logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ตามติดนักวิจัยไขปัญหาอนามัยเด็ก

ทีมสื่อสารองค์กรได้มีโอกาสติดตามนักวิจัยในโครงการประเมินบริการอนามัยโรงเรียนระดับประถมศึกษา ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาอนามัยของเด็กๆ กันครับ เราได้ลงพื้นที่ร่วมกับทีมวิจัย 4 ท่าน คือ ดร.ภญ.นัยนา ประดิษฐ์สิทธิกร หรือพี่เปิ้ล น้องดนัย ชินคำ ผู้ช่วยวิจัย ภญ.นิธิเจน กิตติรัชกุล (พี่อัน) ผู้ช่วยวิจัย และ น้องนุ่น ผู้ช่วยวิจัย ซึ่งมาอยู่ในพื้นที่ร่วม 1 เดือนในแต่ละวันทีมวิจัยต้องไปสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลที่โรงเรียนต่างๆ มีตั้งแต่โรงเรียนขนาดเล็ก กลาง จนถึงโรงเรียนขนาดใหญ่ ไม่เฉพาะบุคลากรในโรงเรียนเท่านั้น เราได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลด้านอนามัยของเด็กๆด้วย การเดินทางในทุกๆวันสมบุกสมบันไม่ใช่น้อยเพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ค่อนข้างไกลจากตัวเมืองและเข้าไปลึกทีเดียว ถนนหนทางบางแห่งยังเป็นดินแดงๆ คดเคี้ยว และข้างทางเป็นป่าซะส่วนใหญ่ จนตัวผู้เขียนแซวกับพี่คนขับรถว่าห้ามรถเสียแถวนี้เป็นอันขาด ความเป็นอยู่ของเด็กๆที่นี่ก็เรียบง่ายขี่จักรยานมาเรียนเพราะใกล้บ้าน มีโอกาสได้แอบดูตอนเด็กๆ กินข้าวเที่ยงพอดี ก็เห็นความน่ารักของพวกเค้าคือ เค้าจะนำข้าวมาทานโดยพร้อมเพรียงกัน ก่อนทานมีการสวดมนต์ด้วยล่ะครับ ไม่รู้โรงเรียนใน กทม ยังมีแบบนี้อยู่มั้ย แต่ที่นี่มีและเหมือนกันทุกโรงเรียนด้วย อาหารที่ทางโรงเรียนจัดให้ในแต่ละวันก็แตกต่างกันไปสลับเมนูเส้น เมนูผัด แต่ที่เห็นได้ชัดคือเด็กไม่ชอบกินผัก ผักเหลือเพียบเลย เราได้แอบไปสำรวจห้องน้ำของเด็กๆ พบว่าห้องน้ำของบางโรงเรียนจัดได้ตามหลักสุขอนามัยของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ แต่บางที่ก็ยังมีจุดที่ต้องปรับเพื่อความปลอดภัยและอนามัยของเด็กๆ ครับ

เมื่อมาลงพื้นที่กับนักวิจัยแล้วจะไม่พูดถึงพวกเค้าก็กระไรอยู่ผมเลยได้ขอเวลานักวิจัยเล็กน้อยเพื่อพูดคุยกับเราบอกเล่าถึงการทำงานให้เราฟังครับ

ทีมสื่อสาร: ขั้นตอนการทำงานเมื่อลงพื้นที่ทำอะไรบ้างแบ่งหน้าที่อย่างไรและเจอปัญหาอะไรบ้าง

ดนัย: ผมมีหน้าที่ในการวางแผนการดำเนินการและประสานงานในการลงพื้นที่ครับ ในทีมหลักๆแล้วมีลงกันมา 3 คน มี ตัวดนัย พี่อัน น้องนุ่น และ พี่เปิ้ลที่มาดูขั้นตอนการทำงานภาพรวมของพวกเรา การประสานงานต่างๆนั้นมีหลายอย่างเช่น การติดต่อที่พัก การเช่ารถเพื่อการเดินทาง รวมทั้งการประสานงานกับคนในพื้นที่ ส่วนปัญหาที่เจอนั้นมีมาให้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา เช่นบางที่แผนที่เราเตรียมมานั้นมานั้นไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้นเราก็จะต้องปรับแผนให้เข้ากับพื้นที่และสถานการณ์ แต่พื้นที่ที่เรามาลงนั้นประสานงานค่อนข้างง่าย ให้ความร่วมมือและต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี

พี่อัน: พี่เริ่มตั้งแต่การสุ่มกลุ่มตัวอย่างหรือว่าเลือกโรงเรียนร่วมกับพี่เปิ้ล แต่พอเวลาลงพื้นที่จริงๆ มันก็มีอุปสรรค เช่น ไม่สามารถติดต่อกลุ่มตัวอย่างได้ ดังนั้นก็ต้องมาแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า อีกเรื่องนึงที่พี่ดูด้วยก็คือเรื่องการเงิน จะต้องจัดการให้ดีๆก็นับเงินทุกวัน (หัวเราะ) งบไม่ดุลเราก็จะนอนไม่หลับ ต้องมาดูว่ามันหายไปไหน

น้องนุ่น: หน้าที่ของนุ่นคือทำงานด้านเอกสารทั้งหมด เนื่องจากเพิ่งเข้ามาทำงานได้ 3 วันและลงพื้นที่เลย และเอกสารก็เยอะมาก บางทีก็มีตกหล่นไปบ้างก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปโดยมีพี่ๆคอยช่วยเหลือ

ทีมสื่อสาร: ในการลงเก็บข้อมูลภาคสนาม ต้องทำอย่างไรจึงจะราบรื่นและได้ข้อมูลที่ดี

ดนัย: เริ่มต้นเลยก็คือเราต้องมีการประสานงานที่ดีเพราะการเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอด ดังนั้นการสื่อสารกันเป็นเรื่องที่สำคัญมากไม่ใช่มาอย่างเดียวแล้วให้เค้าทำให้เรา แต่จริงๆแล้วเค้าไม่ได้มีหน้าที่ดูแลเราคนเดียวแต่เค้ายังมีหน้าที่หลักของเค้าอยู่ดังนั้นบางทีเราต้องเผื่อใจไว้บ้างเพราะการลงพื้นที่ทุกอย่างมันไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์

พี่เปิ้ล: ลงพื้นที่แล้วให้ประสบความสำเร็จ หนึ่งคือเรื่องของการประสานงานต้องยอมรับว่าน้องที่ทำหน้าที่ประสานงาน คุยกับพื้นที่ได้ดี จัดตารางลงพื้นที่ค่อนข้างดี อีกประการนึงคือที่เค้าให้ความร่วมมือกับเราดีเพราะเรามาในฐานะขอความช่วยเหลือจากเขา เรามาเป็นทีมวิจัยมีความนอบน้อมถ่อมตน และเราชี้แจงวัตถุประสงค์ เราไม่ได้ต้องการที่จะมาทำลายใคร แต่ก็มีหลายๆท่านก็กล้าที่จะให้ความจริงกับเรา กล้าที่จะพูดว่าสิ่งที่เค้าทำมันไม่ได้สมบูรณ์ที่เป็นไปตามในรายงานที่พวกเราเคยเห็น และเค้าได้พูดในสิ่งที่อัดอั้นตันใจจากการทำงานมานานมาก

ทีมสื่อสาร: ในเรื่องของงานวิจัยโครงการอนามัยโรงเรียน ก่อนลงพื้นที่เก็บข้อมูลมีความคาดหวังว่าจะเจออะไรและเมื่อมาลงพื้นที่แล้วมีอะไรแตกต่างไปจากสิ่งที่เราคิดไว้หรือไม่

ดนัย: เยอะมากเลยครับ เวลาเรามองแบบนักวิชาการเราก็จะมองว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เพราะว่าเราทบทวนข้อมูลเรื่องระบบต่างๆมา แต่พอลงมาจริงๆแล้วมันไม่เจอในสิ่งที่เราคิดไว้

พี่เปิ้ล: พี่ขอเสริมว่าก่อนที่จะมาลงพื้นที่ทีมวิจัยก็ต้องต้องมีการทบทวนข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นรายงานที่ออกโดยหน่วยงานต่างๆ โดยกระทรวง เรารู้ความเป็นมาเป็นไปและกระบวนการทำงานในพื้นที่พอสมควรก่อนที่จะลงมาในพื้นที่จริง แต่พอมาลงพื้นที่จริง เรารู้ว่าในทางปฏิบัติมีหลายอย่างที่ไม่ได้ถูกพูดหรือไม่ได้รายงานเอาไว้ในกระดาษ ซึ่งข้อมูลพวกนี้บางส่วนก็คือความจริงที่อยากจะปกปิด

ทีมสื่อสาร: มาลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ มีเรื่องน่าประทับใจอะไรบ้าง

ดนัย: มีหลายเรื่องเลยครับ เรื่องแรกคือ เนื่องจากผมเป็นคนคุ้นเคยในพื้นที่เหมือนกัน ซึ่งโลกกลมมากคนที่อยู่จังหวัดเดียวกันกับผมบางคนรู้จักของพ่อแม่ของผมด้วย เด็กๆนักเรียนในโรงเรียนเวลาเรามาก็จะเกาะระเบียงดูโผล่มาดูว่าใครมา ได้เห็นหลายๆอย่างทั้งเรื่องความมีระเบียบวินัยของนักเรียนตามชนบทและในเมืองมีความแตกต่างกัน ซึ่งเด็กชนบทจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตัว และเด็กบางคนจะกลัวพวกเราคิดว่าพวกเราจะไปฉีดยาเค้าก็จะร้องไห้

พี่เปิ้ล: พอเราได้คุยกับผู้ปกครอง คุณครูทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่เด็กจะเติบโตขึ้นไปเป็นคนดีมีสติปัญญาดีพร้อมสมบูรณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับที่โรงเรียน หรือการที่เด็กจะมีสุขภาพดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณหมอเท่านั้นคือทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กต้องทำงานด้วยกัน แต่บางทีก็จะมีอุปสรรคซึ่งถ้าผู้ใหญ่ที่รักเด็กจริงๆมานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไรประโยชน์เหล่านั้นก็จะตกไปอยู่ที่เด็กจริงๆ ซึ่งคิดว่าก็น่าจะแก้ปัญหาได้

พี่อัน: สิ่งที่พี่สัมผัสได้อยู่ตลอดคือคนในพื้นที่เป็นคนใจดีมีน้ำใจ ใช้ชีวิตเรียบง่าย อยู่ที่นี่แล้วมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องต่างๆรอบตัวมากขึ้น อีกอย่างนึงที่ชอบมากคือการสัมภาษณ์เด็กการที่จะคุยให้เข้าใจกันได้ภาษาเดียวกันที่จะคุยและการที่จะทำให้เค้าเปิดใจเป็นเรื่องท้าทายอย่างนึงเหมือนกัน

ทีมสื่อสาร: นอกเหนือจากการทำงานวิจัยทำอะไรกันบ้าง

ดนัย: ก็มีออกกำลังกายตอนเย็นครับ และก็กินอย่างรุนแรงครับ

พี่อัน: สิ่งที่คิดตลอดหลังจากทำวิจัยคือ ฉันจะซักผ้าได้ที่ไหน และจะตากที่ไหน เนื่องจากเรามาอยู่นานและของที่เอามาได้ก็จำกัด

น้องนุ่น: ส่วนใหญ่หาเวลางีบและหาของกินที่อร่อยค่ะ

นี่บทสัมภาษณ์เล็กๆน้อยที่ทีมสื่อสารองค์กรได้มีโอกาส สัมผัสและใกล้ชิดการทำงานของทีมนักวิจัย HITAP ที่ทุ่มเทอย่างสุดพลังที่แก้ไขปัญหาให้เด็กๆได้มีสุขภาพที่ดีจากงานวิจัยชิ้นนี้ครับ ท่านผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการประเมินบริการอนามัยโรงเรียนระดับประถมศึกษาได้ที่  https://www.hitap.net/research/82165

 

 

9 กรกฎาคม 2558

Next post > หยิบข่าวมาเล่า: ผลวิจัยสหรัฐฯ เผยตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมไม่ทำให้ปริมาณผู้เสียชีวิตลดลง สอดคล้องผลวิจัย HITAP เผยไม่มีความคุ้มค่า ควรระบุกลุ่มเสี่ยงจึงคัดกรองเฉพาะกลุ่ม

< Previous post โซฟอสบูเวียร์ (sofosbuvir) ตัวยาสำคัญในการรักษาไวรัสตับอักเสบซีสูตรใหม่

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ