logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
การคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องสำอาง…มองมุมกว้างที่มากกว่าผิวขาวใส

ใกล้เข้ามาทุกขณะ..กับอีกหนึ่งบทบาทของประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่การเปิดการค้าเสรีในภูมิภาคอาเซียน หรือ AEC ขณะที่ประเทศไทยยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอยู่ ซึ่งสวนกระแสกับความต้องการใช้เครื่องสำอางของผู้บริโภคในบ้านเราอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสาวน้อย-สาวใหญ่ก็ต้องการสวยใสกันถ้วนหน้า หากมีการโฆษณาเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี ญี่ปุ่น หรือประเทศไหนๆ ที่มีสรรพคุณ “ใช้แล้ว ผิวขาว สาว สวย ใส หน้าวีเชฟ” ทุกคนต่างกรูเข้าไปหาซื้อสินค้าเหมือนแจกฟรี ดังนั้น เมื่อเครื่องสำอางกลายเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับผู้บริโภคแล้ว การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจึงจำเป็นต้องได้รับการควบคุมอย่างจริงจัง

แม้ว่าหน่วยงานหลายภาคส่วนจะเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่คำถามคือ การกำกับดูแลการนำเข้าเครื่องสำอางมีประสิทธิภาพเพียงพอแล้วหรือ ?

จากผลการศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง พบว่า ในประเทศไทยได้เริ่มปรับเปลี่ยนการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับระบบของอาเซียนมากขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนเฉพาะเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ปรับเปลี่ยนให้เป็นเพียงการจดแจ้งเครื่องสำอางทุกชนิดแทน และเน้นไปกำกับดูแล “สารประกอบ” ที่ใช้ในเครื่องสำอางมากขึ้น จึงมีผลให้มีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเข้ามาจดแจ้งมากกว่า 300,000 รายการ ซึ่งอาจเป็นภาระหน้าที่ในการกำกับดูแลของ อย. ที่ต้องตรวจสอบและเฝ้าระวังสินค้าเหล่านี้ในตลาดว่ามีการปลอมปน “สารประกอบต้องห้าม” ที่เป็นอันตราย

จากตัวอย่างดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเกี่ยวกับเครื่องสำอาง แต่ปัญหาที่ท้าทายกว่าเรื่องนี้คือ “เครื่องสำอางเถื่อน” ซึ่งเกิดจากการวางขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย มีการผลิตโดยใช้สารเคมีอันตรายเป็นส่วนประกอบ และไม่ได้มีการจดแจ้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย

อนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเสนอความเห็นในโครงการ “อนาคต อย. อนาคตผู้บริโภคไทย” เสนอให้แก้ไข พรบ. เครื่องสำอางให้ครอบคลุมถึงเรื่อง GMP (good manufacturing practice) เพื่อป้องกันปัญหาการผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันในบ้านเราจะมีใบอนุญาต GMP หรือไม่มีก็ได้ รวมทั้งให้พัฒนาเรื่องการประสานการทำงานระหว่าง กสทช. และ อย. เพื่อควบคุมดูแลการโฆษณาเครื่องสำอางที่มากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงข้อมูลผู้กระทำผิดกฏหมายการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อทำให้ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมี “ประเด็นท้าทายในอนาคต” ที่หลายฝ่ายอาจต้องร่วมกันคิด เช่น การคุ้มครองสัตว์ทดลอง และการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยี ซึ่งการกำกับดูแลภายใต้ระบบของอาเซียนเองยังมิได้คำนึงถึงประเด็นเหล่านี้

นี่เป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญ ที่ร่วมนำเสนอ ปัญหาเรื่องการกำกับดูแลเครื่องสำอางที่น่าเป็นห่วงในอนาคต พร้อมเสนอการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง เห็นได้ชัดว่า เรื่องการดูแลเครื่องสำอางเพียงอย่างเดียวก็มีประเด็นที่ต้องมอง/ต้องวางแผนที่มากกว่าแค่ปัญหา “ครีมหน้าขาว หน้าเรียว” … ความเห็นของคุณในฐานะคนหนึ่งที่ร่วมวางระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพไทย จะช่วยเติมเต็มภาพอนาคต อย. ความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพียงร่วมแสดงความคิดเห็นมาที่ [email protected]

25 กันยายน 2558

Next post > หยิบข่าวมาเล่า: “มะเร็งปากมดลูก” คร่าชีวิตพุ่งเหตุตรวจคัดกรองต่ำ HITAP เผยงานวิจัยชี้คัดกรองด้วย VIA ร่วมกับ pap smear ที่อายุ 30 ปีขึ้นไปมีความคุ้มค่ามากที่สุด

< Previous post ปัญหาการจัดซื้อ “บอลลูนและขดลวด” สำหรับขยายหลอดเลือดหัวใจตีบในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ