logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ตอนที่ 4  ตรวจร่างกายเท่าที่จำเป็นสำหรับผู้ชาย

การตรวจร่างกายประจำปีสำหรับผู้ชาย

การดูแลสุขภาพตนเอง ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปีตามคำแนะนำ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ช่วยป้องกันการเกิดโรคในอนาคต สำหรับการตรวขเช็คสุขภาพสำหรับผู้ชายทั่วไป ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรค แนะนำให้ตรวจคัดกรองหลัก ๆ ดังนี้

มะเร็งตับ มะเร็งตับพบมากเป็นอันดับหนึ่งในเพศชายและสามในเพศหญิง สาเหตุสำคัญมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งติดต่อได้ผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง เพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ได้ ส่วนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงควรเริ่มตรวจคัดกรองด้วยการตรวจเลือดตั้งแต่อายุ 31-40 ปี

มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งชนิดนี้พบได้บ่อยแถบภาคอีสาน ปัจจัยเสี่ยง คือการรับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ หรือการรับประทานอาหารหมักดอง ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี รวมถึงดื่มสุรา ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองโรคนี้ที่ให้ผลแน่ชัด จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี

ปัญหาการดื่มสุรา การคัดกรองปัญหาการติดสุราเป็นหนึ่งในเรื่องที่คนมักมองข้าม ทั้ง ๆ ที่การติดสุราสร้างผลเสียต่อร่างกายนานัปการ เช่น โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร โรคสมองเสื่อม อีกทั้งเป็นปัญหาให้กับสังคมและเศรษฐกิจ การคัดกรองการติดสุราทำได้โดยใช้แบบสอบถาม (ASSIST) เพื่อดูพฤติกรรมการดื่มสุราในช่วง 3 เดือน ท่านสามารถวัดระดับการติดสุราได้ด้วยตนเองที่ www.1413.in.th/audit/drinkingProblem.htm หรือโทรปรึกษา สายด่วน 1413 เพื่อขอคำแนะนำในการเลิกสุรา

อุบัติเหตุจราจรทางถนน อุบัติเหตุจราจรทางถนนอาจฟังดูแล้วเหมือนเป็นโรคที่ไม่ต้องมีการคัดกรองสุขภาพเพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขมากกว่า ทว่า ยังมีการคัดกรองด้านสุขภาพที่ช่วยลดอุบัติเหตุจราจรทางถนนได้ นั้นคือ การตรวจวัดสายตาเป็นประจำ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการมองภาพไม่ชัด

เอชไอวี/เอดส์ เอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ติดเชื้อโดยง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคเอดส์ พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อเอดส์ คือ การมีเพศสัมพันธ์หรือการใช้ยาเสพติดแบบฉีดที่ไม่ปลอดภัย การตรวจเลือดเป็นการตรวจคัดกรองเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อลุกลามและเพื่อรับการรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรก ประชาชนทั่วไปเข้ารับบริการตรวจได้ฟรีตามโรงบาลของรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่

โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันยังไม่มีการคัดกรองโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองโดยตรง มีเพียงการตรวจเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ซึ่งแบ่งได้ 2 ชนิดคือปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่ เพศ อายุ ประวัติคนในครอบครัว และ ปัจจัยที่แก้ไขได้ ได้แก่ ความดันโลหิต ระดับไขมัน และพฤติกรรม นอกจากนี้การเป็นโรคร่วมดังต่อนี้ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial Fibrillation โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ท่านควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป ทุก ๆ 5 ปี ท่านที่มีประวัติครอบครัวสายตรงที่เคยเกิดภาวะเจ็บหน้าอกควรตรวจคัดกรองถี่ขึ้น ส่วนท่านที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial Fibrillation ด้วยการตรวจวัดชีพจรทุกครั้งที่เข้ารับบริการสถานพยาบาล นอกจากนี้ท่านยังสามารถตรวจสอบอายุหัวใจของท่านเองได้ที่ www.mycheckup.in.th เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งถ้าหากท่านพบเห็นบุคคลซึ่งมีอาการเจ็บเค้นหน้าอก ใจสั่น เหงื่อออก เป็นลมหรือหมดสติ สามารถโทรแจ้งสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

โรคเบาหวาน โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่นำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อันตรายถึงชีวิตมากกว่า เช่น โรคไต วิธีมาตรฐานในการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน คือ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยการเจาะเลือดหลังจากอดอาหาร 8 ชั่วโมง (FPG) หากระดับน้ำตาลในเลือดมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจ เป็นประจำอย่างน้อยทุก ๆ 5 ปี ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ทานยาลดความดันโลหิต มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคเบาหวานที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป น้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน ท่านสามารถตรวจคัดกรองได้ถี่ขึ้น

ภาวะทุพโภชนาการ การได้รับสารอาหารเกินหรือน้อยเกินไป อาจทำให้เราต้องประสบกับภาวะทุพโภชนาการ คือ อ้วนและผอมเกินไป และเป็นบ่อเกิดของโรคอื่น ๆ ตามมา คือ โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน แต่ถ้าผอมไปจะมีผลกระทบกับการเจริญเติบโตและสติปัญญา การคัดกรองภาวะทุพโภชนาการทำได้ด้วยการวัดดัชนีมวลกาย (BMI) ถ้าค่า BMI เกิน 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร ถือว่าเป็นโรคอ้วน แต่ถ้าต่ำกว่า 18.5 ถือว่าผอมเกินไป

ภาวะโลหิตจาง โลหิตจางคือการขาดธาตุเหล็ก โดยเฉพาะเด็กทารกและหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีความต้องการธาตุเหล็กสูง
ธาตุเหล็กสำคัญต่อร่างกายทำใฟ้ให้ร่างกายทำงานได้ปกติ ตลอดจนการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการเจ็บป่วย ดังนั้นการตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจางเหมาะสมกับบุตรหลานของท่านที่มีอายุระหว่าง 9-12 เดือน ด้วยการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) หรือการตรวจปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Hct) พร้อมทั้งการไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูมหัดเยอรมัน (MMR) ในสถานพยาบาล เพื่อเป็นการป้องกันภาวะโลหิตจาง

มะเร็งลำไส้ใหญ่ คนไทยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่กันมากขึ้น ปัจจุบันมีการคัดกรองหลายวิธี เช่น การตรวจเลือดที่ปนมากับอุจาระ (FIT) หรือการส่องกล้อง (colonoscopy) สำหรับท่านที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและไม่เกิน 70 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจอุจาระทุก 1-2 ปี ส่วนท่านที่มีความเสี่ยงสูงควรเริ่มตรวจคัดกรอง เมื่ออายุ 60 ปี หากมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยนั้น ควรตรวจด้วยวิธีส่องกล้องอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต

รายการการตรวจคัดกรองสุขภาพประจำปีเหล่านี้เป็นคำแนะนำเกิดจากผลการวิจัย เรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทยโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไทยให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ในหนังสือเช็คระยะสุขภาพ หรือ เข้าไปที่ www.mycheckup.in.th หรือ https://www.hitap.net/research/17573 อีกทั้งสามารถติดตามบล็อกต่อไปตรวจอะไรได้ไม่คุ้มเสียเร็ว ๆ นี้

9 พฤศจิกายน 2559

Next post > ตอนที่ 5 ตรวจอะไรได้ไม่คุ้มเสีย

< Previous post ตอนที่ 3 ตรวจร่ายกายเท่าที่จำเป็นสำหรับผู้หญิง

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ