logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ก๊อก ๆ ๆ มาตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากถึงบ้านค่ะ

ในอนาคตมะเร็งช่องปากอาจจะหมดไปจากคนไทยด้วยโปรแกรมเช็คความเสี่ยงและคัดกรองรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งช่องปาก ที่จะให้บริการประชาชนถึงบ้านเป็นประจำทุกปี เพื่อให้คนไทยเข้ารับการรักษามะเร็งช่องปากได้อย่างทันท่วงที

มะเร็งช่องปาก เลวร้ายกว่าที่คิด
มะเร็งช่องปาก (oral cancer) เป็นมะเร็งที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นอันมาก เพราะนอกจากก้อนเนื้อมะเร็งที่ทำให้ผู้ป่วยทานอาหาร หรือพูดคุยลำบากแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีความเจ็บปวดในช่องปากจนทำให้ทานอาหาร หรือพูดไม่ได้เลย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นบางรายอาจเสียโฉมจากการผ่าตัดตกแต่งช่องปากจากโรคร้ายจนไม่อยากเข้าสังคม

ที่น่าตกใจกว่านั้น คนเป็นมะเร็งช่องปากมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า คนเป็นมะเร็งเต้านมถึง 3 เท่า (1)

นอกจากนี้ผู้ป่วยจำนวนมากถึง 70 % (2) มักมาพบแพทย์เมื่อเป็นมะเร็งช่องปากระยะที่ 4 แล้ว ซึ่งเป็นระยะที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงที่สุด (3)  และมีโอกาสรอดชีวิตต่ำมาก

จะดีไหม ถ้าจัดโปรแกรมตรวจให้ถึงบ้าน
อย่างไรก็ดี โรคมะเร็งช่องปากสามารถตรวจพบได้ไม่ยาก ทันตแพทย์ ทันตาภิบาล (เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกี่ยวกับงานสุขภาพฟัน ทำงานเชิงป้องกันและส่งเสริมในชุมชน เช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล) หรือตัวประชาชนเอง สามารถใช้ตาเปล่าตรวจหารอยโรคได้ (visual examination) ซึ่งโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นรอยฝ้าขาว  (white lesion) และ รอยฝ้าแดง (red patch) ดังนั้นจึงมีความพยามในการค้นหาวิธีการที่จะให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจหารอยโรคมะเร็งช่องปาก เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยการจัดโปรแกรมตรวจเช็คความเสี่ยงและค้นหารอยโรค โดยอาศัยความร่วมมือของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทันตาภิบาล และทันตแพทย์ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดกรองมะเร็งช่องปากและส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เท่ากับว่าต่อไปในอนาคตอาจจะมีคนไปเช็คความเสี่ยงและตรวจสุขภาพช่องปากให้ประชาชนถึงบ้าน

โดยทั่วไปประชาชนจะไม่มีทางทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก หรือมีรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งช่องปากหรือไม่ จนกว่าจะมีอาการเจ็บปวดจนทนไม่ไหวจึงไปพบแพทย์ และก็พบว่าตนเองได้เป็นมะเร็งช่องปากไปเสียแล้ว

ใครคือกลุ่มเสี่ยง

สำหรับกลุ่มเสี่ยงเป็นมะเร็งช่องปาก คือผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าและเคี้ยวหมาก

โครงการวิจัย การคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปาก เป็นโครงการซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อย 2 โครงการ คือ การศึกษาความเป็นไปได้ของมาตรการตรวจคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปากในชุมชน และการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของโปรแกรมคัดกรองดังกล่าว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง แผนงานวิชาชีพทันตแพทย์เพื่อการดำเนินงานควบคุมยาสูบ สสส. สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย และ HITAP โครงการนี้จะทำการค้นหา วิธีการคัดกรองและระบบริการที่มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่า เพื่อเสนอเป็น national program ต่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

หากผลวิจัยประสบความสำเร็จก็น่าจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งช่องปากไปได้มาก
ติดตามงานวิจัยได้ที่ https://www.hitap.net/research/82424

 

(1) จากการศึกษาอัตรารอดชีพในระยะเวลา 5 ปี (Five-year survival rate) มะเร็งช่องปากมีอัตราการรอดชีวิตน้อยกว่ามะเร็งเต้านม คือ 18.2%[1] และ 63% ตามลำดับ อ้างอิง Breast cancer: five-year survival in Srinagarind Hospital, Thailand : Aphinives P. et al.

(2) ทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล พ.ศ. 2555: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, กรมการแพทย์

(3) ค่าใช้จ่ายรักษาผู้ป่วยมะเร็งช่องปากในประเทศไทย: ร.ศ. ทพ.วรนัติ วีระประดิษฐ์ คณะทันตแพทย์ศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล

21 พฤษภาคม 2558

Next post > โซฟอสบูเวียร์ (sofosbuvir) ตัวยาสำคัญในการรักษาไวรัสตับอักเสบซีสูตรใหม่

< Previous post มองต่างมุม...ต่างมุมมอง...HTA คืออะไร

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ