หยิบข่าวมาเล่า: ผลวิจัยสหรัฐฯ เผยตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมไม่ทำให้ปริมาณผู้เสียชีวิตลดลง สอดคล้องผลวิจัย HITAP เผยไม่มีความคุ้มค่า ควรระบุกลุ่มเสี่ยงจึงคัดกรองเฉพาะกลุ่ม
วันนี้ (15 ก.ค.58) หนังสือพิมพ์มติชนหยิบข่าวงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและดาร์ทมัธ ที่ สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยชิ้นใหม่ในวารสาร จามาอินเตอร์นัล เมดิซีน ว่า ข้อมูลของผู้ป่วยมะเร็งทั่วสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม พบว่า ยิ่งมีการใช้วิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น ยิ่งค้นพบมะเร็งเต้านมเพิ่มมากเท่าไร แต่กลับไม่ได้ทำให้ปริมาณผู้เสียชีวิตจากโรงมะเร็งเต้านมลดลงแต่อย่างใด โดยข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งในเคาน์ตี้ (ชุมนุม) ต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา รวม 574 เคาน์ตี้ ซึ่งมีข้อมูลสตรีอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมระหว่างปี 1998-2000 จากจำนวนสตรีมากกว่า 16 ล้านคน มีผู้ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม 53,207 รายในปี 2000 หลังจากนั้นได้ติดตามตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่องไปอีก 10 ปี พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมไป 15 เปอร์เซ็นต์ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตไปเพราะสาเหตุอื่น ขณะที่สัดส่วนของสตรีที่เข้ารับการคัดกรองด้วยแมมโมแกรมแตกต่างกันออกไป แต่กลับไม่พบความสัมพันธ์ในเชิงสถิติระหว่างการคัดกรองด้วยแมมโมแกรมในปริมาณสูง กับอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด
HITAP เองกำลังทำการศึกษา “การพัฒนานโยบายการคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย” พบว่าแม้การใช้แมมโมแกรมในการคัดกรองมะเร็งเต้านม จะเป็นวิธีที่เที่ยงตรงและใช้ตรวจหาความผิดปกติได้ดีที่สุด แต่ยังไม่ใช้วิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย หากจะใช้ตรวจคัดกรองในระดับประชากร โดยพบว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเมมโมแกรม 1 ครั้งในชีวิต ของผู้หญิงทั้งที่อายุ 40-49 ปี และ 50-59 ปี ไม่มีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับไม่มีการคัดกรอง ซึ่งผลวิจัยเสนอให้หาแนวทางในการระบุกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จากนั้นจึงค่อยคัดกรองด้วยแมมโมเกรมเฉพาะกลุ่ม ซึ่งขณะนี้ HITAP กำลังดำเนินการวิจัยเพื่อสร้าง Clinical prediction score ของมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์เชิงนโยบายเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมสำหรับผู้หญิงไทย
ติดตาม อ่านผลการวิจัยได้ที่ https://www.hitap.net/research/17542