็นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ที่นักวิจัยหน้าใหม่ที่สนใจประเด็นด้านสุขภาพจะได้มาเรียนรู้การทำให้งานวิจัยนำไปใช้ได้จริง”
ภญ. ธนพร “เราก็เอาข้อมูลนั้นไปนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายให้เขาตัดสินใจอีกที”
กิตติพงษ์ “นักวิจัยที่เข้าร่วมโครงการ ทิ้งหิ้ง จะได้ประสบการณ์ที่ดี จากการทำงานร่วมกับนักวิจัยที่มีประสบการณ์และมีส่วนสนับสนุนผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศ”
เพราะการวิจัยในการทำงานในชีวิตจริง มีเป้าหมายมากกว่าการทำให้งานส่วนตัวให้ลุล่วง แต่มีเป้าหมายไปถึงการแก้ปัญหาส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นขององค์กร ของจังหวัด ของกลุ่มคน หรือของระดับประเทศ จึงต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติมว่าจะทำวิจัยอย่างไรให้เกิดประโยชน์จริง
สนใจ สมัครร่วมโครงการ ทิ้งหิ้งลิงก์นโยบาย เรียนรู้การทำวิจัยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย คลิก http://www.hitap.net/resources/tinghing