logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
คุยกับนักวิจัย: ทำยังไงให้งานเราได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ

วันนี้ ทีมสื่อสารได้นั่งคุยกับ พี่เอ้ หรือ ภญ.จันทนา พัฒนเภสัช นักวิจัยหลักในโครงการพัฒนาเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับงานหลายประเภท เช่น งานวิจัยทางคลินิก การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ การติดตามคุณภาพชีวิตประชากร

เครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตที่ว่านี้มีชื่อว่า EQ-5D ซึ่งปัจจุบันมี 2 เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกคือ EQ-5D-3L ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ปี 2552 เวอร์ชั่นล่าสุดคือ EQ-5D-5L ที่เพิ่งแปลเป็นภาษาไทยแล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2556 จึงมีคำถามว่าเครื่องมือเวอร์ชั่นเก่า (EQ-5D-3L) และเวอร์ชั่นใหม่ (EQ-5D-5L) จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในการใช้วัดคุณภาพชีวิต นักวิจัย HITAP นำทีมโดยพี่เอ้จึงทำการเปรียบเทียบโดยทำการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อผลการศึกษาเสร็จสิ้น จึงส่งบทความไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการวัดมาตรฐานของงานวิจัยที่ HITAP ทำ เราจึงนำประสบการณ์ของการทำวิจัยและการส่งผลวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมาเล่าให้ฟังค่ะ

ทีมสื่อสาร: งานพี่เอ้ ช่วยอธิบายหน่อยว่างานวิจัย EQ 3-4-5 L นี่มันเรื่องอะไรคะ
พี่เอ้: EQ5D คือเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตที่ไม่จำเพาะเจาะจงกับโรคใดโรคหนึ่ง นิยมใช้ในงานวิจัยทางคลินิก การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ และการติดตามคุณภาพชีวิตประชากร โดยคำว่า EQ ย่อมาจาก EuroQoL group เป็นชื่อของกลุ่มนักวิจัยหลากหลายสาขาในแถบยุโรปมารวมตัวกันเพื่อช่วยกันสร้างและพัฒนาเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตแบบที่สั้นๆ ง่ายๆ ผู้ป่วยตอบได้ด้วยตัวเอง ส่วนคำว่า 5D หมายถึง 5 dimensions ซึ่งหมายถึงเครื่องมือนี้มีคำถามด้านสุขภาพแค่ 5 ข้อหรือ 5 มิตินั่นเองส่วนความแตกต่างระหว่าง EQ-5D-3L กับ EQ-5D-5L นั้น ความต่างกันอยู่ที่จำนวนคำตอบที่มีให้เลือก ถ้าเป็น 3L ก็มีระดับปัญหาด้านสุขภาพให้เลือก 3 ระดับ ส่วน 5L มีระดับปัญหาด้านสุขภาพให้เลือก 5 ระดับ ซึ่งจะละเอียดกว่า

ทีมสื่อสาร: เล่าประสบการณ์การส่งบทความวิจัยประเภทนี้ไปตีพิมพ์หน่อยค่ะ
พี่เอ้: ตอนแรกส่งไปที่ Value in Health เพราะเป็นวารสารวิชาการที่ผู้นิพนธ์ไม่ต้องเสียเงินค่าตีพิมพ์ผลงาน มีคนอ้างอิงสูง…แต่เมื่อส่งไป งานเราถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า เนื้อหาบทความวิจัยประเภทนี้ (การเปรียบเทียบเครื่องมือ 2 แบบ) มีคนทำไปบ้างแล้ว ผลการศึกษาที่ออกมาก็คล้ายๆ กันคือเครื่องมือเวอร์ชั่นใหม่มีคุณสมบัติเหนือกว่าเวอร์ชั่นเก่าในบางด้าน ถึงจะถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ผลงาน แต่ยังไง เราก็ยังได้ประโยชน์นะ เพราะทางวารสารเค้าก็ส่งความเห็น และข้อเสนอแนะมาให้ด้วย ซึ่งเราก็ได้ความรู้และนำไปปรับปรุงงานเราได้

ทีมสื่อสาร: แล้วเราทำยังไงต่อ
พี่เอ้: ก็คุยกันในทีม ซึ่งมี อาจารย์มน (ผศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์) เป็นที่ปรึกษาทีมวิจัย อาจารย์มนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาคุณภาพชีวิต เสนอให้เปลี่ยนไปส่งที่ Health and quality of life outcomes ซึ่งเป็นวารสารวิชาการเฉพาะเรื่องการวัดคุณภาพชีวิต ท้ายที่สุดบทความเราก็ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ โดยเขาให้เหตุผลว่า แม้การศึกษาประเภทนี้มีอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไงเขายังต้องการการศึกษาประเภทนี้จากหลากหลายประเทศ และจากกลุ่มผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เพราะผลการศึกษาอาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ หรือแตกต่างกันในผู้ป่วยคนละโรค ซึ่งงานวิจัยของเราเป็นการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ฉีดอินซูลินในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังไม่เคยมีใครศึกษาในผู้ป่วยลักษณะนี้มาก่อน ดังนั้น การศึกษางานวิจัยแต่ละชิ้นจึงเปรียบเสมือนก้อนอิฐที่ช่วยต่อเติมภาพใหญ่ ในโลกวิชาการ

ทีมสื่อสาร: สรุปให้ฟังหน่อยว่า การที่จะเขียนบทความวิจัยเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์ในต่างประเทศ มีปัจจัยสำคัญอะไรบ้าง เพี่อนักวิจัยรุ่นใหม่อยากตีพิมพ์งานของตัวเองในระดับนานาชาติบ้าง
พี่เอ้: อันดับแรกเลย ตั้งแต่การออกแบบงานวิจัย ควรวางแผนให้รอบคอบ ก่อนลงมือทำวิจัยควรให้เวลากับการทบทวนวรรณกรรม เพื่อหาช่องว่างขององค์ความรู้ซึ่งงานวิจัยของเราจะไปช่วยเติมเต็มได้ การทบทวนวรรณกรรมมีประโยชน์มาก ทำให้เรารู้ว่าคนอื่นเค้าทำวิจัยเรื่องอะไรไปแล้ว หรือมีคนเคยทำแบบนี้แล้วดี ทำแบบนี้แล้วไม่ดี เราก็ได้เรียนรู้จากงานคนอื่น และนำมาปรับใช้กับงานวิจัยของเราได้ อีกอย่างคือเราควรมีคนช่วย เพราะงานวิจัยไม่สามารถทำคนเดียวได้ ควรทำกันเป็นทีม เพราะเราไม่ได้เก่งไปหมดทุกเรื่อง อย่างงานนี้โชคดีมากที่มีอาจารย์มนเป็นที่ปรึกษา เพราะอาจารย์เก่งทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตและการเขียนบทความภาษาอังกฤษ อาจารย์จึงช่วยให้คำแนะนำได้ทั้งด้านวิชาการ และด้านภาษาและสาม เราควรเลือกวารสารให้เหมาะสมกับงานวิจัยของเรา การที่ถูกปฏิเสธ ไม่ใช่หมายความว่างานเราไม่ดี แต่ลักษณะงานวิจัยเราอาจไม่สอดคล้องกับสิ่งที่วารสารนั้นๆ ต้องการ

สุดท้ายนี้ พี่เชื่อว่าผลงานวิจัยในประเทศไทยมีความน่าสนใจและมีศักยภาพที่จะส่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ และการส่งผลงานตีพิมพ์ในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลังนักวิจัยไทยค่ะ

30 มีนาคม 2558

Next post > มองต่างมุม...ต่างมุมมอง...HTA คืออะไร

< Previous post Forbes จัดลำดับประเทศอ้วน...ไทยอันดับไหน และโรคอ้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างไร

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ