logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
มองต่างมุม…ต่างมุมมอง…HTA คืออะไร

คุณเคยเกิดคำถามแบบนี้ไหม?

จำเป็นไหมที่เราที่เราต้อง X-ray ปอด ตรวจเลือดและปัสสาวะ ก่อนการผ่าตัดทุกครั้ง

มียาใหม่ ราคาแพงและใช้ได้ผลดี เราควรนำยานั้นเข้ามาในบัญชียาหลักของโรงพยาบาลหรือไม่

โรงพยาบาลแถวบ้านเราควรมีเครื่อง MRI ใหม่หรือไม่

HTA…เครื่องมือที่จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้

HTA ย่อมาจาก Health Technology Assessment หรือ การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ หมายถึง การวิเคราะห์ วิจัยอย่างเป็นระบบว่า ยา เครื่องมือแพทย์ วัคซีน หรือวิธีการรักษานั้น ๆ ใช้ได้ผลจริงหรือไม่ ใช้แล้วปลอดภัยไหม มีผลกระทบด้านงบประมาณเพียงใด คุ้มกับเงินที่รัฐลงทุนไปหรือไม่ ใช้แล้วเกิดปัญหาสังคม/จริยธรรมหรือไม่ รวมทั้งดูความเป็นไปได้ที่ประเทศจะนำเทคโนโลยีด้านสุขภาพนั้นมาใช้

 

แล้วผู้เกี่ยวข้องในระบบสุขภาพต่าง  ๆ มีมุมมองต่อ  HTA อย่างไร?

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปรียบ HTA ว่า

“สมมติว่าผมเป็นนักรบ HTA เปรียบเหมือนเป็นอาวุธประจำกายชิ้นหนึ่ง แต่ผมมีอาวุธประจำกายอื่น ๆ อีก ผมไม่ได้หยิบแต่ HTA มาใช้ ถึงเวลาผมอาจจะหยิบ HTA พร้อม 2-3 อาวุธมาสู้กัน”

พญ.ขวัญใจ วงศกิตติรักษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานจักษุวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มอง HTA ว่า

“HTA เปรียบเหมือนกับ แว่น 4 มิติ ที่ช่วยให้เรามองได้ทั้งด้านกว้าง ยาวและด้านลึก เช่นเดียวกันกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ด้านทั้งต่อสังคม ต่อครอบครัว และต่อประเทศชาติ”

นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภาคประชาชน เปรียบ HTA ว่า 

“HTA เปรียบเหมือน มีดพับสวิส เพราะเป็นเครื่องมือที่มีความคล่องตัว มีความอเนกประสงค์ ประเมินได้หลายมิติ จัดการปัญหาได้หลายมุม เพราะเป้าหมายคือ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ”

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปรียบ HTA ว่า

“HTA เปรียบเหมือนกระจก ถ้านำมาเคลือบปรอทสักด้าน ก็กลายเป็นกระจกทำ ให้ส่องมองเห็นตัวเองอย่างชัดเจน ถ้ามาใช้เป็นกระจกข้างรถก็ทำให้มองเห็นได้ทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังทำให้ตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ”

ภญ. บุษกร เลิศวัฒนสิวลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA หรือ พรีม่า) นิยาม HTA ว่า

“HTA เปรียบเหมือนกล้องถ่ายรูป 360 องศาเพราะเป็นเครื่องมือที่ให้มุมมองได้ทั่วถึง เก็บทุกมุมมองพร้อมกัน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดสมดุลนี่คือความท้าทาย”

จิตติมา ภาณุเตชะ : ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) นิยาม HTA ว่า

“HTA เหมือนระบบนำทาง GPS ที่ช่วยนำทางเราไปสู่ทางออกของปัญหา วิทยาการใหม่ ๆ ด้านสุขภาพเกิดขึ้นมากมาย เหมือนแผนที่ที่กว้างและมีรายละเอียดมากขึ้น HTA ที่เหมือนกับ GPS นี้จะเป็นตัวบอกเราว่า “เส้นทางไหนสั้นและดีที่สุด” ในการแก้ปัญหา”

แล้วคุณล่ะ เปรียบการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HTA) ว่าคืออะไร?

31 มีนาคม 2558

Next post > ก๊อก ๆ ๆ มาตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากถึงบ้านค่ะ

< Previous post คุยกับนักวิจัย: ทำยังไงให้งานเราได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ