logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“นักทัศนมาตร” คือใคร? สำคัญหรือไม่? กับสุขภาพตาของประชากรไทย!! (ตอนที่ 1)

“ทัศนมาตรศาสตร์” หลายท่านอาจไม่คุ้นชื่อนี้มาก่อน แท้จริงแล้วคือวิชาชีพแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการปฏิบัติงานทางด้านสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพ ในลักษณะหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Health Care – PHC) ทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสุขภาพสายตา ซึ่งในประเทศไทยเป็นวิชาชีพที่ใหม่และมีความสำคัญ เนื่องจากในประเทศไทย ผู้ดูแลด้านสุขภาพตามีจำนวนน้อย ได้แก่ 1) จักษุแพทย์รับผิดชอบด้านการตรวจรักษา ผ่าตัดตา และใช้แสงเลเซอร์ ปัจจุบันมีจำนวน 1,300 คน 2) พยาบาลเวชปฏิบัติทางตาจำนวน 472 คน ซึ่งช่วยจักษุแพทย์ในห้องตรวจผู้ป่วยนอกในห้องผ่าตัด และดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยในจักษุ นอกจากนี้พยาบาลเวชปฏิบัติทางตาบางท่านไปศึกษาต่อเป็นพยาบาลวัดแว่น และพยาบาลกล้ามเนื้อตา 3) ช่างแว่น ซึ่งมีจำนวน 10,000 คน (จากร้านแว่นตาในประเทศไทยจำนวน 6,000 ร้าน ไม่รวมร้านที่เป็น chain store) นอกจากจะฝนเลนส์เพื่อประกอบแว่นตาแล้ว ส่วนใหญ่จะวัดแว่นร่วมด้วย โดยถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษ และบางส่วนรับการอบรมระยะสั้นจากสมาคมแว่นตา

จึงเห็นได้ว่า ในประเทศไทย คำว่าทัศนมาตรยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก  เนื่องจากนักทัศนมาตรที่มีใบประกอบวิชาชีพมีจำนวนเพียง 110 คน ซึ่งนับว่าน้อย และส่วนใหญ่จะปฏิบัติงานในร้านแว่นของตนเองในกรุงเทพหรือปริมณฑล หรือบริษัทผลิตภัณฑ์แว่นและเล็นส์ ทำให้ประชาชนขาดโอกาสที่จะได้รับบริการจากนักทัศนมาตร โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่า ประชากร 6,000 – 10,000 คนจะต้องมีนักทัศนมาตรอย่างน้อย 1 คน ซึ่งประเทศไทยจึงควรมีนักทัศนมาตรอย่างน้อยที่สุด 6,500 คน และปัจจุบันยังขาดแคลนอย่างมาก จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าทำไมประเทศไทยจึงต้องมีนักทัศนมาตรเพิ่มขึ้น ในบทความนี้จะนำท่านไปทำความรู้จักกับนักทัศนมาตรว่ามีความสำคัญอย่างไรกับการช่วยดูแลสุขภาพสายตาของประชากรไทย

ทำความรู้จัก “นักทัศนมาตร” คือใครและทำอะไร?

นักทัศนมาตร (Optometrist) มีหน้าที่ตรวจวินิจฉัยและแก้ไขปัญหาของระบบการมองเห็น ด้วยวิธีการทางทัศนมาตรหรือใช้อุปกรณ์ เช่น กล้องโทรทัศน์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ช่วยในการตรวจวัดสายตา โดยมีหลักการทำงานแบ่งเป็นระบบการมองเห็นประกอบด้วย 3 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบหักเหของแสง (Refraction) 2.ระบบรับรู้ (Sensory) ซึ่งเป็นกระบวนการรับรู้ตั้งแต่สัญญาณภาพที่เกิดขึ้นในจอตาส่งไปถึงกระบวนการทางสมอง ซึ่งจะเกี่ยวข้องถึงระบบการเห็นภาพ 3 มิติ และ 3.ระบบกลไก (Motor) จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อตา การปรับโฟกัส การสัมพันธ์กับการทำงานของตาทั้ง 2 ข้าง ในการรักษาแนวของตาข้างซ้ายและขวาให้สอดคล้องกัน ซึ่งทั้ง 3 ระบบจะมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกันโดยการทำงานดีหรือไม่ดีนั้นจะขึ้นกับสุขภาพของดวงตาด้วย หน้าที่ของนักทัศนมาตรจะดูว่าสายตามีระบบหักเห การรับรู้ของการมองเห็น ระบบการปรับโฟกัส ระบบกล้ามเนื้อ นั้นมีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลไปถึงสมอง และต้องดูด้วยว่าความผิดปกติทั้งหมดนี้ไม่สัมพันธ์กับการมีโรคตา จึงต้องรู้ว่ามีโรคตา หรือโรคอื่นๆที่มีผลทางตา (เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง) หรือไม่ ถ้ามีโรคอยู่ก็ต้องส่งให้จักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป จึงเห็นได้ว่านักทัศนมาตรมีหน้าที่สำคัญและช่วยดูแลสุขภาพตาอย่างมากเป็นเสมือนด่านแรกในการช่วยคัดกรองความผิดปกติของตาและวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับสายตา

หน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่าง จักษุแพทย์ ทัศนมาตร และช่างตัดแว่น

จักษุแพทย์ (Ophthalmologist) มีหน้าที่ตรวจสายตา วัดสายตา วัดความดันตา ตรวจดูกระจกตา ความลึกของช่องหน้าลูกตา ลักษณะม่านตา ปฏิกริยาต่อแสงสว่าง ตรวจดูเลนส์ น้ำวุ้น จอประสาทตา และประสาทตาซึ่งเป็นส่วนที่ยื่นมาจากสมอง ตรวจรักษาโรคที่ดวงตา ด้วยวิธีการให้ยา ใช้แสงเลเซอร์ หรือผ่าตัด ติดตามผลการรักษาตา สั่งให้ทำแว่นตา สั่งขนาดของเลนซ์สำหรับประกอบแว่นตา ให้คำแนะนำในการฝึกสายตาตามความจำเป็นเพื่อรักษาสายตาและการมองเห็นให้ดีขึ้น

นักทัศนมาตร (Optometrist) ตรวจวัดสายตา ตรวจสอบวิเคราะห์โรคจากลักษณะอาการ และระบุการดูแลสายตาที่ถูกต้องให้ผู้ป่วย ตรวจวัดสายตาและเลือกเลนส์ที่เหมาะสม ตรวจเช็คลักษณะแว่นกับอาการป่วยสายตาว่าสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ แก้ไขและป้องกันความผิดปกติทางด้านสายตา ฟื้นฟูสภาพสายตา เช่นกลุ่มคนที่มีสายตาเลือนราง และการฝึกกล้ามเนื้อตา การตรวจประมวลผลระบบการเห็น การตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาโรคตา มีส่วนร่วมในการตรวจทางการแพทย์เพื่อติดตามผล รวมทั้งดูแลสุขภาพสายตาในสถานประกอบการ (Occupational eye health)

ช่างตัดแว่น (Optician) จะมีหน้าที่ตัดแว่นหรือเลนส์ ซึ่งอาจผ่านการฝึกอบรมการวัดสายตาและการตัดแว่นเบื้องต้นโดยใช้ระยะเวลาเพียงสั้นๆ ช่างตัดแว่นส่วนใหญ่อาศัยประสบการณ์ที่เคยมีมาเพื่อทำการวัดสายตาและตัดแว่น

ในต่างประเทศจะยอมรับว่าอาชีพทั้งสามมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เรียก จักษุแพทย์ ทัศนมาตร และช่างตัดแว่น ว่า “3 Os” ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางการรักษามากที่สุด

นักทัศนมาตร สำคัญในปัจจุบันอย่างไร

ความสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ คือปัจจุบันผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 5.7 ล้านคนในปีพ.ศ. 2543 จะเป็น 10.8 ล้านคนในปี พ.ศ. 2563 และผู้สูงอายุกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพดี มีผลผลิตต่อประเทศชาติได้ จึงจำเป็นต้องมีสายตาที่ดี ซึ่งต้องใช้บริการนักทัศนมาตร เพราะต้องมีการดูแลคัดกรองโรคตาเบื้องต้นร่วมด้วย นอกจากนี้ประชากรในวัยทำงาน ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยี ซึ่งต้องใช้สายตามาก และการศึกษาของเด็ก ก็ศึกษาบางส่วนจากระบบสารสนเทศ ที่มาจากนอกชั้นเรียน ซึ่งประชากรทั้งสองกลุ่มต้องการสายตาที่คมชัด และการป้องกันอันตรายต่อสายตาที่เหมาะสม

ความสำคัญในด้านประชาคมโลกเนื่องจากในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมปรับตัวและรับมือเกี่ยวกับวิชาชีพทัศนมาตรศาสตร์ เนื่องจากอาจมีนักทัศนมาตรต่างชาติเข้ามาดำเนินการทางด้านทัศนมาตรศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้ประเทศเสียโอกาสได้ ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจและให้ความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพทัศนมาตรให้ประชาชนทราบถึงหน้าที่และความสำคัญ พร้อมเร่งผลิตบุคคลาการด้านนี้เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ

การพิจารณาพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้มีนักทัศนมาตรประจำร้านแว่น

ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการเรื่องพระราชกฤษฎีกาประกอบวิชาชีพทัศนมาตร ที่จะประกาศให้สถานประกอบการที่วัดสายตาและประกอบแว่น เลนส์สัมผัส รวมทั้งเครื่องช่วยการมองเห็นต้องมีนักทัศนมาตรประจำ ซึ่งร้านตัดแว่นส่วนมากเริ่มมีความกังวลว่าจะกระทบกับธุรกิจหลังมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา บางร้านให้ความสนใจส่งลูกเข้ามาเรียนในหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์แล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับร้านแว่นบางร้านกลับไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เนื่องจากกลัวว่าจะเสียผลประโยชน์ในการขยายธุรกิจหากต้องรอนักทัศนมาตรประจำร้าน ขณะที่ในอนาคตช่างตัดแว่นต้องผ่านการฝึกอบรมและทดสอบพร้อมวัดระดับการตรวจวัดสายตากับนักทัศนมาตรก่อน จึงจะอนุญาตให้คนกลุ่มนี้ดำเนินกิจการต่อ และจะไม่มีช่างแว่นรุ่นใหม่มาวัดสายตาอีกต่อไป แต่จะเป็นการสร้างนักทัศนมาตรที่มีมาตรฐานเพื่อมาดูแลทางสุขภาพตาและสายตาของประชาชน

โครงการตรวจตาเด็ก เพื่ออนาคตไทย

เนื่องจากปัญหาการขาดระบบการคัดกรองและตรวจรักษาความผิดปกติทางสายตาในเด็ก ที่เป็นการดำเนินการระดับชาติ จึงเกิดโครงการตรวจตาเด็ก เพื่ออนาคตไทย โดย HITAP ทำงานร่วมกับ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อพัฒนารูปแบบการคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กอนุบาลและประถมศึกษาซึ่งเด็กอายุ 3-12 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อพัฒนาการทางสายตา หากไม่ได้รับการแก้ไข เสี่ยงต่อการพิการทางสายตาถาวร จากโครงการนำร่อง (pilot project) พบว่าการให้ครูประจำชั้นช่วยคัดกรองสายตาเบื้องต้น และส่งต่อให้จักษุแพทย์ด้านโรคตาของเด็กตรวจซ้ำเพื่อยืนยันการไม่มีโรคตา และเด็กที่มีสายตาผิดปกติจะได้รับแว่นสายตาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พบว่าโครงการนี้ในด้านค่าใช้จ่ายเป็นไปได้ในประเทศไทย เพราะเป็นระบบที่ใช้งบประมาณไม่สูงแต่สามารถแก้ปัญหาสายตาในเด็กเบื้องต้นได้ แต่เนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนหมอตาที่รักษาโรคตาในเด็กไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในภูมิภาค โครงการดังกล่าวจึงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้เป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งหากต้องการปูทางให้โครงการดังกล่าวสำเร็จแบบยั่งยืน ควรมีนักทัศนมาตรเข้ามาช่วยซับพอตโดยการจัดฝึกอบรบเพื่อให้ความรู้คุณครูเบื้องต้นเพื่อการคัดกรองที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ท่านผู้อ่านทราบแล้วใช่ไหมว่านักทัศนมาตรไม่เพียงแต่ช่วยดูแลสุขภาพสายตาของคนไทยเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญอีกมากมายสำหรับประชาชนในอนาคต ซึ่งในบทความตอนหน้า เราจะเล่าถึงประเด็นเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยขาดแคลนนักทัศนมาตร เมื่อต้องตัดแว่นจะประสบปัญหาอะไรบ้าง และระบบการตรวจคัดกรองสายตาเด็กในบ้านเราเปรียบเทียบกับระบบในต่างประเทศมีความแตกต่างกันมากน้อยเท่าใด อย่าลืมติดตามอ่านในตอนหน้าค่ะ

บรรณานุกรม :
1.เอกสารประกอบการขอกำหนดสาขาการประกอบโรคศิลปะใหม่สาขาทัศนมาตรศาสตร์โดยสมาคมนักทัศนมาตรศาสตร์ไทย คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และภาควิชาทัศนมาตรศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
2.สัมภาษณ์ พญ.วัฒนีย์ เย็นจิตร คณบดี อาจารย์ประเสริฐ ผดุงเกียรติสกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และ Dr. Christopher Rugaber ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

28 ตุลาคม 2558

Next post > หยิบข่าวมาเล่า: หยุดความเสี่ยง!! “โรคดาวน์ซินโดรม” HITAP แนะตรวจคัดกรองและวินิจฉัยก่อนคลอด

< Previous post หยิบข่าวมาเล่า: “มะเร็งปากมดลูก” คร่าชีวิตพุ่งเหตุตรวจคัดกรองต่ำ HITAP เผยงานวิจัยชี้คัดกรองด้วย VIA ร่วมกับ pap smear ที่อายุ 30 ปีขึ้นไปมีความคุ้มค่ามากที่สุด

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ