รู้หรือไม่ ผลตรวจสุขภาพไม่ได้แม่นยำเสมอไป
หลายคนที่เคยตรวจสุขภาพ คงผ่านตา ผลตรวจที่อ่านยาก ที่มีแบบ Positive และ Negative เคยสงสัยไหมว่ามันหมายถึงอะไร แล้วผลเหล่านั้น น่าเชื่อถือขนาดไหน วันนี้เราจะมาอธิบายง่าย ๆ ให้เข้าใจค่ะ
ผลตรวจสุขภาพ ๆ อาจรายงานผลเป็น Positive หรือ Negative
- ผล Positive หรือ ผลบวก หมายถึง มี” หรือ “พบเชื้อ” หรือ “พบร่องรอยการติดเชื้อ”
- ผล Negative หรือผลลบ หมายถึง ไม่มี หรือ ไม่พบการติดเชื้อ หรือ ไม่พบร่องรอยการติดเชื้อ
ผลเหล่านี้ ไม่แม่นยำเสมอไป เนื่องจากข้อจำกัดซึ่งเป็นธรรมชาติของการพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองสุขภาพที่ต้องหาจุดสมดุลระหว่าง ความไว และความจำเพาะ
– ความไว คือ เครื่องตรวจหรือวิธีตรวจนั้นสามารถตรวจเจอคนที่เป็นโรคได้ถูกต้อง (บอกได้ว่าคนที่มารับการตรวจนี้ติดเชื้อ หรือเป็นโรค)
– ความจำเพาะ คือ บอก ได้ว่าคนที่มารับการตรวจนี้ ไม่มีการติดเชื้อหรือไม่เป็นโรค
ภาพแสดงการตรวจคัดกรองโรคที่มีความจำเพาะร้อยละ 95
การตรวจที่ดี = ความไวสูง+ ความจำเพาะสูง
การตรวจที่ดี จึงควรต้องมีความไวสูง บวกกับความจำเพาะสูง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นเครื่องมือตรวจคัดกรองจึงมักมีความผิดพลาดอยู่บ้าง เช่น มีค่าความไวร้อยละ 90 (แปลว่า เครื่องจะมีความผิดพลาด 1 ใน 10 คือในคนป่วยทั้งหมด 10 คน เครื่องจะบอกว่าป่วย 9 คน) หรือมีความจำเพาะร้อยละ 95 (แปลว่า เครื่องจะมีความผิดพลาดร้อยละ 5 คือในคนปกติ 100 คน เครื่องจะบอกว่ามีคนป่วย 5 คน แต่ที่จริงไม่มีใครป่วยเลย) จึงเป็นไปได้ที่ผลตรวจที่ออกมานั้นจะต่ำกว่าความเป็นจริงหรือเว่อร์เกินจริงบ้าง สิ่งที่ควรทราบคือ ผลที่ผิดพลาดมีอะไรบ้าง และอาจส่งผลอย่างไร
• ผลบวกลวง หรือ ผลบวกปลอม หรืออีกนัยหนึ่งคือ เขาไม่ได้ป่วยตามที่ผลปรากฏออกมาหรอกนะ กล่าวคือเขาไม่เป็นโรค แต่เป็นความผิดพลาดของเครื่องเขาจึงได้ผลบวก (เสี่ยงเป็นโรค) ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ถูกส่งต่อเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งมักเป็นการตรวจที่มีความเสี่ยงและอันตรายเพิ่มมากขึ้น
• ผลลบลวง หรือ ผลลบปลอม หรืออีกนัยหนึ่งคือ เขาเสี่ยงเป็นโรคนะ แม้ผลที่ออกมาจะเป็นลบ กล่าวคือในขณะที่เขาเป็นโรคอยู่ แต่เครื่องกลับตรวจไม่พบโรค ส่งผลให้ไม่ได้รับการป้องกันและดูแลอย่างถูกต้อง
จะเห็นได้ว่า “ผล” ที่เกิดจากการตรวจสุขภาพ มีได้หลากหลาย และไม่มีการตรวจใดที่ให้ผลยืนยันได้ 100 % ดังนั้นในฐานะผู้บริโภคที่จะไปเลือกตรวจสุขภาพตามสถานพยาบาลต่าง ๆ ควรเลือกประเภทการตรวจที่มีการยืนยันมาตรฐานการตรวจในระดับหนึ่ง และอาศัยข้อมูลอื่นเพื่อประกอบการตัดสินใจ สามารถติดตามรายระเอียดงานวิจัยได้ที่ที่ http://www.mycheckup.in.th หรือดาวน์โหลดหนังสือวิจัย เช็คระยะสุขภาพ ตรวจดีได้ตรวจร้ายเสีย ที่อ่านได้ง่าย เข้าใจไม่อยากเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพประจำที่เหมาะสมกับคนสุขภาพปกติ
- การศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย