logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ตอนที่ 1 ตรวจสุขภาพประจำปี ที่แท้จริงหมายถึงอะไร ตรวจไปเพื่ออะไร

คนไทยสมัยนี้นิยมไปตรวจสุขภาพประจำปีกันมาก เห็นได้จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ. 2552 ที่พบว่า คนไทยควักกระเป๋าตัวเองเพื่อการตรวจคัดกรองสุขภาพ มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 2,200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการจัดโปรแกรมการตรวจสุขภาพให้เลือกเป็นชุด ๆ หลากหลายมาก จนไม่รู้ว่าควรเลือกอย่างไรดี ความรู้ความเข้าใจเรื่องการตรวจคัดกรองอย่างถูกต้อง จะทำให้เราเลือกการตรวจสุขภาพได้อย่างเหมาะสม แต่ก่อนอื่นเราควรรู้ก่อน การตรวจสุขภาพประจำปีคืออะไรและทำไปเพื่ออะไร
ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปี คือ การคัดกรองโรคเบื้องต้น และเป็นการหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค หากตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะได้รีบรักษาดูแล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลโรคต่าง ๆ การตรวจสุขภาพประจำปี จึงมีประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้รับการตรวจและแพทย์เพราะช่วยให้มีโอกาสป้องกันและรักษาก่อนที่โรคจะพัฒนาไปมากขึ้น
การเลือกตรวจสุขภาพประจำปีให้เหมาะสม คนส่วนหนึ่งจะเลือกตรวจคัดกรองสุขภาพทุกชนิด โดยไม่รู้ตัวเลยว่าการตรวจคัดกรองสุขภาพบางอย่างเป็นผลเสียต่อร่างกาย การตรวจสุขภาพให้เหมาะสมควรพิจารณาจาก เพศ อายุ และพิจารณาจากโรคที่คนไทยมักเป็นกัน นอกจากนี้เรื่องความเสี่ยง เช่น พันธุกรรม และพฤติกรรม ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งสำหรับการเลือกตรวจคัดกรอง เช่น บุคคลที่มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคบาหวาน ควรเริ่มตรวจคัดกรองเร็วกว่าปกติ ผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ควรคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ

การตรวจคัดกรองสุขภาพทำอย่างไรบ้าง การตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นมักเป็นการซักถามหรือตรวจอย่างเป็นระบบในเบื้องต้น เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคในบุคคลที่ไม่เคยทราบเลยว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือเป็นโรคนั้นแล้ว ถ้าพบความผิดปกติใด ๆ จะได้ทำการตรวจเพิ่มเติมและวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อส่งต่อแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ทำวิจัยเพื่อหารายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นสำหรับคนไทย ตามเพศและวัย ซึ่งรายการที่ได้มานี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีสุขภาพปกติสำหรับการตรวจสุขภาพประจำปี สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://www.mycheckup.in.th/
ติดตามเรื่องราวการตรวจสุขภาพได้ ตอนต่อไป ตรวจคัดกรองต่างจากตรวจวินิจฉัยอย่างไร

7 ตุลาคม 2559

Next post > ตอนที่ 2 การตรวจคัดกรองต่างจากตรวจวินิจฉัยอย่างไร

< Previous post ใครเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ