มองอดีต สู่อนาคต อย. อนาคตผู้บริโภคไทย
โครงการวิจัย “อนาคต อย. อนาคตผู้บริโภคไทย” ได้ศึกษาข้อมูลระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือ คบส. ในอดีต เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการมองอนาคตของ คบส.ไทย วันนี้มีข้อมูลดีๆ มาฝากเช่นเคยครับ
ย้อนไปในช่วงก่อนส่งครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี 2470 มีการใช้หางนมเลี้ยงเด็กทารกแทน “นมแม่” กันอย่างแพร่หลาย ทารกที่ดื่มหางนมเป็นประจำจะขาดโปรตีนและพลังงาน กลายเป็น “โรคขาดสารอาหาร” จึงได้เกิดกฎหมายควบคุมอาหารฉบับแรกขึ้น คือ พระราชบัญญัติหางนมเพื่อป้องกันผลเสียด้านสุขภาพจากการใช้หางนมเลี้ยงทารก หลังจากนั้นงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทยได้พัฒนามากขึ้น มีหน่วยงานหลายส่วนเข้ามาร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเข้าร่วมกลุ่มเขตเศรษฐกิจต่างๆ ส่งผลต่อการจัดการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปิดให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดมากขึ้น ทำให้ ในช่วงระหว่างปี 2550-2555 มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว
ตอนนี้ มีสินค้าและบริการในกลุ่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เพื่อตอบสนองสังคมผู้สูงอายุไทยมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร หรือเครื่องสำอางชะลอความแก่ ต่าง ๆ อนาคตเราอาจพบอาหารประเภทที่มีคุณสมบัติเป็นยามากขึ้น เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีคุณสมบัติเพื่อต้านมะเร็ง ต้านเบาหวาน ต้านโรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งต้าน อัลไซเมอร์ แต่ก็ยังไม่มีระบบพิสูจน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอ
นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาโรคที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม เช่น การรักษาด้วย Stem Cell, Nano Technology และ Personalized Medicine หรือการแพทย์ส่วนบุคคล ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเทศไทยเองยังไม่มีหน่วยงานที่ศึกษาถึงผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้อย่างจริงจัง
อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ โฆษณาชวนเชื่อทางอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย เช่น ยาลด น้ำหนัก ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ยาหน้าท้องยุบ ยาหน้าเรียว ผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผิวขาว ต่าง ๆ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหลักของรัฐที่ดูแลเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีหน้าที่ตั้งแต่ การออกใบอนุญาต กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนออกวางจำหน่าย และหลังออก จำหน่าย เฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพสินค้าและสถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย รวมไปถึง สร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค สร้างเครือข่าย และพัฒนางานด้านวิชาการ ซึ่ง กิจกรรมทั้งหมดนี้ ทำโดย อย. ที่มีกำลังเจ้าหน้าที่ไม่ถึงพันคน และมีงบประมาณจำกัดเกิดคำถามที่ว่า อย. พร้อมหรือยังที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้บริโภค ผู้ประกอบการธุรกิจ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะมีการปรับตัว และวางระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศอย่างไร
ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องช่วยกัน ร่างภาพอนาคตระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของไทยที่อยากเห็นเพียงส่งความคิดเห็นของท่านมาที่ [email protected] คุณเป็นคนหนึ่งที่จะร่วมตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุดครับ เพราะ “คุณ” คือกำลังสำคัญ ในการร่วมสร้างอนาคตระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพไทย
******************************************************************************************************************
ช่องทางการร่วมกิจกรรม
เพียงตอบคำถามเหล่านี้
1. บทบาทหรือภาระงาน อะไรที่ อย. ควรทำต่อ/ทำเพิ่ม พร้อมเหตุผล
2. บทบาทหรือภาระงาน อะไรที่ อย. ควรลดบทบาทลง พร้อมเหตุผล
มายังช่องท่างเหล่านี้
1. ร่วมกิจกรรม ระดมสมอง มองอนาคต อย. อนาคตผู้บริโภคไทย วันที่ 2-4 กันยายน 2558 ที่ อาคาร 4 ชั้น 1 สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา
2. ส่งความเห็นของคุณมาที่ www.facebook.com/events/839729679456050/ ระหว่างวันที่ 1 – 25 กันยายน 2558
3. ส่งความเห็นของคุณมาที่ [email protected] ระหว่างวันที่ 1 – 25 กันยายน 2558
4. ส่งความเห็นผ่าน Line Group FutureFDA ผ่าน QR code นี้