“นักทัศนมาตร” สิ่งที่ขาดหายไปเมื่อต้องตัดแว่น! (ตอนที่ 2)
ในบทความตอนที่แล้ว HITAP ได้พูดถึงหน้าที่และความสำคัญของนักทัศนมาตรว่ามีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพสายตาของประชากรไทยได้มากน้อยเท่าใด ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับระบบสุขภาพและสาธารณสุขไทย ถ้าเร่งผลิตบุคคลากรด้านนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้ทันกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และประชาคมอาเซียนในอนาคต สำหรับบทความตอนนี้ มารู้จักความสำคัญของนักทัศนมาตรเพิ่มเติมว่า หากประเทศไทยขาดนักทัศนมาตรหรือมีจำนวนน้อยอย่างในปัจจุบัน จะเกิดปัญหาใดบ้าง ถ้าหากประชากรไทยมีปัญหาสายตา
ขาดนักทัศนมาตร..ใครจะดูแลสุขภาพ “ตา” ของคนไทย?
นักทัศนมาตรเป็นเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในทีมสุขภาพร่วมกับจักษุแพทย์ พยาบาลเวชปฏิบัติทางตา พยาบาลวัดแว่น และบุคลากรอื่นๆ ที่ร่วมให้บริการแก่ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ เป็นผู้ที่สามารถให้บริการทางด้านโรคตา และการมองเห็นที่เป็นระดับปฐมภูมิ (Primary eye care) ให้แก่ชุมชนต่างๆได้ดี อีกทั้งยังเป็นผู้ที่จะช่วยในการแก้ไข ฟื้นฟูโรคสายตา และการมองเห็น ภายหลังการได้รับการทำหัตถการหรือการรักษาต่างๆ แล้ว (Secondary eye care) หรือฟื้นฟูสภาพสายตาเมื่อการตรวจรักษาผ่าตัดโดยจักษุแพทย์สิ้นสุดแล้ว (Tertiary eye care) และยังเห็นไม่ชัด เนื่องจากธรรมชาติและความรุนแรงของโรค อุปกรณ์สายตาเลือนรางจะทำให้ผู้พิการสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง เห็นได้ชัดว่าหน้าที่ของนักทัศนมาตรมีความสำคัญอย่างมาก และเป็นองค์ประกอบสำคัญในลดภาระงานของจักษุแพทย์เพื่อที่จักษุแพทย์จะมีเวลาให้การรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
โครงการตรวจตาเด็ก เพื่ออนาคตไทย
โครงการตรวจตาเด็ก เพื่ออนาคตไทย เริ่มจากปัญหาการขาดระบบการคัดกรองและตรวจรักษาความผิดปกติทางสายตาในเด็กในระดับชาติ เนื่องจากเด็กอายุ 3-12 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อพัฒนาการทางสายตา หากไม่ได้รับการแก้ไข จะเสี่ยงต่อการพิการทางสายตาถาวร โดย HITAP ทำงานร่วมกับ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดทำโครงการนำร่อง (pilot project) พบว่าการให้ครูประจำชั้นช่วยคัดกรองสายตาเบื้องต้น และส่งต่อให้จักษุแพทย์ด้านโรคตาของเด็กตรวจซ้ำเพื่อยืนยันการไม่มีโรคตา ในเด็กที่มีสายตาผิดปกติจะได้รับแว่นสายตาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พบว่าโครงการนี้ในด้านค่าใช้จ่ายเป็นไปได้ในประเทศไทย เพราะเป็นระบบที่ใช้งบประมาณไม่สูงแต่สามารถแก้ปัญหาสายตาในเด็กเบื้องต้นได้ แต่เนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนหมอตาที่รักษาโรคตาในเด็กไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในภูมิภาค โครงการดังกล่าวจึงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้เป็นนโยบายระดับชาติ เพื่อพัฒนารูปแบบการคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กอนุบาลและประถม
ครูคัดกรองสายเด็ก..มีความเป็นไปได้แค่ไหน ในไทยเทียบกับต่างประเทศ
โครงการตรวจตาเพื่ออนาคตเด็กไทย ได้นำครูเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยในการคัดกรองสายตาเด็กเบื้องต้นซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี หากครูมีความตั้งใจเรียนรู้จะสามารถทำได้ดีและควรมีการทำอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าปฏิบัติทุกปี ครูจะไม่รู้สึกว่าเป็นภาระเพิ่ม เนื่องจากครูเป็นผู้ใกล้ชิดเด็กวันละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง จึงเป็นด่านแรกในการช่วยคัดกรองเด็ก เนื่องจากจำนวนหมอตาและพยาบาลตาในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะคัดกรองเด็กได้ครบ ดังนั้นควรให้จักษุแพทย์ หรือแพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่ผ่านการอบรมจากจักษุแพทย์พร้อมคำสอนในการอบรม และนักทัศนมาตรในพื้นที่เข้าไปให้ความรู้แก่คุณครูเรื่องพัฒนาการของการมองเห็น ที่จะส่งผลถึงพัฒนาการของเด็ก เนื่องจากความผิดปกติทางสายตาจะทำให้การพัฒนาของเด็กด้อยลงทุกด้าน ตั้งแต่การพัฒนาบุคลิกภาพ การพัฒนาด้านการเรียน และสังคม ครูจะเป็นผู้ถ่ายทอดให้ผู้ปกครอง ซึ่งจะทำให้ครูและคนในพื้นที่มีความเข้าใจมากขึ้นว่าหากเด็กที่มีปัญหาสายตาและไม่ใช้แว่นจะมีผลเสียอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ในประเทศสหรัฐอเมริกา เด็กทุกคนจะต้องทดสอบสายตาตั้งแต่มาปลูกฝีฉีดวัคซินในคลินิกเด็กดี (Well baby clinic) และทดสอบต่อเนื่องในโรงเรียน โดยครูหรือพยาบาลของโรงเรียนซึ่งการตรวจเป็นไปตามมาตรฐาน (พยาบาลในโรงเรียนต้องมีใบรับรองจากการฝึกอบรมพิเศษเพื่อเป็นพยาบาลในโรงเรียน) หากผลการตรวจพบว่ามีความผิดปกติก็จะส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญ หรือนักทัศนมาตรเพื่อวัดสายตา หรือพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาต่อ ถ้าพบเด็กสายตาผิดปกติหรือมีปัญหาทางสุขภาพ ทางรัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่เด็กกลุ่มด้อยโอกาส เช่นมีฐานะยากจน จะได้รับการตรวจตา รับแว่นตาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ตามสมควร
ปัจจุบันการตัดแว่นมีคุณภาพแค่ไหน? วัดสายตา (เด็ก/ผู้ใหญ่) แตกต่างกันอย่างไร
การตัดแว่นในปัจจุบัน ถ้ากล่าวถึงในด้านทฤษฎี อาจกล่าวได้ว่ามีความถูกต้องแม่นยำไม่เพียงพอ เนื่องจากช่างแว่นส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนวิชาการวัดแว่นมาโดยตรง อาศัยเพียงประสบการณ์เท่านั้น ความถูกต้องของการวัดจึงไม่มีความละเอียดเท่าที่ ควร ซึ่งการวัดสายตาเด็กและผู้ใหญ่มีความแตกต่างกันมากในเรื่องของพัฒนาการ โดยเฉพาะเด็กเล็กและเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ก็จะแตกต่างจากเด็กอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของตา และความร่วมมือในการวัด การใช้แว่น
แว่นสายตาเด็ก…ตัดผิด ชีวิตเปลี่ยน
ต้องดูว่าเลนส์ผิดไปมากน้อยเพียงใด หากผิดมากจะส่งผลกับแนวตาไม่ตรงกับระบบปรับโฟกัส ทำให้เด็กมองเห็นไม่ชัด ง่วงนอน และอาจปวดศรีษะ ซึ่งรวมถึงการที่ไม่อยากทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ กรอบแว่นตาของเด็กก็มีความสำคัญมากเช่นกัน การให้แว่นในเด็กที่ต้องห้ามขาดคือให้แว่นบริจาค แว่นเก่า แว่นใหญ่ เพราะถ้าเด็กนำมาใส่แล้วเพื่อนล้อ เด็กจะอายและอาจเลิกใส่ไปตลอดชีวิตได้ และการหาเลนส์มาใช้กับกรอบแว่นรุ่นเก่าจะยาก ยิ่งถ้าใช้กรอบแว่นเดิมพร้อมกับเลนส์ที่ติดมา จะยิ่งผิดมาก เพราะไม่มีเด็กที่จะหน้าเท่ากัน ตาห่างเท่ากัน ใส่แว่นที่ตาทั้งสองข้างต่างกันเหมือนเจ้าของแว่นเดิม
ในประเทศสหรัฐอเมริกามองการให้แว่นเด็กผิดพลาดเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างยิ่ง เนื่องจากจะทำให้การอ่านหนังสือของเด็กไม่มีประสิทธิภาพ เห็นภาพพร่ามัว ภาพซ้อน และอยากหลับขณะอ่านหนังสือ รวมทั้งปวดศรีษะ ดังนั้นเด็กๆ จะไม่ชอบไปโรงเรียน ไม่ชอบอ่านและเรียนหนังสือ เพราะไม่สามารถเห็นข้อมูลต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลการเรียนไม่ดี
รับมือ..ผู้ปกครองต่อต้านการใส่แว่นตาของเด็ก
ในโครงการตรวจตาเพื่ออนาคตเด็กไทย พบปัญหาที่พ่อแม่และผู้ปกครองส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการใส่แว่นของเด็ก เพราะมองว่าจะทำให้เสียบุคลิกภาพซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมาก สิ่งที่สำคัญคือการมองเห็นที่ดีและชัดเจนมากกว่า ซึ่งการเลือกแว่นที่เหมาะสมกับวัยของเด็กก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญทางสายตาต้องเข้าไปให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและแนะนำว่าการใส่แว่นไม่ทำให้เด็กเสียบุคลิกภาพแต่อย่างไร ในทางกลับกันจะยิ่งทำให้เด็กมีความมั่นใจมากขึ้น เด็กที่มองเห็นชัดจะสามารถดำเนินชีวิตได้ดี และส่งผลต่อการเรียนที่ดีขึ้นด้วย ดังจะเห็นจากผลการสำรวจในเด็กไทย พบว่าเด็กชั้นประถมศึกษามีความผิดปกติของสายตา 6 – 9.4 % ชั้นมัธยมศึกษาเพิ่มเป็น 18 – 29.7 % และระดับอุดมศึกษามีสายตาผิดปกติสูงถึง 33 – 54.3 % จึงอาจบอกพ่อแม่เด็กได้ว่า ถ้าเด็กมองเห็นชัด จะมีโอกาสได้เรียนสูงขึน
ต่างจากประเทศอเมริกา พ่อแม่ส่วนมากเห็นด้วยในการสนับสนุนให้ลูกใส่แว่นตา เนื่องจากเข้าใจว่าถ้าลูกไม่สามารถมองเห็นได้ดี เด็กๆจะไม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้ดี และถ้าเรียนรู้ไม่ดีก็จะไม่ได้งานที่ดีๆ ซึ่งการใส่แว่นจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในอนาคต
จึงเห็นได้ว่า “ครู” มีความสำคัญเพื่อช่วยในการคัดกรองความผิดปกติทางสายตาสำหรับเด็กเบื้องต้นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องเติบโตขึ้นในอนาคตและเป็นกำลังสำคัญของชาติ ซึ่งในอนาคตบ้านเราควรเร่งผลิต “นักทัศนมาตร” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อควบคุมมาตรฐานการตรวจคัดกรองสายตามาช่วยเติมเต็มองค์ประกอบของการบริการด้านสุขภาพตาและสาธารณสุข เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังในการช่วยรักษาสุขภาพตาของประชาชนในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพต่อไป
บรรณานุกรม :
1.เอกสารประกอบการขอกำหนดสาขาการประกอบโรคศิลปะใหม่สาขาทัศนมาตรศาสตร์โดยสมาคมนักทัศนมาตรศาสตร์ไทย คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และภาควิชาทัศนมาตรศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
2.สัมภาษณ์ พญ.วัฒนีย์ เย็นจิตร คณบดี อาจารย์ประเสริฐ ผดุงเกียรติสกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และ Dr. Christopher Rugaber ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต